บันทึกชีวประวัติของ ลีกวนยิว เกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพของสิงคโปร์


ผมได้ไปประชุมแพทยศาสตร์ศึกษา เมื่อปี 2008 ที่สิงคโปร์ เมื่อมีเวลาว่างตอนเย็น ได้ไปร้านหนังสือ Borders ซึ่งเป็นร้านหนังสือขนาดใหญ่ ถามหาหนังสือเกี่ยวกับ ระบบการศึกษาและระบบบริการสุขภาพของสิงคโปร์ ได้หนังสือเรื่องระบบการศึกษามา 2-3 เล่ม ส่วนเรื่องระบบบริการสุขภาพไม่มีหนังสือ
 

ผู้ขายแนะนำหนังสือ อัตชีวประวัติของอดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยิว 2 เล่ม ปกแข็งใส่กล่องอย่างสวยงาม

หนังสือเล่มแรกThe Singapore Story เป็นหนังสือหนา 680 หน้า พิมพ์เมื่อปี 1998 เล่าเรื่องตั้งแต่ลีกวนยิวเกิด เรียนหนังสือที่ Raffles ได้ทุนไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร กลับมาทำงาน เล่นการเมือง จนได้เป็นหัวหน้าพรรค People Action Party นำสิงคโปร์ เข้ารวมกับมลายา ซาบาห์ ซาราวัค เป็นประเทศมาเลเซีย เมื่อเริ่มแรก มีปัญหาจลาจลระหว่างคนจีนและคนมาเลย์ จนต้องแยกตัวออกมาตั้งประเทศสิงคโปร์ เมื่อ 9 สิงหาคม 1965

หนังสือเล่มที่สอง From Third World to First ,The Singapore Story 1965-2000 เป็นหนังสือหนา 778 หน้า ลีกวนยิวเขียนขึ้นเมื่อปี 2000 ฉบับที่ผมซื้อเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 พิมพ์ในปี 2008 หนังสือแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาคแรกเป็นเรื่องการจัดการบริหารภายในของสิงคโปร์ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการวางแผนนำประเทศไปสู่อนาคต เป็นส่วนที่นักการเมือง ผู้บริหารของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ควรได้อ่าน ภาคที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การประกาศตัวของสิงคโปร์ต่อนานาชาติ ภาคที่สาม เป็นเรื่องตอนก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งหน้าที่ต่อให้โก๊ะจ๊กตง และเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัว และ ครอบครัว

--------------------------------------------------------------------------

ระยะนี้ (ปลายปี 2558-ต้นปี 2559) ระบบประกันสุขภาพ ของประเทศไทย เริ่มเปิดประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย เพื่อหาเงินมาเติมในระบบบริการสุขภาพ ที่มีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงนำหนังสือ ความทรงจำของลีกวนยิว เล่มที่สอง บทที่ 7 ซึ่งลีกวนยิวเขียนไว้ โดยให้ชื่อเรื่องบทนี้ว่า A Fair , Not Welfare, Society หน้า 116-130 กล่าวถึงเรื่องระบบสวัสดิการสังคมในสิงคโปร์ ซึ่งเกี่ยวข้อง 3 เรื่อง คือ เรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน ระบบบำนาญ และระบบบริการสุขภาพ ผมแปลย่อเป็นไทย ตัดตอนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับ ระบบบริการสุขภาพ

ลีกวนยิว เริ่มต้นเกริ่นนำว่า

‘ สังคมนิยม เป็นอุดมการณ์ที่ดี แต่แรงจูงใจส่วนบุคคลก็ เป็นแรงผลักดันในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ เนื่องจากความสามารถของประชาชนไม่เท่ากัน หากใช้ระบบตลาด ก็จะมีผู้ชนะจำนวนน้อย และผู้แพ้จำนวนมาก

สังคมที่ผู้ชนะได้ทุกอย่าง และเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศ เหมือนฮ่องกง ในปี 1960 นั้น คงใช้ไม่ได้กับสิงคโปร์ การแข่งขันในระบบตลาดเสรีสุดขั้ว ก็จะมีปัญหาการกระจายรายได้ รัฐบาลต้องช่วยเรื่องพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคน นั่นคือ การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะต่อยอดให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ หากใช้การขึ้นภาษีเป็นหลัก ผู้ที่มีความสามารถสูงก็จะถูกลดแรงจูงใจ เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะกลายเป็นภาษีให้คนอื่นไปเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงต้องพยายามหาจุดสมดุล ‘

ลีกวนยิวเล่าต่อถึงการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และมาเล่าถึงเรื่องระบบบริการสุขภาพ ในหน้า 122

‘ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพรรคเลเบอร์ก่อตั้ง National Health Service เมื่อปี1947 เพื่อดูแล การให้บริการสุขภาพในประเทศอังกฤษ เป็นช่วงที่ผมเรียนกฎหมายอยู่ที่เคมบริดจ์

รัฐบาลอังกฤษในเวลานั้น มีความเชื่อเรื่องความเท่าเทียมกัน การให้บริการสุขภาพที่ดีเลิศ เป็นเรื่องอุดมคติ และทำได้ยาก ในที่สุด ก็จะไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ ผมคิดว่าระบบ National Health Service ของสหราชอาณาจักรล้มเหลว แต่ระบบประกันสุขภาพแบบอเมริกันก็มีราคาแพง ต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง เพราะมีการตรวจรักษาที่เกินความจำเป็น สิงคโปร์จะต้องแสวงหาแนวทางใหม่

การให้บริการสุขภาพฟรี ขัดแย้งกับพฤติกรรมบริโภคของมนุษย์ ในสิงคโปร์ แรกเริ่มที่ลองให้บริการฟรีที่รพ.รัฐ และสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วย เมื่อแพทย์สั่งยาปฏิชีวนะให้ ผู้ป่วยกินเพียง1-2 วัน ถ้าไม่ค่อยยังชั่ว ก็จะทิ้งยาไป แล้วไปหาแพทย์ที่คลินิกเอกชน ยอมจ่ายเงินค่ายาปฏิชีวนะตัวใหม่ ผมจึงกำหนดนโยบายให้จ่าย 50 เซนต์ทุกครั้งที่ไปรับยาที่ห้องจ่ายยาของรัฐ และเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่ม ก็ปรับอัตราการจ่ายค่าธรรมเนียมนี้เพิ่มขึ้น

งบประมาณด้านสุขภาพเป็นปัญหาของรัฐบาล ต้องจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 1975 ผมได้ปรึกษากับคณะรัฐมนตรีบางท่าน ในที่สุดก็ได้ข้อกำหนดให้ตั้งกองทุนเงินออมเพื่อสุขภาพ เพื่อร่วมจ่ายเมื่อเวลาเจ็บป่วย โก๊ะเค็งสวี รองนายกรัฐมนตรี ได้คำนวณตัวเลข ให้มีการร่วมจ่าย 2% ของจำนวนเงินที่รพ.เรียกเก็บ การร่วมจ่ายทุกครั้งนี้ ลดการใช้บริการสุขภาพที่มากเกินไป ได้ระดับหนึ่ง

โต๊ะชินชัย รัฐมนตรีสาธารณสุข ซึ่งเพิ่งกลับจากประเทศจีน เห็นบริการที่รพ.ในปักกิ่ง มีคุณภาพ ให้การรักษาโดยเท่าเทียมกัน และให้ฟรี ต้องการระงับข้อเสนอร่วมจ่ายของ โก๊ะเค็งสวี แต่ผมคิดว่าสิงคโปร์คงทำอย่างที่เห็นในปักกิ่งไม่ได้

ผมเชิญหมอแอนดรูว์ ชิวกวนควน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาหารือ ให้ลองประมาณการงบประมาณ ปลัดกระทรวงรายงานว่า ควรร่วมจ่ายประมาณ 6-8% ในปี 1977 สิงคโปร์ออกกฎหมายกำหนดให้ มีการออมเงิน 1% ของรายได้ เก็บทุกเดือน เพื่อใช้ร่วมจ่ายเมื่อเวลาตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย อัตรานี้ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนเป็น 6 %

ปี1980 โก๊ะจ๊กตง เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ผมได้เอารายงานวิจัย และเอกสารเกี่ยวกับต้นทุนค่าบริการสุขภาพ ให้ไปศึกษา ได้มีการจัดระบบการตรวจสอบต้นทุน และความสิ้นเปลืองกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ไม่บานปลาย

ปี1984 รัฐบาลได้แยกเงินออมเพื่อการรักษาพยาบาล ออกมาเป็นหมวดเฉพาะ เรียกว่าเมดิเซฟ ทุกคนต้องเก็บเงินออม ในอัตรา 6 %ของรายได้ทุกเดือน ในปี 1986 กำหนดเพดานสูงสุดที่เก็บรายเดือนไม่เกิน 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ มีการปรับเพดานสูงสุดของเงินออมรายเดือน อย่างต่อเนื่อง ส่วนเกินเพดานสูงสุด ถูกส่งเข้ากองทุนออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งสามารถขอไปใช้ในเรื่องที่อยู่อาศัย หรือการลงทุนอื่นๆ บัญชีเงินออมเพื่อการรักษาพยาบาลหรือเมดิเซฟนี้ ใช้สำหรับร่วมจ่ายสำหรับคนในครอบครัวได้ด้วย

การร่วมจ่าย ลดการบริการที่สิ้นเปลืองไปได้มาก ผู้ป่วยใน ของรพ.รัฐ ร่วมจ่ายได้ตามการตัดสินใจเลือก ชนิดบริการที่ตนต้องการ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนคนที่เลือกอยู่หอผู้ป่วยราคาถูก ลดลง ไปเลือกหอผู้ป่วยที่ราคาสูงหน่อย แต่อยู่สบาย

รัฐบาลยอมให้ใช้เมดิเซฟ จ่ายค่ารักษาในรพ.เอกชน โดนรพ.ต้องแจ้งราคา ให้รัฐพิจารณา เป็นการกระตุ้นให้รพ.รัฐปรับปรุงคุณภาพ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้เมดิเซฟในการใช้บริการที่คลินิกเอกชน การรักษาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ที่คลินิกเอกชน ต้องเอาเงินของตนจ่ายเอง

ปี1990 มีโครงการเมดิชีลด์ เป็นการประกันเพิ่มสำหรับการเจ็บป่วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นการประกันสุขภาพโดยสมัครใจ ซึ่งต้องจ่ายเบี้ยประกันต่างหาก แยกจากเมดิเซฟ

ปี1993 มีโครงการเมดิฟันด์ เพื่อคุ้มครอง การเจ็บป่วยค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งไม่มีเงินจากเมดิเซฟ หรือเมดิชีลด์ ของตนหรือของญาติมาร่วมจ่าย ผู้ป่วยอาจทำเรื่องขอนุมัติค่ารักษา ซึ่งจะพิจารณาจ่ายจากเมดิฟันด์ การร่วมจ่าย ทำให้พลเมืองสิงคโปร์ทุกคน ได้รับการรักษาพยาบาลที่จำเป็น วิธีนี้ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ การรอการรักษาผ่าตัด ไม่ใช้เวลานาน ’


 

และมาจบบทนี้ ที่หน้า 130

‘ เศรษฐกิจเริ่มมั่นคง ก้าวหน้า การลงทุนไม่ติดขัด เนื่องจากเราตัดสินใจเรื่องที่ยาก และลงมือทำแต่ต้นมือ สามารถควบคุมค่าใช้จ่าย สะสมเงินออม ใช้งบประมาณในสวัสดิการสังคมต่ำ มีเงินเหลือไปใช้ในการลงทุนอื่น ใช้เวลาถึง30 ปี

ใน20 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจะไม่ก้าวเร็วอย่างนี้ เนื่องจากประชากรสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น เงินออมก็จะลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจะสูงขึ้นมาก จำนวนผู้เสียภาษีก็จะมีสัดส่วนลดลง ผู้สูงอายุก็จะได้ใช้ประโยชน์จากเงินออม เมดิเซฟ สิ่งที่เราวางแผนในขั้นต่อไป คือดึงดูด ผู้ที่มีการศึกษา และมีทักษะเคลื่อนย้ายมาอยู่ในสิงคโปร์ เพื่อสร้างสังคมที่มีขีดความสามารถ และสร้างรายได้ รัฐจะต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม ในช่วงเวลานั้นมากขึ้น ‘


 

หนังสือชุดนี้มีขายในเมืองไทย ผู้สนใจอาจหาซื้อได้จาก ร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่ผมเห็นก็มีที่ร้าน Kinokuniya ซึ่งมีสาขาอยู่หลายแห่ง ที่สยามพารากอน ที่เซ็นทรัลเวิร์ด ที่เดอะเอ็มควอเทียร์ เป็นหนังสือที่ควรได้อ่านครับ

 

***ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

เล่าเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ ในสหรัฐอเมริกา (1)

https://www.gotoknow.org/posts/600097

 

เล่าเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ ในสหรัฐอเมริกา (2)

https://www.gotoknow.org/posts/600099

 

บันทึกชีวประวัติของ ลีกวนยิว เกี่ยวกับระบบบริการสุขภาพของสิงคโปร์

https://www.gotoknow.org/posts/599194

 

บทบาทรมต.คลัง ในการทำให้ประเทศมีหลักประกันสุขภาพ ได้สำเร็จ และมีความยั่งยืน

https://www.gotoknow.org/posts/643066

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 599194เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2016 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2021 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท