ปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่



หลังจาก เวทีพูนพลังครูครั้งที่ ๑ : ครูสอนลักษณะนิสัยที่ดี เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ วันที่ ๑๙ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ มูลนิธิสยามกัมมาจลและภาคีอีกชุดหนึ่งก็จัด ตลาดนัดความรู้ อปท. : เชื่อมร้อย ถักทอ พลังท้องถิ่น เสริมสร้างพลังเยาวชน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเขาได้ลงส่วนหนึ่งของคำกล่าวเปิดปากเปล่าของผม ที่นี่

ผมมองเวทีทั้งสองนี้ ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการเรียนรู้ในท้องถิ่น หรือในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองของเรา ที่ต้องการปฏิรูปไปเป็นแบบใหม่ คือเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบมีคนถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปให้แก่ผู้เรียน เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ (Action) ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection)

การเรียนรู้แบบเดิม เป็น Teaching Mode หรือ Training Mode ควรใช้สัก 20% อีก 80% ควรใช้การเรียนรู้แนวใหม่ ซึ่งเป็น Learning Mode ที่เป็น Interactive learning through action คือเรียนเป็นทีมหรือเป็นกลุ่ม มีครูหรือพี่เลี้ยงเป็น “คุณอำนวย” หรือโค้ช ไม่ใช่ครูสอน

ตลาดนัดความรู้ อปท. เน้นที่การพัฒนาเยาวชน เปลี่ยนเยาวชนจากผู้รอรับและผู้บริโภค มาเป็น ผู้ลงมือทำ หรือผู้ผลิต ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มีประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นของตน และเรียนรู้บูรณาการจากการลงมือทำนั้น

เยาวชนในพื้นที่ เปลี่ยนจากตัวปัญหา มาเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นพลังชุมชน และที่สำคัญยิ่ง อปท. สร้าง “นักถักทอชุมชน” ขึ้นเป็นพี้เลี้ยงแก่เยาวชน และเป็นนักเชื่อมโยงพลังและทรัพยากรในชุมชน เอามาทำคุณประโยชน์สร้างสรรค์สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่

ในตลาดนัด เราได้เห็นว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นในคนทุกกลุ่มของพื้นที่ ที่ในเยาวชน นักถักทอชุมชน (ซึ่งเป็นพนักงานของ อปท.) พ่อแม่ ครู และผู้บริหารของ อปท. เอง โดยที่เป็นการเรียนรู้แนวใหม่ คือเรียนจากการปฏิบัติร่วมกัน ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน

ในงาน ท่าน ผอ. ชอบ พรหมบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองลีงวิทยา ตำบลเมืองลีง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ มาบอกผมว่า ท่านอยากทำเครือข่ายโรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้ โดยทางบริษัทซีเอ็ดไปชักชวน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้โรงเรียนเข้าเครือข่ายครบ ๔๐ โรงเรียน ท่านกำลังรวบรวมอยู่

ผมดีใจจนเนื้อเต้น ที่ได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็น Change Agent ปฏิรูปการเรียนรู้ หากได้ถึง ๔๐ โรงเรียนย่อมมีพลังมาก และเนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่พัฒนานักถักทอชุมชนเพื่อพัฒนาเยาวชน อปท. จำนวนหนึ่งตื่นตัวเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ตามที่ระบุในหนังสือ เชื่อมร้อยและถักทอ 2 และ เชื่อมร้อยและถักทอ โอกาส ถักทอ พลังปฏิรูปของโรงเรียนกับพลังปฏิรูปของ อปท. จึงมาบรรจบกัน เป็นพลังปฏิรูปการียนรู้ในพื้นที่

การปฏิรูปการเรียนรู้ ก็จะเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง คือไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน แต่อยู่ในทุกลมหายใจของชีวิต

เราจะหาทางเชื่อมโยงถักทอการปฏิรูปการเรียนรู้ในพื้นที่ ให้เต็มทั้งแผ่นดินไทย โดยที่เป็นการริเริ่มดำเนินการกันเองในพื้นที่



วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 598454เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2015 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2015 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท