714. บุคลิกพลิกประวัติศาสตร์ (Personal Mastery)


เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอนที่ 44)

เคยเห็นคนทำงานหนัก เหนื่อยยาก ยิ่งทำงาน ยิ่งทุกข์ คนรอบตัวก็ซ้ำเติม แถมชีวิตไม่รุ่งไหมครับ ในทางกลับกันคุณเคยเห็นใครที่ทำงานหนัก แต่มีความสุข บ้างทุกข์บ้าง (แต่ดูสุขมากกว่า) แถมมีคนเก่งที่สุดในแผ่นดินพยายามยื่นมือเข้ามาช่วย พลาดคนก็ไม่ค่อยซ้ำเติม ที่สุดก็สบาย และก็สำเร็จขึ้นเรื่อยๆไหมครับ

คนประเภทหลัง เราเห็นไม่ค่อยมาก จริงๆแล้วน้อยมาก แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ผมเห็นคนหนึ่งคือ “เล่าปี่” ครับ

ช่วงก่อนขึ้นเป็นฮ่องเต้เล่าปี่ เป็นคนประเภทที่สอง

แต่หลังเป็นฮ่องเต้ ตอนที่ไปรบ เล่าปี่กลับกลายเป็นคนประเภทแรก ทั้งที่มีกำลังมาก ที่ปรึกษาก็เก่ง พร้อมทุกอย่าง แต่กลับแพ้อย่างราบคาบ แล้วก็เหนื่อยตายตอนจบ อาณาจักรที่ก่อร่างสร้างตัวมา เสียศูนย์อย่างไม่น่าให้อภัย

จากฮ่องเต้จากสวรรค์ แต่พริบตาเดียว เล่าปี่กลายเป็นฮ่องเต้นรก มันเป็นไปได้อย่างไร

เรื่องที่จะอธิบายปรากฏการ์นี้ได้น่าจะเป็นเรื่อง Personal Mastery หรือความเป็นเลิศส่วนบุคคล สรุปได้ว่าช่วงแรกเล่าปี่มี Personal Mastery แต่ตอนหลังไม่มี

Personal Mastery หรือความเป็นเลิศส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วย การมีจุดประสงค์ (Purpose) มีวิสัยทัศน์ (Vision) และแรงตึงเครียดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Tension)

การมีจุดประสงค์ (Purpose) คือการรู้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร ได้ทำอะไรที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความหมาย ตรงนี้ชัดมากๆ ช่วงต้น เล่าปี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อจะเป็นฮ่องเต้ ผู้กอบกู้ราชวงค์ฮั่น ไม่ว่าชีวิตจะตกต่ำแค่ไหน เล่าปี่จะแสดงออกถึงการเป็นผู้ปกครองที่มีทศพิศราชธรรมเสมอ ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนจะอยู่ในเส้นเลือดเล่าปี่เลย เล่าปี่มีความสุขที่ได้ปกครองเมืองให้มีสันติสุข ดูเหมือนว่าเล่าปี่รู้สึกว่าชีวิตตนเองมีความหมายมากๆ ที่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้ Purpose ทำให้เกิดการ “ค้นพบ” สิ่งที่จะสนับสนุนจุดประสงค์ของคุณ การที่เล่าปี่มี Purpose คือการเป็นผู้ปกครอง สร้างสันติสุขให้อาณาประชาราษฎรษ์ ทำให้เล่าปี่มองหาแนวร่วมโดยอัตโนมัติ ที่สุดก็มาเจอกวนอู เตียวหุย ต่อมาเป็นสุมาเต็กโซ ชีซี ตามมาด้วยขงเบ้ง ถ้าเล่าปี่ไม่มี Purpose ก็ไม่ทางที่จะเกิดอะไรตามมาเลย ถ้าเล่าปี่เกิดรู้สึกว่า การทอเสื่อทำให้ชีวิตมีความหมายที่สุด เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ Purpose แบบนี้ คงนำพาเล่าปี่มาเจอคนอีกกลุ่ม เช่น ช่างฝีมือทอเสื่อที่เก่งที่สุดในปฐพี อาหมวยลูกเถ้าแก่ที่จะมารักกัน แล้วได้พ่อตาที่มีหัวการค้าช่วยพัฒนาการทอเสื่อของเล่าปี่ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่งขายมันทั้งสามก๊กเลย เส้นทางของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้งคงไม่มีวันมาบรรจบกัน

ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล (Vision) ซึ่งคือ “สถานะในอนาคต” ที่คุณปรารถนา สถานะที่เล่าปี่พูดอย่างชัดเจนตั้งแต่วันแรกคือ “การกอบกู้ราชวงค์ฮั่น” ว่ากันตามทฤษฎี “วิสัยทัศน์เป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการจินตนาการ การประดิษฐ์และการออกแบบ” วันที่เล่าปี่ค้นพบพี่น้องสองคนความฝันของเล่าปี่กระตุ้น ให้เล่าปี่ได้แสดงวิสัยทัศน์ ที่ก็จะเห็นว่าดึงเอา Purpose ของเล่าปี่ออกมาชัดเจน เล่าปี่บอกความรู้สึกไปตรงๆว่าแผ่นดินลุกเป็นไฟ อยากกอบกู้แต่ทำไม่ได้ ติดไปทุกอย่าง นี่เอง ก็กระตุ้นต่อม Purpose ของกวนอูกับเตียวหุยพอดี ทั้งสองเห็น Purpose และ Vision ที่ทรงพลังของเล่าปี่ เลยเกิดความรู้สึกว่าชีวิตของตนจะมีค่า มีความหมายถ้าได้ช่วยเล่าปี่ จากนั้นเมื่อทุกคนเห็นวิสัยทัศน์เล่าปี่แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า Vision เริ่มทำงานของตัวมันเอง คือมันกลายเป็นพลังที่ผลักให้คนเริ่มจินตนาการ ประดิษย์ คิดค้นอะไรบางอย่าง ซึ่งก็เริ่มต้นด้วยการคิดต่างมากๆ คือการากันสาบานเป็นพี่น้องก่อน ตามมาด้วยเตียวหุยเสนอว่าจะขายทรัพย์สินมาช่วยก๊กตั้งตัว ชัดไหมครับ มี Vision ที่สอดคล้องกับ Purpsoe เมื่อไหร่ หัวคิดตามมาทันที และจะเห็นชัดมากขึ้นต้องมองจาก Creative Tension องค์ประกอบตัวที่สามของ Personal Mastery

Creative Tension (แรงตึงเครียดแบบสร้างสรรค์) เกิดขึ้นเมื่อคุณมีวิสัยทัศน์ (ที่สอดคล้องกับจุดประสงค์) แล้วคุณหันมาประเมินสถานการณ์ปัจจุบันอย่างรอบด้าน คุณจะเห็นเองว่าในการจะทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง คุณจะเจอ Gap หรือช่องว่างเอง คุณจะรู้เองว่าต้องทำอะไรบ้าง พัฒนาโครงสร้างอะไรบ้าง หลังจากที่ทั้งสามสาบานเป็นพี่น้องก็มาประเมินสถานการณ์กัน ทั้งหมดเห็น Gap แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็พากันไปอาสารบกับโจรโพกผ้าเหลืองก่อน ชนะไปสามสิบรอบ ก็เริ่มมีชื่อ ได้ไปปกครองอำเภอเล็กๆ ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีจุดประสงค์ คือการได้ทำอะไรที่มีความหมาย สำหรับเล่าปี่คือดูแลอาณาประชาราษฎรษ์ให้มีความสุข ซึ่งก็สะท้อนออกมาชัดเจนว่าชาวบ้านรักเล่าปี่มากๆ

Creative Tension นี่เองทำให้เล่าปี่พยายามพัฒนาโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นกำลังคน ที่ปรึกษา ที่สุดเเมื่อได้ขงเบ้งมา ขงเบ้งช่วยเล่าปี่ประเมินสถานการณ์ และเสนอแนะให้ไปตั้งจ๊กก๊กที่เสฉวน ที่มีโครงสร้างสุดยอดมากๆ เพราะมีกำแพงธรรมชาติ มีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ เล่าปี่ก็ดำเนินการตามนั้น Vision ก็เป็นจริงขึ้นมาระดับหนึ่ง เมื่อไปเสฉวนก็ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายด้วยการดูแลอาณาประชาราษฎรษ์อย่างดี สอดคล้องกับ Purpose เป๊ะ

คุณจะเห็นว่าเมื่อ Purpose Vision และ Creative Tension ไปด้วยกัน คนจะทำงาน ต่อสู้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย มีความหวังในชีวิต กล้าคิด กล้าลุย มีความคิดสร้างสรรค์ แถมสามารถดึงดูดมือดีมาช่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โครงสร้างองค์กรจะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ จน Vision สำเร็จ

แต่ตอนหลังแพ้สงครามล้างแค้น เล่าปี่ยกทัพไปรบกับซุนกวน เพื่อล้างแค้นให้กวนอู เตียวหุย โดยไม่ฟังเสียงใคร นี่ชัดมากครับดูเหมือน Personal Mastery ของเล่าปี่สูญหายไป Purpose ก็ไม่ใช่ ที่เล่าปี่ทำมาทั้งชีวิต คือเล่าปี่เกิดมา และมีความสุขมากๆ ชีวิตมีความหมายมากๆ ที่ได้ดูแลราษฎรษ์ ไม่ใช่พี่น้องสองสามคน ซึ่งขัดกับ Vision ของเล่าปี่มี่ต้องการกอบกู้ราชวงค์ สร้างอาณาจักรแห่งธรรมะ ไม่ใช่อาณาจักรนักรบ ไม่พอแรงอาฆาตทำให้เล่าปี่ขาด Creative Tension เพราะไม่มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ไม่ฟังใคร ทุกอย่างรวนหมด ที่สุดนอกจากทุกข์แล้ว แม้ลงทุนด้านทรัพยากรมหาศาล แต่ก็สูญเสียทุกอย่าง

สรุปบทเรียนจากเล่าปี่

เราสามารถเติบโตจากศูนย์ได้ ถ้าเราหาได้พบว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วทำให้ชีวิตมีความหมาย รู้สึกมีคุณค่า (Vision) ตัวนี้บอกได้เลยว่ามักเกี่ยวกับการให้มากกว่าการเอาครับ การที่เราค้นพบว่าอะไรเป็นความหมายของชีวิตของเราอย่างแท้จริงจะนำเราไป “ค้นพบ” คนและ แวดวง วิธีการบางอย่างที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตสอดคล้องกับ Purpose และเมื่อเราเห็นสถานะในอนาคต (Vision) สิ่งที่เราจะเป็นโดยมีพื้นฐานจากสิ่งที่เป็นความหมายของชีวิต เราจะะเกิดจินตนาการ คิดค้น ประดิษฐ์กลไกต่างขึ้นมา ไม่พอเมื่อเราสามารถประเมินสถานการณ์ปัจจุบันตามความเป็นจริง เราจะเห็นช่องว่าง ที่จะทำให้เราก้าวถึงฝัน เราจะรู้ว่าเราต้องพัฒนาโครงสร้างอะไรมารองรับขึ้นเอง นี่คือ Creative Tension

ผมมองว่า Personal Mastery เป็นอะไรที่เราต้องหมั่นทบทวน องค์กรต้องหมั่นการตรวจสอบครับ หลายองค์กรตั้งแต่ Goal เป็นตัวเลขครับ โดยไม่บ่มเพาะ Purpose Vision ของคนในองค์กร นี่น่ากลัวครับ ผมว่าถ้าขาดสองตัวเบื้องต้น การประเมินสถานการณ์คงยากที่จะทำให้เกิด Creative Tension แต่สร้าง Tension (ความตึงเครียด) มากกว่า เราจึงเห็นองค์กรจำนวนมาก ที่มีคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ดูเหมือนเราจะไม่ก้าวหน้า คนขาดความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มี เรายังคงซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ บริษัทใหญ่ๆของเรากลายเป็นของคนต่างชาติมากขึ้น ทั้งๆที่เรามีคนเก่ง มีทรัพยากร มีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว น่ากลัวมากครับ ผมว่าถ้าเราไม่หันกลับมาทบทวนเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าผู้บริหารระดับสูงของไทยกำลังกลายเป็นเล่าปี่ขาลง น่ากลัวจริงๆ

แล้วจะทำอย่างไร

  1. ตั้งคำถามค้นหาความภาคภูมิใจของคนในองค์กร เช่นในธนาคารแห่งหนึ่งที่ผมไปมาเจอผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า ท่านภาคภูมิใจมากๆ ที่ครั้งหนึ่ง มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้รับ order จากประเทศชิลี ก็จะมาขอกู้เงินผลิตสินค้าส่งออก “ลูกค้าคนนี้เป็นคนดีมากครับท่านอาจารย์ แต่ผมก็อดสงสัยคู่ค้าไม่ได้ เลยลองสืบดู ผมติดต่อเพื่อนที่ทำงานสถานฑูต ที่สุดก็ส่งคนไปดู ปรากฏว่าเป็นบริษัทต้มตุ๋นครับ ผมภูมิใจมากๆ เพราะได้ช่วยให้คนดีๆ ไม่ถูกหลอกล้มหายตายจากโดยไม่จำเป็น ผมรู้สึกมีความหมายมากๆ ที่ได้ทำงานในอาชีพนี้ครับ” เจอเลยครับ นี่คือ Purpose
  2. ผมเจอเรื่องทำนองเดียวกันจากนายธนาคารหลายคน จับประเด็นได้ว่า พวกเขาภาคภูมิใจที่ได้ช่วยลูกค้า ... ที่สุดธนาคารอาจออกแบบวิสัยทัศน์ว่า “จะเป็นคู่คิดของคนสร้างตัวที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากคนดีทั่วโลก” เป็นไหมครับนี่คือ Vision
  3. แล้วมาดูความเป็นจริงกัน ว่าตอนนี้เป็นอย่างไร เป้าหมายของผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไร สภาพในตลาดไปอย่างไร ดูว่าอะไรเป็น Gap ผมว่าด้วย Purpose และ Vision ที่ชัดคนในองค์กรจะช่วยพัฒนา Goal Mission ที่ดี KPI ที่สร้างสรรค์ โครงสร้างที่ดีให้คุณเอง โดยคุณจะเห็นคนทุ่มเททำงานให้คุณ เขาจะค้นพบคนดีๆ แวดวงดีๆ นำลูกค้าดีๆมาให้คุณ ยังไม่พอเขาจะผลิต ประดิษฐ์คิดค้นขั้นตอน โครงสร้างดีๆ ให้คุณ ไม่ใช่คุณมีแต่เป้าขายประกัน ที่สุดมีแต่คนเกลียดคุณ คนทำงานก็รู้สึกบั่นทอน ลูกค้าก็รู้สึกบั่นทอน คุณจะต้อง “ซื้อหา” ทุกอย่าง ต้นทุนทั้งนั้นครับ ที่สุดคุณจะไม่เหลืออะไรครับ เล่าปี่อธิบายด้วยชีวิต ด้วยเลือด ด้วยน้ำตา ด้วยอาณาจักรที่ล่มสลายให้คุณเห็นขัดๆ อยู่แล้ว อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนะครับ

Personal Mastery คือบุคลิกพลิกประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงครับ

Note: Personal Mastery เป็นหนึ่งในวินัยห้าประการ ของแนวคิด Learning Organisation ที่ถือเป็นศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กรที่ล้ำยุคมากๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงจากก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์เลยทีเดียว ส่วนแนวคิดการพัฒนา Personal Mastery ผมใช้เทคนิคการตั้งคำถามแบบ Appreciative Inquiry (AI) มาช่วยหา Personal Mastery ครับ ลองดูเรื่อง AI เพิ่มเติมได้ที่นี่



คุณล่ะ คิดอย่างไร

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 598041เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2015 12:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2015 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบันทึก ที่ครบเครื่อง ในหลายๆศาสตร์เลยนะครับ อาจารย์ ..

ชอบการโยงเรื่องของอาจารย์มากนะครับ

ขอบคุณมากครับ จะเขียนมาเรื่อยๆนะครับ

สนใจการพัฒนาองค์กรให้เป็น LO

อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า personal mastery เป็นส่วนหนึ่งของ LO

อาจารย์ช่วยเขียนเรื่อง LO ให้อ่านแบบง่ายๆด้วยนะคะ

ได้เลยครับพี่ จัดให้เร็วๆนี้ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท