วัฒนธรรมข้าว งานบุญเกี่ยวข้องกับข้าว


งานบุญ เกี่ยวข้องกับข้าว วัฒนธรรม

วัฒนธรรมข้าว งานบุญเกี่ยวข้องกับข้าว

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

ข้าวเหมือนหญ้าปากคอก ที่เราละเลย แต่ข้าวเป็นหญ้าที่มีคุณประโยชน์สูง ทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด และดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้จนถึงปัจจุบัน การหลงลืมละเลย และมองข้ามความสำคัญของข้าวในปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย นอกจากข้าวจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นพืชที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ของคนหลายเชื้อชาติ ข้าวยังมีความสำคัญในแง่ วัฒนธรรมที่ผูกพันในวิถีชีวิตโดยเฉพาะชาวอีสาน อยู่ดี มีแฮง คติสูงสุดของชีวิตจากข้าว ข้าวเป็นสายใยที่เชื่อมแม่กับลูก อาหารชนิดแรกที่ได้กิน ก็คือ ข้าว แม่จะหย่ำข้าว แล้วเอาไปหมกไฟ ผสมกล้วย อร่อยมาก นอกจากนี้แม่ยังสอนให้รู้จักคุณของข้าว ไม่ควรทำอะไรมักง่าย

คติสูงสุดชาวอีสาน คือ อยู่ดีมีแฮง หมายถึงสุขสุดทั้งกาย สุดทั้งใจ ซึ่งจะเกิดภาวะเช่นนี้ต้องขจัด อุปสรรค 3 อย่างคือ

  • ทุกข์บ่มีข้าวกิน – ท้องหิวอยู่บ่ได้ ต้องขจัดความทุกข์นี้ เพื่อให้เกิดความสุขในภาพรวม
  • ทุกข์บ่มีแผ่นดินอยู่ – เวลาชาวอีสานอพยพ/ย้ายที่อยู่ จะคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ ของแผ่นดินเพราะเป็นที่ปลูกข้าว
  • ทุกข์บ่มีคู่นอนนำ ใช่หมายถึงเพียงคู่สามี – ภรรยา แต่รวมถึงครอบครัว ชุมชน เพราะหมายถึงแรงงานผลิตข้าว เกิดเป็นวัฒนธรรมข้าวที่ทุกคนในชุมชนได้ร่วมลงแรง รวมถึงงานบุญที่เรียก “ฮิตสิบสอง” ด้วย ทั้ง 12 งานบุญในฮิตสิบสอง ถูกจัดขึ้น ร้อยเรียงไปกับการดำเนินชีวิตของชาวนาและการเติบโตของข้าว ฮิตสิบสอง (ผู้เขียนเคยเขียนลงใน gotoknow ไปแล้ว ) และ 6 งานบุญที่มีข้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ งานบุญคูณลาน – เดือนยี่ งานบุญข้าวจี่ – เดือนสาม งานบุญผะเหวต – เดือนสี่ งานบุญบั้งไฟ – เดือนหก งานบุญข้าวประดับดิน – เดือนเก้า งานบุญข้าวสาก – เดือนสิบ

บางชุมชนได้ข้าวเปลือกแล้ว ชาวนาจะนำข้าวบางส่วน นำไปรวมกันเป็นกองใหญ่เพื่อถวายวัด (ทำบุญ) เรียกว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ (กองใหญ่) บางชุมชนจะตกแต่งเป็นปราสาทข้าว เป็นการแสดงฝีมือเชิงช่าง ของชาวอีสาน

  • งานบุญคูณลาน หมายถึง ค้ำคูณเป็นสิริมงคล ก่อนที่ชาวบ้านจะตีข้าว นวดและสีข้าว จะมีพิธีขอขมาพระแม่โพสพ ตีเสร็จแล้วจะนำข้าวเปลือกบางส่วนไปกองรวมกันที่วัด (ไปรวมกันทำบุญกองข้าวเปลือก) เรียกว่า งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ (การทอดผ้าป่าด้วยข้าวเปลือก)พระจะขาย เพื่อนำเงินไปเป็นทุนซ่อมแซมวัด เรียกว่า ความจิตศรัทธา มากน้อยแล้วแต่จะบุญประทานข้าวเปลือก เช่นที่วัดป่าบ้านตาด ของหลวงตามหาบัว ส่วนที่กาฬสินธุ์ จะใช้รวงข้าวเพื่อนำไปทำปราสาทข้าว ปัจจุบันแทบไม่จัดพิธีนี้แล้ว เพราะลานสำหรับนวดข้าว หลังจากถางหญ้า จนเตียนแล้ว จะนำขี้ควายผสมน้ำแล้วเทราดบนลานรอดให้แห้งแล้วจึงนวด(ปัจจุบันใช้รถเกี่ยวข้าวแทน)
  • งานบุญข้าวจี่ ตามตำนานเรื่องนางปุณณทาสี หญิงยากจนที่ได้นำข้าวจี่ถวายพรพุทธเจ้า ขณะที่นางคิดว่าพระพุทธเจ้าจะทรงรับของคนยากจนต่ำต้อย เช่นนางหรือไม่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับ เกิดอนิจสงฆ์มากมาย ช่วงเดือนสามของชาวอีสานจะทำข้าวจี่ โดยนำข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อย ชุบด้วยไข่แล้วเอาไปจี่ไฟ ก่อนนำไปรวมกันเพื่อถวายพระที่หอแจก (ศาลาการเปรียญ)เมื่อพระนั้นฉันเสร็จแล้วจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา และข้าวจี่ที่เหลือ จะแบ่งปันกัน เพื่อความเป็นสิริมงคล
  • งานบุญผะเหวต เกิดจากความเชื่อในพระมาลัย ที่ว่าผู้ใดปรารถนาจะพบพระศรีอริยะเมตไต และเกิดในศาสนาของพระองค์แล้ว จะต้องได้ฟังเทศเรื่องพระเวสสันดรชาดก ให้จบภายในวันเดียว การจัดๆที่หอแจก(ศาลาการเปรียญ)สำหรับเทศน์ เป็นการจำลองภาพดีช่วงที่พระเวสสันดรไปบำเพ็ญบารมี โดยทำรูปสัตว์ป่าพันธ์ไม้ มาประดับตกแต่งรอบหอแจก(ศาลา)ในเดือนสี่ ชาวอีสานจะมีการนำข้าวมาเป็น สัญลักษณ์ขององค์ประกอบมีนัยสำคัญ การนำข้าวเหนียวมาปั้น เป็นก้อนเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์ จำนวนพันพระคาถา เรียกว่าข้าวพันก้อน ระหว่างการเทศน์จะมีการหว่านข้าวสารเป็นระยะ เพื่อจะสื่อถึงฝนแก้วสัตตรีณ์ หรือฝนโบกหรพรรษที่ตกลงมาตามเนื้อเรื่องบุญผะเหวต และข้าวจึงมีความสัมพันธ์ เชิงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนชาวนา ที่อาศัยน้ำฟ้าในเชิงกสิกรรม
  • งานบุญบั้งไฟ เกิดจากความเชื่อตามชาดกพื้นบ้าน เรื่องพระยาคันคาก ที่รบชนะพระยาแถน (เทพผู้ประทานฝน) และเกิดสัญญาต่อกันว่า เมื่อโลกมนุษย์ต้องการฝนให้จุดบั้งไฟเป็นสัญญาณบอกพระยาแถน ช่วงเดือนหกซึ่งเป็นฤดูไถหว่าน ชาวอีสานจึงจัดงานบุญบั้งไฟในช่วงฤดูทำนา เพื่อให้ได้เกิดน้ำฟ้ามาทำการเกษตร
  • งานบุญข้าวประดับดิน จัดขึ้นในขึ้นแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ตรงกับช่วงที่ข้าวออกรวง ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานพร้อมด้วยหมากพลู ห่อด้วยใบตอง เรียกว่า ห่อข้าวน้อย แล้วนำไปวางตามต้นไม้ พื้นดิน หรือฝังดิน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ รวมทั้งเป็นการบูชาแม่พระกรณี ที่ช่วยให้ข้าวกล้างอกงามเต็มท้องทุ่ง เป็นที่มาของการเรียก ข้าวประดับดิน ต่อมามีการเพิ่มพิธีกรรมทางศาสนา โดยการตักบาตร ถวายภัตตาหาร ฟ้งเทศน์และกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ล่วงลับ
  • งานบุญข้าวสาก จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรต ที่จะต้องกลับไปนรก โดยผู้จะถวายทานจะจัดสำรับข้าว เรียกว่าพาข้าว พร้อมปัจจัยไทยทาน เขียนชื่อตัวเองไว้ที่พาข้าว และเรียกชื่อสลาก แล้วใส่รวมไว้ในบาตร แล้วกล่าวคำถวาย แล้วพระสงฆ์จะจับสลากได้ชื่อใคร เจ้าของสลากนั้นจะนำข้าวพร้อมปัจจัยต่างๆไปถวายพระรูปนั้น เรียกว่าบุญข้าวสลากภัตร ชาวอีสานออกเสียงเป็นบุญข้าวสาก

บุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากของดั่งเดิม รับแนวคิดศาสนา ขบวนแห่บั้งไฟจะมีการแห่ปลัดขิกและจ่ายกาพย์เซิ้งด้วยบทกลอนที่พูดเรื่องเพศ เพราะเชื่อว่าเพศเป็นสัญลักษณ์ แห่งความอุดมสมบูรณ์

งานบุญนี้ ชาวบ้านจะนำของคาวหวานมาจากบ้านโดยพระสงฆ์จะจับสลากเพื่อแจกภัตตาหารหรือปัจจัยวัตถุ ที่ได้รับจากผู้มี่จิตศรัทธาถวาย เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธาที่มีปัจจัยจำนวนจำกัด และไม่สามารถถวายแก่พระสงฆ์ทั้งหมดได้ เรียกว่าสลากภัตร(ศัพท์ในพระวินัยปิฎก) คือ เป็นสังฆทาน นอกจากนี้ ยังทำห่อข้าวน้อย/ข้าวสาก ห่อของคาวหวานลงในใบตองที่เตรียมไว้แล้ว แล้วกลัดด้วยไม้ ทำ 1 คู่แล้วนำไปแขวนต้นไม้ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ส่วนห่อข้าวใหญ่ถวายพระคุณเจ้า

วัฒนธรรมข้าว อัตลักษณ์อาเซียน ความสำคัญคือ

  • เป็นอัตลักษณ์อาเซีย
  • เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจาการเลี้ยงชีพ จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่าตั้งแต่จีนตอนใต้มาถึงเอเชียตะออกเฉียงใต้ ต่างปลูกข้าว มีพิธีแห่เรือเป็นการไหว้ผีน้ำ ผีบรรพบุรุษเหมือนกัน บูชาหมา กบ และตัวเงือก (จระเข้) เหมือนกัน
  • ข้าวเป็นพืชที่มีจิตวิญญาณ ที่เราเคารพมายาวนาน ทว่าเรากำลังหลงลืม ถ้าเราเคารพธรรมชาติ เคารพข้าวว่าความสำคัญไม่ใช่การเป็นอาหารเท่านั้น ก็จะไม่ทำลายสภาพแวดล้อม หากเราฟื้นฟู ความสำคัญของการปลูกข้าว ก็มีส่วนช่วย รักษาธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูจิตใจได้ เพราะข้าวนั้นงดงาม ใช่เพียงทำให้อิ่มท้อง แต่ยังมีที่มาที่ไป ทรงคุณค่าต่อชีวิตและจิตใจ
หมายเลขบันทึก: 597700เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท