นโยบายสาธารณะกับข้อมูลหลักฐาน


.....................................จุดอ่อนอย่างหนึ่งของนโยบายสาธารณะไทย คือมันได้รับการกำหนดและปฏิบัติ อย่างเป็นส่วนเสี้ยว ต่างหน่วยงานต่างทำ ขาดการบูรณาการ ทำให้ไม่ได้ผล หรือทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ..................................................


บันทึกวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘

เพราะผมจะเข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการ Evidence-Informed Policymaking ที่ซีแอตเติ้ล ระหว่างวันที่ ๕ - ๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ทำให้อ่านเอกสาร และคิดคำนึง ไตร่ตรองสถานการณ์ในประเทศไทย ว่าข้อมูลหลักฐาน ที่เรามักพูดถึงกันนั้น เรามักคิดถึง เฉพาะสำหรับใช้ตัดสินใจกำหนดนโยบาย โดยมองการกำหนดนโยบาย เป็นกระบวนการ ณ จุดเดียว หรือครั้งเดียว ตัดสินใจแล้วก็แล้วกัน

นั่นคือข้อจำกัด หรือข้อผิดพลาดในการคิดเรื่องการกำหนดนโยบาย ที่หลายครั้ง ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ก็ยังคงนโยบายไว้ เป็นช่องทางคอร์รัปชั่น หรือแสวงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม อย่างที่พบเห็นในสังคมแบบไทย

การกำหนดนโยบาย ควรเป็นกระบวนการที่เป็นวงจร คือ กำหนด - ประยุกต์หรือดำเนินการ - ประเมินผล - ปรับปรุงนโยบาย ซึ่งต้องการข้อมูลหลักฐานก่อนกำหนดนโยบาย และเพื่อปรับปรุงนโยบาย แนวคิดเช่นนี้ มองการกำหนดนโยบายเป็นกระบวนการที่เป็นพลวัต หรือมีปัจจัยให้ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ

จึงควรใช้คำใหม่ - Evidence-Informed Policy Process

๔ ต.ค. ๕๘


เพิ่มเติมวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๘

สองทุ่มครึ่ง วันที่ ๔ ตุลาคม ทีมไทย (ทีม HITAP) ๕ คน อันประกอบด้วย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, ดร. ศรีเพ็ญ ตันติเวส, คุณเบญจรินทร์ สันตติวงศ์ชัย, คุณณัฏฐา ตรีทศวิทย์, และผม นัดคุยกัน

จากการคุยทำให้ผมได้คำ Policy Cycle (วงจรนโยบาย) และ Policy Formulation (การสร้างนโยบาย) หมอสมศักดิ์มาพูดในมุมมองของ user หรือผู้ต้องการใช้ evidence สำหรับตัดสินใจเชิงนโยบาย เพราะตอน เริ่มคิดการประชุมปฏิบัติการนี้ หมอสมศักดิ์ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่

หัวใจคือ ต้องคิดและปฏิบัติเชิงระบบ (Systems Thinking) มองความเชื่อมโยง ไม่คิดและปฏิบัติอย่าง เป็นส่วนเสี้ยว เพราะจะไม่ได้ผล และอาจก่อผลร้าย

ผมกลับมาคิดต่อที่ห้องพัก ว่าผู้ต้องการใช้ evidence เพื่อนำไปพัฒนานโยบายน่าจะมี ๒ ชั้น ชั้นสุดท้ายคือตัวผู้ตัดสินใจ ขั้นก่อนหน้านั้นคือทีมงานของผู้ตัดสินใจ

คิดใหม่ น่าจะมี ๓ ชั้น ชั้นที่เพิ่มขึ้น และน่าจะสำคัญมากในมุมของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือสาธารณชน หรือภาคประชาสังคม


เพิ่มเติมวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘

กลับมาคิดต่อที่บ้าน ว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของนโยบายสาธารณะไทย คือมันได้รับการกำหนดและปฏิบัติ อย่างเป็นส่วนเสี้ยว ต่างหน่วยงานต่างทำ ขาดการบูรณาการ ทำให้ไม่ได้ผล หรือทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรมาก สาเหตุอย่างหนึ่งเพราะมีแนวโน้มที่ข้าราชการจะทำงานเพื่อเอาตัวรอด หรือทำงานเพื่อผลงานของตน มากกว่าทำเพื่อผลลัพธ์ที่แท้จริง การตรวจสอบนโยบายสาธารณะ จึงต้องดูที่ประสิทธิภาพของการปฏิบัติตาม นโยบายนั้นด้วย


วิจารณ์ พานิช

๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘

ห้อง ๖๑๔, โรงแรม Warwick, Seattle บันทึกต่อที่ห้อง ๔๐๒, โรงแรม Four Points by Sheraton, Seattle และบันทึกต่อที่บ้าน วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 597177เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ต้องมีฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทุกมิติทั่วประเทศ สำหรับใช้ในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายประเทศ อยากเสนอขอเสนอข้อคิดเห็นส่วนตัวว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันผลิตบุคลลากรเพื่อไปพัฒนาประเทศ ลองนำระบบฐานข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจกำหนดนโยบาย มหาวิทยาลัยสักเรื่องดูซิคะ นำเสนอในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนั่นแหละค่ะ ดูซิว่าระดับมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดี รองอธิการบดี มีคณณบดี ตลอดจนอจ.ที่ดำรงตำแหน่งศ.รศ.ดร. มากมายจะนำฐานข้อมูลมาใช้กำหนดนโยบายที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติเป็นไหม ถ้าผลออกมาว่า ระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังใช้ไม่เป็น แล้วจะไปหวังอะไรกับหน่วยงานระดับประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท