​ว่าด้วยความทรงจำวัยเด็กและประสบการณ์ใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ)


สารภาพตรงๆ เลยว่า “ไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะทำได้ดี” แต่เมื่อได้ลงมือทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทาย เราไม่สามารถจัดการ หรือควบคุมตัวแปรการวิจัยได้เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีมากมาย ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในของบุคคลและชุมชน

สำหรับตัวดิฉันเอง การทำงาน “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นงานที่ไม่เคยอยู่ในความคิดความรู้สึกที่จะได้สัมผัส หรืออยากจะสัมผัส เพราะจากพื้นฐานการเรียนและการทำงานวิจัยที่เน้นการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเฉพาะด้าน ทำงานในห้องปฏิบัติการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ มาตลอดเกือบ ๒๐ ปี ทำให้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับสังคมชุมชนท้องถิ่นน้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ (ถึงแม้ว่าจะคาดหวังว่าผลงานวิจัยที่ทำขึ้น สังคมและชุมชนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ก็ตาม)

แต่เมื่อมีเหตุให้ได้ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับชุมชน (โครงการวิจัยการพัฒนากลยุทธ์การเสริมรายได้และลดต้นทุนการผลิตผักพื้นบ้านของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม) โดยเริ่มจากการได้เริ่มต้นพบปะพูดคุยร่วมกัน วางแผนงานร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันไปเรื่อยๆ พร้อมกับได้นำนิสิตออกไปสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ไปพร้อมกันนั้น ทำให้ตัวดิฉันได้เรียนรู้อะไรต่างๆ มากมายไปพร้อมกับนิสิต




ความรู้สึกแรกของการได้ทำงานร่วมกับชุมชน คือ “ความรู้สึกได้กลับไปในวัยเด็ก” จากชีวิตวัยเด็กที่ได้เกิดและเติบโตในสังคมชนบทอีสาน จนกระทั่งได้เรียนหนังสือในโรงเรียนประจำจังหวัด และเรียนต่อเนื่องจนได้รับปริญญาสูงสุด และมีงานทำ นับตั้งแต่ออกจากบ้านไปอยู่หอพัก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ปี ที่ได้พาตัวเองออกจากสังคม ชุมชนที่รักและรู้จักสนิทสนม ไปอยู่ในสังคมของคนแปลกหน้า ไม่รู้จักและไม่ไว้วางใจ

ดังนั้นการทำงานร่วมกับชุมชนแวงน่างจึงทำให้ย้อนรำลึกถึงวัยเด็ก ตัวเราเองก็เหมือนเป็นคนในชุมชนที่รักและรู้จักสนิทสนมกัน ได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอีสาน




จากก่อนที่ได้จะได้เริ่มงานนี้ รู้สึกหนักใจมากที่จะต้อง “สื่อสาร” และ “ทำความเข้าใจ” กับชุมชน สารภาพตรงๆ เลยว่า “ไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะทำได้ดี” แต่เมื่อได้ลงมือทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทาย เราไม่สามารถจัดการ หรือควบคุมตัวแปรการวิจัยได้เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีมากมาย ทั้งปัจจัยภายนอกและภายในของบุคคลและชุมชน ต้องทำงานไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่มีมาใหม่เสมอๆ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและชุมชนซึ่งถือว่าทักษะที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกว่ายากก็ไม่ได้ลดลง แต่ความรู้สึกว่าท้าทายก็ได้เพิ่มขึ้นมามากจนทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ หรือท้อถอย

จากมุมมองของตนเองที่ได้ลงมือทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นแล้วนั้น หากไม่นับความรู้และทักษะเชิงเทคนิคด้านการเกษตรแล้ว ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสังคมศาสตร์ ถือว่าเป็นกำไรสำหรับตัวเองที่แม้จะรู้สึกเหนื่อย ก็ยังรู้สึกว่า “คุ้มค่า” และคำว่าคุ้มค่านี่เองที่ทำให้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมุมมองนักวิทยาศาสตร์มีเสน่ห์เย้ายวนชวนให้ค้นหาได้ไม่เบื่อ



หมายเหตุ :

เรื่อง :ดร.เพ็ญแข ธรรมเสนานุภาพ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร

ภาพ : อนุวัตร ทองพันชั่ง

หมายเลขบันทึก: 597171เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 05:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ

-ตามมาอ่านบทความการทำงานวิจัยกับชุมชนครับ

-ผมชอบตรงนี้ครับ"ความรู้สึกว่ายากก็ไม่ได้ลดลง แต่ความรู้สึกว่าท้าทายก็ได้เพิ่มขึ้นมามากจนทำให้ไม่รู้สึกเบื่อ หรือท้อถอย"

-ขอบคุณครับ

ทีมนี้น่าสนใจมาก

ได้เรียนรู้เรื่องชุมชนไปกับทีมอาจารย์ผู้ทำวิจัยด้วยเลย

ขอบคุณมากๆครับ

มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายในชุมชน ที่ท้าทายให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ

ได้ศึกษา ค้นคว้า เพื่อประโยชน์ทั้งการแก้ไข แต่การส่งเสริม

ชุมชนเป็นเสมือนห้องเรียนที่รอ " ครู " ไปทำงาน

อยากเห็นผลงานวิจัยชุมชน ที่พัฒนาสังคมชนบท

ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ขยายวงกว้างออกไป

อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่่่จังเลยจ้าา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท