CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๐ : วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "กิจกรรมส่งเสริมสติและสมาธิ ตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ"


ภาคการศึกษาแรกที่รายวิชาใหม่ ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ให้นิสิตใหม่รหัส ๕๘ ได้ลงทะเบียนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา มีผู้มาลงทะเบียนกว่า ๔,๗๐๐ คน ๓๒ กลุ่มเรียน มีอาจารย์ผู้สอนจำนวน ๒๕ ท่าน หลายท่านต้องสอนมากกว่า ๑ กลุ่มเรียน เวียนสอนมากว่า ๑ ครั้งในเนื้อหาเดียวกันเนื่องจากข้อจำกัดของขนาดชั้นเรียน

เนื้อหาในเอกสารประกอบการสอนที่ใช้ในภาคเรียนแรกนี้ อ้างอิงเนื้อหาส่วนใหญ่จากหนังสือที่เขียนโดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผู้นำการขับเคลื่อนหลักปรัชญาด้านการศึกษาของประเทศ รวมทั้งกิจกรรมท้ายชั่วโมงเรียน ก็ปรับเขียนขึ้นจากแนวคิดกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ตลอด ๒ ปีที่ผ่านมา... จุดเด่นขอวิธีการนี้คือ มีเอกภาพในการจัดการเรียนการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา จุดอ่อนคือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาของอาจารย์ผู้อาสามาสอนยังน้อย ... ซึ่งคงต้องค่อยๆ พัฒนาร่วมกันต่อไป... สมบูรณ์เพียงพอเมื่อใด จะนำมาเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกันต่อไป

ในภาคเรียนนี้ เรากำหนดกิจกรรม ให้นิสิตที่ลงทะเบียนทุกคน ต้องเข้าร่วมกิจกรรม "ส่งเสริมสติและสมาธิตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ" โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการเรียนด้วย เกิดคำถามตามมากมาย จึงขอใช้บันทึกนี้อธิบาย ให้เข้าใจถึงความตั้งใจ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่กำหนดให้ไปสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ ที่วัดป่ากู่แก้ว อย่างน้อย ๑ ครั้ง ดังภาพ







หน้าที่ชาวพุทธ (ประมวลจากการฟังธรรมะๆ ของครูบาอาจารย์ต่างๆ)

หน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ๓ ประการ ที่นิสิตจำเป็นต้องรู้และปฏิบัติ ได้แก่

๑) ศีลสิกขา คือรู้เรื่องศีลและปฏิบัติรักษาศีล เป็นการขัดเกลากิเลสส่วนหยาบ ได้แก่ ไม่ฆ่าใครไม่ทำร้ายสัตว์อื่น ไมลักขโมยของคนอื่น ไม่ผิดในลูกและคนรักหรือไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดโกหก พูดหยาบ พูดส่อเสียด หรือพูดเพ้อเจ้อ และไม่ดื่มสุรา เมรัย ให้ตนเองมึนเมาจนเสียสติ นิสิตจำเป็นต้องมี "สติ" ถึงจะสามารถรักษาศีลได้ ... ดังนั้นการมาสวดมนต์เป็นกุศโลบายหนึ่งในการฝึกสติ และตลอดช่วงเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ที่นิสิตมาสวดมนต์นี้ ทุกคนในรักษาศีลอย่างครบถ้วน ...

๒) จิตสิกขา คือ ศึกษาเกี่ยวกับจิต เรียนรู้จิตใจของตนเอง เมื่อมีศีลเบื้องต้น มีสติดีขึ้น การเฝ้ารู้เฝ้าดูจิตใจของตนเอง ตามความเป็นจริง จะทำให้นิสิตมีสติและสมาธิตั้งมั่น รู้จักกายและใจของตนเองมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตนเอง .... การสวดมนต์โดยสังเกตการเคลื่อนไหวไหลไปของจิต ออกจากบทสวดไปคิดเรื่องต่างๆ จำทำให้นิสิตได้ฝึกสติ และสมาธิประเภท "สมาธิตั้งมั่น" หรือ "สติปัฏฐาน" หรือ นิสิตบางคนจะ ฝึกใจให้จดจ่ออยู่กับสิ่งเดียว ในที่นี้คือบทสวดมนต์ สวดมนต์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำตามพระอาจารย์ผู้นำสวด ก็เป็นการฝึกสติและสมาธิจดจ่อ ซึ่งจำเป็นสำหรับทำการงานในชีวิตประจำวัน

๓) ปัญญาสิกขา คือ การศึกษาและพัฒนา หรือ ภาวนา เพื่อให้เกิดความเจริญทางด้านจิตใจ มีปัญญาในอริยสัจ ตามลำดับ ซึ่งมีลักษณะสำคัญ "ผู้ปฏิบัติย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง" ผู้อื่นทำให้ไม่ได้ และ "ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตน" ทำให้ผู้อื่นไม่ได้ ... กิจกรรมในปีการศึกษาถัด ๆ ไป น่าจะมีกิจกรรมส่งเสริมต่อไป

กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักคิด และหลักปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง ตัดสินใจบนเงื่อนไขและปัจจัยที่มีอย่างพอประมาณบนเหตุผลของความถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เสี่ยงเกินไป มีภูมิคุ้มกันที่ดีทั้งภายในใจนั่นคือ ภายใต้เงื่อนไขของคุณธรรม และภูมิคุ้มที่ดีในการกระทำต่างๆ นั่นคือ ความรู้ นำสู่การดำเนินชีวิต ครอบคลุม ๔ มิติ ทั้งวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ผมมีความเห็นว่า การฝึกสติปัฏฐาน และสมาธิตั้งมั่น นั้น เป็นการสร้างเสริม "ภูมิคุ้มกันภายในที่ดี" เพราะสติและสมาธินั้น เป็นปัจจัยของความรู้ ความคิด และปัญญา ที่รอบคอบ ระมัดระวัง

หากถามว่าทำไมต้องสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบ มีประโยชน์และอานิสงค์อะไร...? มีผู้ให้คำตอบไว้มากมาย หากสืบค้นด้วย google ... อย่างไรก็ดี มีคำสอนว่าไม่ให้เชื่อ ก่อนจะได้ลองปฏิบัติและพิจารณาด้วยตนเองเสียก่อน รวมทั้งลักษณะของปัญญาพุทธ ๒ ประการ ข้างต้น ... ดังนั้น ผู้ถาม ควรจะลองเปิดใจและไปสวดดู จะทราบคำตอบ

ส่วนความเห็นผม ณ ขณะนี้ วัตถุประสงค์ คือ เปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับสติและสมาธิ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันภายในใจ ซึ่ง "...จำเป็นในที่ทุกสถานในการณ์ทุกเมื่อ..." ดังคำที่ครูบาอารย์ท่านสอนบ่อยๆ นอกจากนี้แล้วยังมีประโยชน์โดยอ้อมสำคัญ ดังนี้

  • นิสิต "มาถึง" วัดป่ากู่แก้ว ... นิสิตที่นับถือศาสนาพุทธและลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ จะไม่มีคำถามว่ วัดกู่แก้วอยู่ที่ไหน? จะไปทำบุญหรือร่วมงานประเพณีทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมใกล้ๆ ที่ไหนดี? วัดป่ากู่แก้วเป็นอย่างไร? ...ฯลฯ
  • นิสิตได้ฝึกความอดทน โดยเฉพาะคนที่มาสวดมนต์ครั้งแรก การสวดมนต์ยาวนานเกือบ ๒ ชั่วโมง ต้องอดทน และได้เรียนรู้เกี่ยวกับทุกข์พอสมควร
  • ได้ร่วมกันทำบุญกุศลแด่สัพสัตว์ทั้งหลาย ตามคติชาวพุทธ
  • ได้ร่วมถวายการสวดมนต์เป็นพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงหายจากพระอาการประชวร
  • ได้รู้จักเพื่อนๆ และได้สนทนาปัญหาเกี่ยวกับธรรมะ หรือเกี่ยวกับ "สติ" และ "สมาธิ" ... ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติ
  • ฯลฯ

ผลจะเป็นอย่างไรนั้น จะทำวิจัยมาเล่าให้ฟังต่อไปครับ


หมายเลขบันทึก: 597045เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 07:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท