น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นไม่ระเหยน้ำ


การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นด้วยตนเองนั้น ผู้ที่ทำได้แล้วเข้าใจดีแล้วนะคะว่าทำไม่ยาก ได้น้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพมากด้วย ซึ่งตามที่สอนแนะนำไว้ในบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/296587 เน้นย้ำว่าต้องระเหยน้ำ แต่ก็น่าจะมีหลายๆบ้านแล้วที่ทำได้โดยไม่ต้องระเหยน้ำใช่ไหมค่ะ ถ้ายังไม่ได้ลองทำ บันทึกนี้ ชวนให้ลองทำใช้เองนะคะ น้ำมันมะพร้าวน่าใช้เช่นเดียวกับทำการระเหยน้ำ


3 ขวดในภาพ ทำใช้เองค่ะ และตั้งใจทำให้หลานสาวใช้ ซึ่งตอนนี้น้องณาฬาอายุได้ 2 เดือน 7 วัน

การทำน้ำมันมะพร้าวแบบไม่ระเหยน้ำผู้ที่ทำบ่อยๆจะทำได้นะคะ ความมั่นใจในการตักกรองที่ไม่มีกะทิส่วนที่ไม่เป็นน้ำมันปนมาหรือน้ำหมักด้านใต้กะทิชั้น 3 ไม่ได้ตักขึ้นมากรอง ตักแต่น้ำมันใสๆกรองเท่่านั้น แล้วตั้งวางไม่ปิดฝาในภาชนะปากกว้างอีก 7 วันให้แน่ใจว่าไม่มีความชื้น ก็บรรจุขวดใช้ เช่น ไว้ทำอาหาร รับประทานโดยตรง บำรุงผิว หมักผม นวดผิวคลายเส้นเอ็น ฯ แยกภาชนะใส่ตามชอบ


แต่ถ้ายังไม่มั่นใจในการตักกรอง ก็ต้องทำการระเหยน้ำนะคะ


การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น 100%

มีคุณภาพเยี่ยมได้ด้วยตนเอง


วิธีทำ


นำเนื้อมะพร้าวแก่ 1 ส่วน น้ำอุ่น 1 ส่วนหรือประมาณเท่ากัน คั้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้ได้น้ำกะทิ เสร็จแล้วกรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวบาง นำน้ำกะทิที่ได้ทั้งหมดเทใส่ภาชนะทรงกระบอก เช่น หม้อ ขวดโหล โถ เหยือกน้ำ หรือ ขวดน้ำเปล่าที่สะอาด แล้วปิดฝาไม่ต้องแน่นหรือไม่ปิดก้ได้ ตั้งวางไว้ในบ้านอุณหภูมิปกติ หัวกะทิจะค่อยๆลอยขึ้นด้านบน ประมาณ 12 ชั่วโมง จะเห็นน้ำมันใส หากหมักด้วยภาชนะใสถ้าเป็นภาชนะทึบ ให้เปิดฝ้าครีมกะทิด้านบนดู


หากใส่ภาชนะใสหมัก จะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็น 5 ชั้นคือ
1. ครีมฝ้าบางๆ
2. น้ำมันมะพร้าวใส
3. ครีมกะทิที่ไม่เป็นน้ำมัน
4. น้ำหมัก
5. ตะกอน


เตรียมภาชนะกรอง

ถ้วยทนความร้อน(เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตอนจะระเหยน้ำ)หรือหม้อใบเล็ก ฯ นำกระชอนหรือตะแกรง วางบนปากถ้วยฯ แล้วนำผ้าขาวบางพับ 8 ชั้น (มากชั้นเพื่อให้ได้น้ำมันใสไม่มีตะกอน) หรือใช้กระดาษชนิดกรอง

กรองน้ำมัน


1. ตักครีมฝ้าชั้น1 บน ใส่ถ้วยไว้
2. ค่อยๆตักชั้น 2 น้ำมันใส ที่อยู่บนครีมกะทิ ขึ้นมากรอง ให้หมด
3. ตักครีมกะทิชั้น 3 ที่ไม่เป็นน้ำมันจะลอยอยู่บนน้ำหมัก
ใส่รวมไว้ในถ้วยที่ใส่ ชั้น 1 ไว้
4. น้ำหมักที่ชั้น 4 และชั้น 5 ตะกอน ทิ้ง หรือทำปุ๋ย
5. รอน้ำมันบนภาชนะกรองหยดจนหมด

การระเหยน้ำ


- นำน้ำใส่หม้อต้มให้เดือด นำตะแกรงวางบนปากหม้อ หรือใช้หม้อซึ้ง พอน้ำเดือดแล้วเบาไฟ

- นำน้ำมันมะพร้าวใสที่ได้จากการกรองขึ้นวางบนตะแกรง


- ใช้ช้อนช่วยคนเพื่อให้ความชื้นหรือน้ำที่ปนมาระเหยออกไปเร็วขึ้น จะมีฟองอากาศเดือด ทำจนไม่มีฟองอากาศ ก็ปิดไฟ หรือจะตั้งภาชนะที่มีน้ำมันลงในน้ำที่เดือดเบาๆ โดยไม่วางบนตะแกรง ก็ได้เช่นกัน


- น้ำมันที่ระเหยน้ำแล้ว ใช้ได้ทันที


- แต่ถ้านำไปจำหน่าย หรือ เป็นของฝาก ของเยี่ยม ฯหลังจากระเหยน้ำเสร็จแล้วตั้งวางไว้ ประมาณ 7 วัน
จนมั่นใจว่า ไม่มีความชื้น และตะกอน


- จึงค่อยนำน้ำมันมะพร้าวใสบรรจุขวดซึ่งจะเก็บไว้ได้นานมากกว่า 1 ปี คงสภาพเดิม คุณภาพเยี่ยม


- หากไม่ทำการระเหยน้ำต้องใช้ให้หมดเร็ว ถ้าเก็บไว้นานน้ำมันจะเหม็นตึ
เหม็นหืน และเกิดเชื้อรา ถึงแม้จะใส่ตู้เย็น ก็เหม็น และเกิดเชื้อรา


ครีมกะทิจากการหมัก

จากชั้น 1 และชั้น 3 ที่ไม่เป็นน้ำมัน และบน-ในผ้าขาวบาง ให้บิด แล้วนำลงกระทะทั้งหมด เปิดไฟอ่อนๆเคี่ยว จนเนื้อครีมกะทิเป็นสีน้ำตาลอ่อน ก็ปิดไฟ รอจนเย็นก็ตักกรอง จะได้น้ำมันใสไว้ใช้ได้อีกส่วนหนึ่ง


หมายเหตุ :


1. การขูดมะพร้าวด้วยกระต่าย ให้ขูดหรือใช้ช้อน ขูดผิวสีดำที่ติดก้นกะลา ออกมาให้หมด เพราะวิตามินอี ของมะพร้าวอยู่ตรงที่ผิวดำติดเนื้อมะพร้าวที่ติดก้นกะลา เมื่อเราขูดออกมาหมดแล้วคั้นหมักไปด้วยกัน เราก็จะได้ วิตามินอี มากมาย


2. กรณีซื้อหัวกะทิไม่ผสมน้ำจากตลาด เมื่อถึงบ้าน นำเทใส่ภาชนะหมัก ทั้งหมด แล้วเติมน้ำอุ่นเท่ากับ หัวกะทิ ปิดฝาตั้งวางไว้ในบ้าน


3. การซื้อมะพร้าวจากตลาด เราต้องลุ้นและทำใจเล็กน้อยในการจะได้น้ำมัน เพราะ ผู้ขาย เครื่องใช้งานมากไม่ได้ล้าง และเว้นระยะการขูด ช่วงที่รอผู้มาซื้อ อาจเกิดเชื้อแบคทีเรีย หรือเครื่องไม่สะอาดเพราะเกิดการสะสมมะพร้าวใหม่เก่าที่ขูดตลอดเวลามีค้างใน เครื่องบ้างอาจมีมะพร้าวไม่แก่ หรือมีมะพร้าวงอกปน การล้างก่อนขูดไม่สะอาด ฯ (แต่ผู้ขายบางคนใจดี เมื่อเราบอกว่าจะไปทำน้ำมัน เขาก็จะเลือกแก่ๆและล้างให้ ใหม่ ก่อนนำไปขูด )


4. หากหมักไปแล้ว 12 ชั่วโมง ไม่ได้เกิดน้ำมันใส เกิดแค่ 2 ชั้นคือครีมกะทิและน้ำหมัก สาเหตุ มาจาก ข้อ 3 แล้ว ให้ตักครีมกะทิชั้นบนทั้งหมด ลงกระทะ เคี่ยวไฟอ่อนๆพยายามอย่าให้เนื้อครีมกะทิติดกระทะ คนไปมา (เมื่อยก็ปิดไฟหยุดพัก แล้วเคี่ยวใหม่ได้) เคี่ยวจนกากเป็นสีน้ำตาลอ่อนก็ปิดไฟ จะได้น้ำมันใสแจ๋ว และได้น้ำมันเร็วกว่าการเคี่ยวหัวกะทิสด เพราะผ่านการหมักมาแล้ว แต่กากจะมีรสเปรี้ยว


5. หมักครบ 12 ชั่วโมงเป็นน้ำมันใสแล้วแต่ยังไม่ว่างกรอง เลย 12 ชั่วโมงก็ไม่เป็นอะไร เมื่อเกิดน้ำมันใสแล้ว ตัวน้ำมันดีเหมือนเดิม แต่ไม่ควรนานเกินหลายวัน


6. เมื่อตั้งวางหมักไม่ควรเขย่าขวด และเวลากรอง ก็ปล่อยให้น้ำมันหยดเอง ถ้าใช้ช้อนบี้ หรือขย้ำเพื่อให้หยดเร็ว ครีมกะทิที่ไม่เป็นน้ำมันและน้ำหมัก ปนลงไปด้วยแล้ว ทำให้น้ำมันขุ่นไม่ใส และเปรี้ยว


7. การที่จะกินกาก หรือขี้ออด หรือขี้แหย่ ฯให้อร่อยนั้น ต้องเคี่ยวจากหัวกะทิสด โดยคั้นเหมือนกัน กรองแล้วตั้งวางไว้สักพัก รอจนหัวกะทิลอยขึ้นบนแล้ว ค่อยๆตักหัวกะทิลงกระทะ (หากนำลงทั้งหัวทั้งหางกะทิจะกระเด็นมากและได้น้ำมันช้ามาก)เคี่ยวไฟอ่อนๆ จนกากเป็นสีน้ำตาลอ่อน กากนี้หอมอร่อยมาก และน้ำมันที่ได้ก็หอมมาก การเคี่ยวแบบโบราณ หากต้องการเก็บน้ำมันไม่ให้ตกตะกอน ควรใส่ตู้เย็น จะเก็บไว้ได้นาน


8. ในฤดูหนาวหรือฝนตก ทำให้อากาศเย็น หากจะหมักทำน้ำมัน เมื่อใส่ภาชนะแล้ว แนะนำให้นำไปวางไว้ ด้านหลังตู้เย็น หรือข้างหน้าต่างในบ้าน ที่มีแดดภายนอก


9. ผ้าขาวบางที่ใช้กรองน้ำมันหลายชั้นนั้น จะซักเพื่อให้น้ำมันออกหลายครั้งมาก แนะนำให้ต้ม ก่อนนำไปซัก เวลาซักหากมีน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาวก็บีบใส่รวมลงไปในน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก ก็จะซักง่ายสะอาดเร็ว

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/296587




ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันจันทร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๕๕๘




หมายเลขบันทึก: 596964เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท