อย่าอยู่อย่างยี๊! (เหม็น)


ระหว่างการจัดกิจกรรมหนึ่งในการฝึกอบรมให้แก่พนักงานในโรงงาน พนักงานเหล่านี้เป็นระดับหัวหน้าแผนก ต้องดูแลทำงานกับน้องๆ พนักงานปฏิบัติการ ตอนนั้นเราจัดกิจกรรม “ตามล่าหา Tacit (Knowledge)” แบ่งกลุ่มย่อยประมาณ 4-5 คนต่อกลุ่ม ออกไปหน้างานภายในโรงงานไปค้นหา Tacit Knowledge หรือความรู้มือหนึ่งของพนักงานปฏิบัติการภายในโรงงาน ทุกกลุ่มต้องไปคุยกับเขาเหล่านั้น เพื่อค้นหาความรู้ปฏิบัติมากลุ่มละ 1 เรื่อง และมานำเสนอในห้องฝึกอบรม ระหว่างที่เขาปฏิบัติภารกิจกลุ่มย่อยอยู่นั้น ผมเองก็ตามไปสังเกตการอยู่เช่นกัน ขณะนั้น ผมเหลือบไปเห็นสิ่งของชุดหนึ่งหน้าตาแปลกๆ ตามในภาพนี้ครับ

หน้าตามันประมาณนี้ครับ ลืมบอกไปว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานผลิตสุขภัณฑ์แห่งหนึ่ง ผมหันไปสะกิดถามผู้เข้าร่วมฝึกอบรมท่านหนึ่งตรงนั้นว่า พอจะทราบไหมว่าอุปกรณ์อันนี้เป็นอุปกรณ์อะไร? ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมท่านนั้น ก็ไม่ทราบในขณะนั้น แต่ต่อมามีคนไปสอบถามและมาอธิบายผมว่า มันเป็นอุปกรณ์ช่วยในการทาน้ำมันชนิดหนึ่งลงบนผิวของชิ้นงานสุขภัณฑ์ก่อนขั้นตอนการเผาเพื่อหารอยแผลแตกร้าวที่มองเห็นได้ยาก เมื่อทาน้ำมันชนิดนี้ลงไปแล้วจะช่วยให้เห็นแผลแตกง่ายขึ้น แต่ปัญหาของพนักงานก็คือ น้ำมันชนิดนี้มีกลิ่นเหม็นมาก เดิมเขาเทน้ำมันลงในภาชนะแล้วใช้แปรงป้ายน้ำมันมาทาที่พื้นผิวของชิ้นงานหล่อ การทำอย่างนี้ทำให้กลิ่นของน้ำมันกระจายไปทั่วห้อง และเป็นกลิ่นที่ไม่น่ารื่นรมย์เลย เพราะน้ำมันอยู่ในภาชนะที่เปิดกว้างเพื่อให้แปรงทาน้ำมันลงไปได้ และหากหลายๆ คนทำลักษณะเช่นนี้ก็เท่ากับยิ่งเพิ่มความเข้มข้นของกลิ่นให้มากยิ่งขึ้น พนักงานเจ้าของไอเดียนี้ได้เปิดเผยให้ฟังว่า เขามาคิดว่าทำอย่างไรถึงจะให้น้ำมันออกมาทีละนิดที่บริเวณขนแปรงเท่านั้น เลยนึกถึงสายน้ำเกลือในโรงพยาบาลที่ใช้กับคนไข้ มันสามารถควบคุมปริมาณที่ต้องการให้ออกมาได้ เลยไปหาอุปกรณ์ดังกล่าวมาดัดแปลงเอง โดยการเจาะแกลลอนน้ำมันเพื่อต่อสายน้ำเกลือเข้าไป จากนั้นนำปลายสายน้ำเกลืออีกด้านหนึ่งมาสอดรูที่ด้ามแปรง ปกติเป็นรูที่ใช้ผู้เชือกสำหรับแขวนแปรง แล้วใส่อุปกรณ์ควบคุมปริมาณน้ำเกลือให้ออกมากหรือน้อยตามแต่ต้องการได้บริเวณด้ามแปรง แล้ววางปลายสายให้อยู่ตรงกับบริเวณขนแปรงด้านบน น้ำมันที่ไหลออกจากแกลลอนจะไหลลงมาสู่ขนแปรงในปริมาณแต่พอดีไม่มากเกินไป เพราะสามารถควบคุมการไหลได้ ช่วยทำให้ลดกลิ่นน้ำมันไปได้มากทีเดียว

ผู้เล่าเรื่อง ธวัช หมัดเต๊ะ

หมายเลขบันทึก: 596942เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท