จากความเจริญด้านวัตถุสู่ความเจริญทางจิตใจสู่ความเจริญทางปัญญา


ในทัศนะของพุทธศาสนามองว่าความสุขระดับนี้ยังไม่เพียงพอ ยังไว้ใจไม่ได้ ไม่ควรพอใจในความสุขเพียงแค่นี้ เพราะศักยภาพของมนุษย์นั้นยังสามารถแสวงหาประโยชน์ที่ยิ่งไปกว่านี้อีก นั่นคือการเดินต่อไปตามหลักของการของอนุปุพพิกถาข้อ4และ5 ที่เดินต่อไปด้วยปัญญาที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งปวงที่อยู่รอบตัวเรา

ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านวัตถุสูง เป็นผู้นำของโลกในหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี่ เศรษฐกิจ การเมืองและอื่นๆ สำหรับพัฒนาการของคนยุโรปที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมนั้นก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อย่างบางประเทศหากไปทานในร้านอาหารแล้วสั่งอาหารมามากเกินไปเหลือเยอะแยะ ทานไม่หมดอาจะถูกตำหนิจากโต๊ะอาหารใกล้ๆก็ได้ และหากยังเถียงว่าเรามีเงินจ่ายก็แล้วกัน ก็จะโดนคำพูดด้วยประโยคว่า "เงินทองเป็นของคุณแต่ทรัพยากรเป็นของส่วนรวม" ที่บางคนเคยโดนมาแล้ว

มีอยู่ชุมชนหนึ่งมีความเป็นอยู่น่าสนใจ เขารวมตัวอยู่ด้วยกันโดยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเน้นอยู่กันอย่างพอเพียงไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชผักปลอดพิษกินกันเอง มีฟาร์มโคนมของตนเอง สมาชิกในชุมชนซึ่งมีทั้งหมอและพยาบาล และบุคคลหลากหลายอาชีพก็จะให้ความช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์กันเหมือนญาติพี่น้อง มีความปลอดภัยในชุมชนสูงไม่ต้องห่วงเรื่องโจรเรื่องขโมย เด็กๆเล็กๆ ผู้หญิง และผู้สูงอายุอยู่กันอย่างปลอดภัย

มีคนไปสัมภาษณ์สมาชิกในชุมชนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ถามถึงชีวิตความเป็นอยู่และความพึงพอใจในสังคมนี้ เธอตอบว่าสังคมที่นี่อยู่กันอย่างปลอดภัย มีความสุข ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลซึ่งกันและกันอย่างดี และเมื่อถามต่อไปว่าอยู่กันแบบนี้แล้วจำเป็นต้องมีศาสนาไหม? เธอก็ตอบว่าไม่จำเป็นต้องมีเพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมแล้ว

จากคำตอบของผู้หญิงคนนี้ ทำให้ผู้เขียนต้องมานึกลำดับความต้องการของคนในสังคมว่า แท้จริงแล้วคนเรานั้นต้องการอะไร หากดูกันง่ายๆทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ด้วยการทำงานหาเงินกัน เพราะเงินทำให้เกิดความมั่นใจในชีวิตว่าเจ็บไข้ก็มีทางรักษา ยามต้องการปัจจัยสี่หรือวัตถุสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆก็ซื้อได้ด้วยเงิน มีคำถามต่อมาคือหากใครคนใดคนหนึ่งมีเงินมากพอแล้ว มีความสุขจากวัตถุต่างๆที่ชื้อได้ด้วยเงินแล้ว มีความปลอดภัยในชีวิตแล้ว และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้างดุจญาติมิตรแล้วเขาจะยังต้องการอะไรอีกหรือไม่ เชื่อว่าคำถามนี้แต่ละคนคงจะมีคำตอบไม่เหมือนกันซึ่งก็ตามแต่สติปัญญาความรู้ของแต่ละคน

แต่หากจะหาคำตอบในพระพุทธศาสนาว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่ แล้วพระองค์ตรัสกับใครและตรัสว่าอย่างไรก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยที่จะได้ฟังความเห็นของพระองค์ท่าน ซึ่งถ้าหากเราพิจาณาตามไปก็อาจได้ขยายความรู้ และได้ทัศนะเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ในหลักธรรมที่ชื่อว่าอนุปุพพิกถา ซึ่งเป็นธรรมะที่พระองค์แสดงธรรมเรื่องนี้บ่อยและผู้ฟังธรรมะบทนี้ก็มักจะเป็นบุคคลประเภทมีชีวิตที่สุขสบายระดับขั้นเศรษฐี มีความเฉลียวฉลาดและมีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น เช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านยส(อ่านว่ายะสะ)พร้อมทั้งบิดามารดา พร้อมเพื่อนๆผู้ที่มีทั้งฐานะและการศึกษาอย่างดีอีกหลายคน และยังมีคนอื่นๆอีก

*อนุปุพพิกถา คือเรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ — progressive sermon; graduated sermon; subjects for gradual instruction)

1. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน — talk on giving, liberality or charity)

2. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม — talk on morality or righteousness)

3. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น — talk on heavenly pleasures)

4. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้ — talk on the disadvantages of sensual pleasures)

5. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่านั้น — talk on the benefits of renouncing sensual pleasures)**

อาจกล่าวได้ว่าในอนุปุพพิกถาทั้ง5ข้อนั้นเป็นพัฒนาการของสังคมมนุษย์ก็ว่าได้ กล่าวคือ

ข้อที่1 ว่าด้วยเรื่องทาน ทานคือการให้ การที่คนเราจะสามารถให้อะไรใครได้นั้น เขาต้องมีวัตถุสิ่งของก่อน นั่นคือเขาต้องเป็นขยันทำงาน มีความฉลาดรอบรู้ในการคิดค้นสิ่งต่างเพื่อแก้ปัญหาของคนในสังคมได้ และเมื่อมีแล้วก็รู้จักการให้แบ่งปันกับคนอื่น ก็จะทำให้ได้รู้จักความสุขอีกแบบหนึ่งขึ้นมา คือความสุขจากการให้หรือจากความเมตตา กรุณา

ข้อที่2 เป็นพัฒนาการในด้านกฏเกณฑ์หรือกติกา เพื่อที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข นั่นก็คือการไม่เบียดเบียดซึ่งกันและกัน สังคมที่ทำได้เช่นนี้สังคมนั้นก็น่าอยู่

ข้อที่3 เป็นการบอกผลของการทำความดีตามข้อ1และ2 ว่าคนที่ทำได้เช่นนี้ที่แม้ตายไปก็ไปสู่สุคติคือมีสวรรค์เป็นที่ไป เขาย่อมเสวยผลบุญอยู่เป็นเวลานาน

ข้อที่4 ความจริงก็น่าจะจบแค่ข้อ3 แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนต่อไปเป็นว่าสวรรค์ที่เต็มไปด้วยความสุขอันประณีตนั้นก็ยังไม่สุขจริง คือยังไม่เที่ยงยังแปรเปลี่ยนได้ และยังมีโทษมากคือทำให้น่าหลงใหล เพลิดเพลิน ยินดี จนกระทั่งลืมความจริงคือความไม่จีรังยั่งยืน ก่อให้เกิดความยึดมั่น ความโลภไม่สิ้นสุด ซึ่งข้อนี้เป็นจุดเริ่มการพัฒนาทางด้านปัญญาที่จะรู้เท่าทันความจริงของความสุขสบายอันเป็นผลจากการทำความดี

และข้อที่5 เป็นข้อสุดท้ายที่ต้องพัฒนาปัญญาต่อไปอีก โดยพระองค์ทรงแสดงถึงประโยชน์ของการออกจากกาม ทรงแนะนำความสุขที่ประณีตกว่ากามสุขขึ้นไปอีก คือความสงบจากกาม และคำว่าออกจากกามในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องหนีกามไปไหน เพราะถึงอย่างไรเราก็หนีไปไหนไม่ได้ เพราะเรายังอยู่ในกามภพกันทุกคน แต่ท่านหมายถึงการทำใจไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นกับกาม ไม่ให้ค่าของกามมากเกินไป กามคือความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและอารมณ์ที่น่าพอใจนั่นเอง

จากการที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่าบางคนในโลกนี้เข้าใจว่า หากคนในสังคมรวมตัวกันได้ สร้างชุมชนของการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ช่วยเหลือและไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน สังคมนี้ก็น่าอยู่เพียงพอแล้วศาสนาไม่จำเป็นต้องมี ก็คงพอจะตอบได้ว่า สังคมเช่นนี้ก็ได้รับสุขความสบายในระดับข้อ1และข้อ2 คือสังคมมีการให้ซึ่งกัน(ทาน) และสังคมไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน(ศีล)

ในทัศนะของพุทธศาสนามองว่าความสุขระดับนี้ยังไม่เพียงพอ ยังไว้ใจไม่ได้ ไม่ควรพอใจในความสุขเพียงแค่นี้ เพราะศักยภาพของมนุษย์นั้นยังสามารถแสวงหาประโยชน์ที่ยิ่งไปกว่านี้อีก นั่นคือการเดินต่อไปตามหลักของการของอนุปุพพิกถาข้อ4และ5 ที่เดินต่อไปด้วยปัญญาที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งทั้งปวงที่อยู่รอบตัวเรา

ขอยกตัวอย่างผู้ที่ได้ฟังอนุปุพพิกถาจากพระพุทธเจ้าสักท่านหนึ่ง ท่านนี้ชื่อว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อของท่านแปลว่าผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนอนาถา แต่เดิมนั้นท่านมีชื่อว่าสุทัตตะ ท่านรู้จักพระพุทธเจ้าเพราะมีอยู่วันหนึ่งท่านมีธุระเดินทางไปเยี่ยมญาติต่างเมืองซึ่งเป็นเศรษฐีด้วยกัน พอไปถึงเห็นเขากำลังเตรียมจัดงานเลี้ยงใหญ่โตราวกับต้อนรับพระราชา ที่น่าแปลกใจก็คือว่าธรรมดาญาติคนนี้แม้จะมีกิจธุระมากมายแค่ไหนก็จะมาต้อนรับและสนทนาด้วยกันเสมอ แต่ครั้งนี้ดูเขาลงไปทำงานเองและไม่มีเวลาเลย ด้วยความอยากรู้พอมีโอกาส ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีงจึงถามเขาว่าจะจัดงานเพื่อต้อนรับใคร ญาติผู้นั้นได้กล่าวขอโทษที่ไม่มีเวลาให้ท่านและบอกว่าพรุ่งนี้พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุ500รูปจะมาฉันที่บ้าน

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีพอได้ฟังว่าพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้วเท่านั้นก็ดีใจ เกิดปีติเบิกบานและขอเป็นเจ้าภาพทั้งหมดแต่ก็ได้รับคำปฏิเสธโดยสุภาพ ในคืนนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนอนไม่หลับ ใจอยากพบพระพุทธเจ้าให้เร็วที่สุด ดังนั้นยังไม่ทันรุ่งสางท่านจึงเดินทางตรงไปยังประตูเมืองคนเดียวและขอร้องนายประตูเมืองว่าขอให้เปิดก่อนเวลาเพื่อท่านจะไปพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทราบเหตุการณ์แล้วด้วยพระญาณ จึงทรงเสด็จไปรออยู่กลางทางใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง ท่านเศรษฐีขณะเดินทางไปนั้นก็ยังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าหน้าตาเป็นอย่างไร

ในขณะนั้นเองท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เห็นรัศมีสว่างไสวสวยงามที่ต้นไม้ข้างหน้า ท่านเดินเข้าไปใกล้ก็ได้ยินเสียงดังกังวานออกมาว่า “มาเถิด สุทัตตะ” เท่านั้นเองท่านเศรษฐีก็ทราบได้ทันทีว่าท่านผู้นี้คือพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย ท่านเข้าไปกราบถวายความเคารพ หลังจากได้ทรงมีปฏิสันถารกับเศรษฐีพอสมควรแล้วท่านได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมนั้นอยู่ท่านก็มีปัญญาเห็นตาม เมื่อจิตใจท่านสงบพร้อมแล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงอริยสัจจ์4 ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันขณะนั้นเอง

หากเราพิจารณาเนื้อความของอนุปุพพิกถานี้จะเห็นว่าเป็นการสอนให้ทำความดีในระดับต้นๆก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นไประดับที่ละเอียดขึ้น ลุ่มลึกขึ้น การแสดงประโยชน์ของทานและศีลทำให้ท่านเศรษฐีสบายใจและหวังได้ว่าความดีที่ตนทำไว้แล้วนั้นจะส่งผลให้ตนเองในยามที่สิ้นชีวิตแล้วจะไปสวรรค์อย่างแน่นอน ซึ่งแม้คนในยุคปัจจุบันก็มีเป็นจำนวนมากที่คิดทำนองนี้ แต่เมื่อพระพุทธทรงแสดงธรรมต่อไปว่าแม้สวรรค์ก็ยังมีโทษอยู่ ยังไม่เที่ยงแท้ที่ควรจะยึดถือเป็นเป้าหมายของการทำความดีได้ ควรหาทางออกจากกามเพราะกามนั้นมีโทษมาก และเมื่อท่านเศรษฐีได้ฟังอริยสัจจ์4 ต่อไปอีกท่านจึงได้มีปัญญาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันซึ่งถึงแม้ว่ายังออกจากกามไม่ได้แต่จิตใจก็สบายเบาสบายมีความสุขขึ้นมาก

แม้ว่าคนเรายุคนี้ส่วนใหญ่ทำบุญแล้วอาจจะไม่ได้หวังไปไกลว่าจะได้ธรรมะอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตาม แต่การที่เราได้ทราบไว้ก่อนว่าสิ่งที่เป็นผลสูงสุดในการทำความดีในพุทธศาสนาเป็นอะไร ก็จะทำให้เราตั้งความปรารถนาได้ถูกต้องเหมือนมีแผนที่ในการเดินทาง เพราะเมื่อเริ่มเดินและเดินไม่หลงทางก็ต้องถึงเป้าหมาย คือความพ้นทุกข์สักวันอย่างแน่นอน

*---** คัดจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)

หมายเลขบันทึก: 596639เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2015 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2015 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท