จิตวิทยาเกี่ยวกับ "การร้องไห้"


การร้องไห้ ไม่ได้ทำให้อารมณ์ดีขึ้นเสมอไปอย่างที่หลายคนคิด แต่จะดีมากกว่านั้นเมื่อร้องไห้กับใครสักคนที่ช่วยปลอบใจและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่แท้จริง


เอ็มเอสเอ็นบีซี – นักวิจัยพบการร้องไห้ไม่ได้ช่วยระบายความอัดอั้นได้ทั้งหมด แนะทางที่ดีสร้างเครือข่ายสังคม เพื่อมีคนปลอบโยนและช่วยกันหาทางหลุดจากปัญหา

UploadImage


ก่อนหน้านี้ นักวิจัยพยายามค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการร้องไห้ ซึ่งได้ผลลัพธ์ต่างๆ นานา
หลังจากให้กลุ่มตัวอย่างนั่งดูหนังเศร้าในห้องแล็บ พบว่าการร้องไห้ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจเป็นไปได้ว่าสถานที่ไม่เอื้ออำนวย
การศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ขอให้อาสาสมัครนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้น้ำตาไหล กระนั้น การศึกษาย้อนหลังอาจไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริงได้ เนื่องจากเป็นความทรงจำที่คัดสรรออกมา และคนเราอาจจำไม่ได้ว่าการคร่ำครวญหวนไห้ในอดีตจริงๆ แล้วทำให้หัวจิตหัวใจห่อเหี่ยวกว่าเดิมหรือไม่
สำหรับการศึกษาฉบับล่าสุดที่ตีพิมพ์อยู่ในเจอร์นัล ออฟ รีเสิร์ช อิน เพอร์ซันแนลลิตี้ฉบับออนไลน์นั้น นักวิจัยได้ขอให้ผู้หญิงอายุ 18-48 ปีในเนเธอร์แลนด์ จดบันทึกเกี่ยวกับการร้องไห้และอารมณ์ในแต่ละวันนาน 2 เดือน
การทดลองนี้ไม่มีกลุ่มตัวอย่างผู้ชาย เนื่องจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างการร้องไห้กับรอบเดือนของผู้หญิง
ทุกคืน อาสาสมัครจะบันทึกอารมณ์ สิ่งที่กระตุ้นให้ร้องไห้ และหากสะอื้น ได้เช็ดน้ำตาหรือไม่ โดยที่จะมีการลงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเศร้าสร้อยแต่ละช่วง เช่น สาเหตุ ระยะเวลา และระดับความรุนแรงของการโหยไห้ สถานที่ที่ร้องไห้ มีคนอยู่ด้วยหรือไม่ และหลังจากนั้นรู้สึกอย่างไร
นักวิจัยได้รับรายงานการร้องไห้ 1,004 ครั้งและนำมาวิเคราะห์ ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าการร้องไห้แต่ละครั้งกินเวลาเฉลี่ย 8 นาที มักเกิดขึ้นในห้องนั่งเล่น ปกติแล้วจะมีใครอีกคนอยู่ด้วย สาเหตุที่ทำให้เสียน้ำตาที่พบมากที่สุดคือ ความขัดแย้ง การสูญเสีย การเห็นผู้อื่นทุกข์ทรมาน
สำหรับกรณีส่วนใหญ่คือ อาสาสมัคร 61% บอกว่าการร้องไห้สะอึกสะอื้นไม่ได้ทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับความรู้สึกก่อนทำนบน้ำตาแตก
“มีการร้องไห้เพียง 1 ใน 3 ที่เกี่ยวโยงกับอารมณ์ที่ดีขึ้น” โจนาธาน รอตเทนเบิร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย สรุป
การศึกษานี้พบหลักฐานน้อยมากที่บ่งชี้ผลแง่บวกทางจิตวิทยาจากการร้องไห้ แต่ที่น่าสนใจคือ อาสาสมัครที่สะอื้นรุนแรงที่สุด แต่ไม่ใช่ในระยะเวลานานที่สุด ได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการคร่ำครวญ หรือจะให้ตรงประเด็นคือ จากการเช็ดน้ำตา
“การร้องไห้ไม่ได้ดีต่ออารมณ์เหมือนที่หลายคนคิด” รอตเทนเบิร์กสำทับ
และแทนที่จะสนับสนุนให้ร้องไห้ รอตเทนเบิร์กบอกว่า ควรส่งเสริมให้คนเราสร้างเสริมเครือข่ายสังคมจะเหมาะสมกว่า
“การร้องไห้ช่วยได้ไม่ใช่เพราะน้ำตา แต่เป็นเพราะอาการนี้เรียกร้องการสนับสนุนจากคนรอบข้างได้ และดึงดูดความสนใจมายังปัญหาที่สำคัญ” รอตเทนเบิร์กอธิบาย

กระนั้น แม้การร้องไห้โดยมีคนอื่นอยู่ด้วยหมายถึงการปลอบใจและการช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่การร้องไห้ท่ามกลางคนมากกว่าหนึ่งอาจนำมาซึ่งความรู้สึกละอายในภายหลัง

คำสำคัญ (Tags): #การร้องไห้
หมายเลขบันทึก: 596458เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท