เศรษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง คือ อะไร

“เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ทางสายกลาง คำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ

เศรษฐกิจพอเพียง (อังกฤษ: sufficiency economy) เป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส แก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 และภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ได้ทรงเน้นย้ำเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจ และสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542

โดยทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 มีใจความดังนี้


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไป ในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัฒน์ ความพอเพียง หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัว ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน

ทั้งนี้จะต้องอาศัย ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจ ของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึก ในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานข้างต้น เป็นที่มาของ นิยาม "3 ห่วง 2 เงื่อนไข" ที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านช่องทางต่างๆ อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้ และ คุณธรรม"

ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสว่า

การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง

— พระราชดำรัส "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ยึดหลักทางสายกลาง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี) คำว่า ความพอเพียง นั้นหมายถึงความพร้อมที่จะจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ยังสามารถมองได้ว่าเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตให้มีความสุข ที่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ความรู้ ความเข้าใจ (รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง)ผนวกกับ คุณธรรม (ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน แบ่งปัน)ในการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงการประหยัด แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างชาญฉลาด และสามารถอยู่ได้ แม้นในสภาพที่มีการแข่งขัน และการไหลบ่าของโลกาภิวัต นำสู่ ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ของ ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ดังที่แผนภาพและการจัดแสดงในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่าทุกๆระดับจากประชาชนทุกฐานะไปจนถึงรัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้

อภิชัย พันธเสน ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ได้จัดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็น "ข้อเสนอในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวทางของพุทธธรรมอย่างแท้จริง" ทั้งนี้เนื่องจากในพระราชดำรัสหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายถึงเศรษฐกิจพอเพียงว่า "คือความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น" การดำรงชีวิตอยู่ได้ จำเป็นที่จะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญสี่ประการ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ซึ่งในโลกยุคทุนนิยมอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ปัจจัยทั้งสี่ไม่อาจจะหามาได้ถ้าปราศจาก เงิน ซึ่งถือว่าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการมาแต่นมนาน การได้มาซึ่งเงินนั้น จำเป็นที่บุคคลจะต้องประกอบสัมมาอาชีพ แล้วนำเงินที่ได้มานั้น ไปแลกเปลี่ยนให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต

ระบบเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้บุคคล สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างยั่งยืน และใช้จ่ายเงินให้ได้มานั้นซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังของเงินของบุคคลนั้นที่ได้มาจากการประกอบสัมมาอาชีพ โดยปราศการการกู้หนี้ยืมสิน และถ้ามีเงินเหลือ ก็แบ่งเก็บออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือผู้อื่นบางส่วน และอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน (ปัจจัยเสริมในที่นี้เช่น ท่องเที่ยว ความบันเทิง เป็นต้น) สาเหตุที่แนวทางการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ เพราะสภาพการดำรงชีวิตของสังคมในปัจจุบัน ได้ถูกปลูกฝัง หรือสร้าง หรือกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายอย่างเกินตัว ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเกินกว่าปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น การบริโภคเกินตัว ความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ ความสวยความงาม การแต่งตัวตามแฟชั่น การพนันหรือเสี่ยงโชค เป็นต้น จนทำให้ไม่มีเงินเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น สั่งผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมสิน เกิดเป็นวัฏจักรที่บุคคลหนึ่งไม่สามารถหลุดออกมาได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวทางในการดำรงชีวิต

ในแง่เศรษฐกิจมหภาค ดูเหมือนว่าระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง จะทำให้ระดับการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งถ้าดูจากหลักการแล้ว ก็มีส่วนถูกเนื่องจากประชาชนจะไม่กู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่าย แต่ในทางกลับกัน การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบนั้น เป็นกำลังการใช้จ่ายที่สะท้อนภาพจริงของเศรษฐกิจ อีกทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นไปอย่างเข้มแข็งถาวร

ปัญหาในการนำไปใช้

ปัญหาหนึ่งของการนำปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ก็คือ ผู้นำไปใช้อาจยังไม่ได้ศึกษาหรือไม่มีความรู้เพียงพอ ทั้งยังไม่วิเคราะห์หรือตั้งคำถาม เนื่องจากประเพณี. สมเกียรติ อ่อนวิมล เรียกสิ่งนี้ว่า "วิกฤตเศรษฐกิจพอเพียง"[1] คือ ความไม่รู้ว่าจะนำปรัชญานี้ไปใช้ทำอะไร กลายเป็นว่าผู้นำสังคมทุกคน ทั้งนักการเมืองและรัฐบาลใช้คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นข้ออ้างในการทำกิจกรรมใด ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าได้สนองพระราชดำรัสและให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อตัวเอง.

สมเกียรติเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิต ไม่ใช่ทฤษฎีเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลไม่สามารถนำปรัชญาในการดำเนินชีวิตมาเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจได้ หากจะเอามาใช้ต้องประกาศเป็นนโยบายวัฒนธรรมและสังคม ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ เพราะนโยบายเศรษฐกิจจะต้องมีรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มหรือลดทุน การพัฒนาการผลิต. สมเกียรติเห็นด้วยว่า ความไม่เข้าใจนี้ อาจเกิดจากการสับสนว่าเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้มีความเข้าใจว่า เศรษฐกิจพอเพียงหมายถึงการปฏิเสธอุตสาหกรรมแล้วกลับไปสู่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด.

ทฤษฎีใหม่ - New Theory

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง

(๑)

ถ้าพูดอย่างสรุปที่สุด เป็นวิธีปฏิบัติของเกษตรกร ที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย แปลงเล็ก (ประมาณ ๑๕ ไร่)

(๒)

หลักสำคัญ: ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวได้ (Self sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น

(๓)

มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปี โดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา ๕ ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี ข้อนี้เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้

(๔)

เพื่อการนี้ จะต้องใช้หลักว่า ต้องมีน้ำ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ฉะนั้น ๕ ไร่ต้องมี ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ละแปลง (๑๕ ไร่) ทำนา ๕ ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผล ฯลฯ ๕ ไร่ (= ๑๐ ไร่) จะต้องมีน้ำ ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงได้ตั้งสูตรคร่าวๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วย นา ๕ ไร่และพืชไร่และสวน ๕ ไร่ สระน้ำ ๓ ไร่ ลึก ๔ เมตร จุประมาณ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร (๑๙,๒๐๐) ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ๒ ไร่ รวมทั้งหมด ๑๕ ไร่

(๕)

อุปสรรคสำคัญที่สุดคือ: อ่างเก็บน้ำหรือสระ ที่ได้รับน้ำให้เต็มเพียงปีละหนึ่งครั้ง จะมีการระเหยวันละ ๑ เซนติเมตร โดยเฉลี่ย ในวันที่ฝนไม่ตกหมายความว่า ในปีหนึ่งถ้านับว่าแห้ง ๓๐๐ วัน ระดับน้ำของสระจะลดลง ๓ เมตร (ในกรณีนี้ ๓/๔ ของ ๑๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร น้ำที่ใช้ได้จะเหลือ ๔,๗๕๐ ลูกบาศก์เมตร) จึงจะต้องมีการเติมน้ำเพื่อให้เพียงพอ มีความจำเป็นที่จะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม สำหรับโครงการวัดมงคลชัยพัฒนา ได้สร้างอ่างเก็บน้ำจุ ๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร สำหรับเลี้ยง ๓,๐๐๐ ไร่

(๖)

ลำพังอ่างเก็บน้ำจุ ๘๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร จะเลี้ยงได้ ๘๐๐ ไร่ (โครงการวัดมงคล มีพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ แบ่งเป็น ๒๐๐ แปลง) อ่างนี้จึงเลี้ยงได้ ๔ ไร่ต่อแปลง ลำพังสระในแปลงเลี้ยงได้ ๔.๗๕ ไร่) จึงเห็นได้ว่า หมิ่นเหม่มาก (๔.๗๕ ไร่ + ๔.๐๐ ไร่ = ๘.๗๕ ไร่) ถ้าคำนึงว่า ๘.๗๕ ไร่นั้น จะทำเกษตรกรรมอย่างสมบูรณ์ได้อีก ๖.๒๕ ไร่ จะต้องอาศัยเทวดาเลี้ยง แต่ถ้าคำนึงว่า ในระยะที่ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้น้ำ หรือมีฝนตก น้ำฝนที่ตกมาจะเก็บไว้ได้ในอ่างและในสระสำรองไว้สำหรับเมื่อต้องการ อ่างและสระจะทำหน้าที่เฉลี่ยน้ำฝน (regulator) จึงเข้าใจว่าในระบบนี้น้ำจะพอ

(๗)

ปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่ง คือราคาการลงทุนค่อนข้างสูง เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากภายนอก (ทางราชการ ทางมูลนิธิและทางเอกชน) แต่ค่าดำเนินการไม่สิ้นเปลืองสำหรับเกษตรกร

ทฤษฎีใหม่
มูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่สอง

เมื่อตั้งศูนย์บริการ ที่วัดมงคลชัยพัฒนา และแปลงตัวอย่างที่ "ทางดิสโก้" สำเร็จแล้ว เกษตรกรก็เริ่มเข้าใจวิธีการ จึงขอให้ดำเนินการในที่ดินของตน เมื่อได้ผลก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงใน

(๑)

การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)

(๒)

การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)

(๓)

การเป็นอยู่ (กะปิน้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)

(๔)

สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)

(๕)

การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)

(๖)

สังคมและศาสนา

ด้วยความร่วมมือของหน่วยราชการ มูลนิธิและเอกชน

ทฤษฎีใหม่
มูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่สาม

ติดต่อร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน (บริษัทน้ำมัน) ตั้งและบริหารโรงสี (๒) ตั้งและบริหารร้านสหกรณ์ (๑, ๓) ช่วยการลงทุน (๑, ๒) ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต (๔, ๕, ๖) ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกร และ ฝ่ายธนาคารกับบริษัทจะได้รับประโยชน์

- เกษตรกรขายข้าวในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา) ธนาคารกับบริษัทซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกร และมาสีเอง) : (๒) - เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคในราคาต่ำ (เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง) : (๑, ๓) - ธนาคารกับบริษัท จะสามารถกระจายบุคลากร

ทฤษฎีใหม่
มูลนิธิชัยพัฒนา
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

คำสำคัญ (Tags): #แนวทางพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 596433เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท