ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๑๖. ชีวิตคืออะไร



ภาพยนตร์ documentary ๕ ตอน ชุด What is Life ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Wonders of Life ให้ความงามของธรรมชาติ และความรู้ว่าด้วยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิต

เขาไม่ได้อธิบายเรื่องชีวิตทื่อๆ ตรงๆ แต่พาไปอธิบายที่โน่นที่นี่ เหมือนผู้ชมได้เที่ยวไปด้วย หลายที่มีความสวยงาม หรือมีความแปลกใหม่ตามธรรมชาติ ผมสังเกตว่า เขาหลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิค หรือคำที่เป็นวิชาการ เน้นอธิบายด้วยภาพ หรือเรื่องราวในชีวิตจริง

สามารถมองชีวิตได้หลายแง่หลายมุม ในมุมหนึ่งชีวิตคือความสามารถในการสื่อสาร ที่กลไกพื้นฐานคือกระแส ไฟฟ้า ที่ใช้กลไกเดียวกันตั้งแต่สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น Paramecium ขึ้นมาจนถึงมนุษย์

นอกจากนั้น สิ่งมีชีวิตยังสืบต่อพืชพันธุ์ของแต่ละชนิดด้วยกลไกเดียวกัน คือดีเอ็นเอ

ปฐมฐานของการเกิดชีวิต เริ่มที่ดาวฤกษ์ เมื่อ ไฮโดรเจน และฮีเลียมรวมตัวกันเกิดเป็นอะตอมของ คาร์บอน ในมุมมองหนึ่ง วงจรชีวิตบนพื้นโลก เป็นวงจรคาร์บอน ดูหนังชุดนี้ที่ผู้นำเสนอเป็นศาสตราจารย์หนุ่มสาขาฟิสิกส์ (Prof. Brian Cox) นำเสนอวงจร คาร์บอน แล้ว ผมนึกถึงตอนไปชมพิพิธภัณฑ์ Science Museum ที่ลอนดอน ที่บันทึกไว้ ที่นี่

วงจรคาร์บอนเริ่มจากพืชสังเคราะห์แสง วัตถุดิบคือคาร์บอนไดอ็อกไซต์และน้ำ สังเคราะห์ได้แป้ง (และปล่อยอ็อกซิเจนให้แก่สัตว์) เอาไปเป็นพลังงานสร้างโปรตีน ไขมัน ฯลฯ สัตว์กินพืช และหายใจปล่อยคาร์บอน ไดอ็อกไซด์ให้แก่พืช

เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นการทดลองง่ายๆ ที่แสดงให้เห็น cosmic rays ที่ตกมายังพื้นโลก มันมากจนน่าตกใจ เขาอธิบายว่า นั่นคือสาเหตุของ mutation ในดีเอ็นเอ ที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการมาสู่คน

ผมชอบวิธีตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบโดยการถ่ายภาพยนตร์และอธิบายเป็นขั้นตอนง่ายๆ ให้เราเรียนรู้ อย่างตอนที่ ๔ เป็นเรื่องขนาดของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตคนละขนาด อยู่ในโลกใบเดียวกัน แต่อยู่ในโลกของการรับรู้แตกต่างกัน

ตอนที่ ๕ เป็นตอนสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องแสงอาทิตย์ กับระดับของรังสี ยูวี ที่เป็นพิษต่อเซลล์ สิ่งมีชีวิตจึงต้อง ป้องกันตัวด้วยเม็ดสีเมลานิน เขาพาเราไปอธิบายถึงพื้นที่สูงในเม็กซิโก เหมือนได้เที่ยวไปเรียนไป เขาพาไปเที่ยวถ้ำ ที่ไม่มีอ็อกซิเจน มีแต่ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ที่ผนังถ้ำมีแบคทีเรียโบราณอาศัยอยู่ จากนี้ เขาพาไปรู้จักแบคทีเรียโบราณ ที่เรียกว่า cyanobacteria ที่สังเคราะห์แสงได้ด้วยเม็ดสีเขียวอมน้ำเงิน ในกระบวนการที่เรียกว่า oxygenic photosynthesis ผมเพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ทั้งๆ ที่กระบวนการนี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ ๓.๔ พันล้านปีมาแล้ว ก่อนมีการสังเคราะห์ แสงด้วย คาร์บอนไดอ็อกไซด์

เขาชี้ให้เห็นว่า ชีวิตเริ่มต้นแบบง่ายๆ แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการ มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เป็นอย่างในปัจจุบัน

ขอขอบคุณ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่จัดหาภาพยนตร์ documentary ชุดนี้ให้ผม ให้ความสำราญและความรู้ ยิ่งนัก



วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596244เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท