ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๑๔. ระบบรางวัล



วันนี้ยังวนเวียนอยู่กับสมองต่อจากเมื่อวาน แต่เป็นคนละระบบ คือเมื่อวานเป็นระบบ การงอกใหม่ของเซลล์สมอง เฉพาะที่สมองส่วนความจำ และการรับรู้เรื่องราว แต่วันนี้จะบันทึกเรื่องระบบรางวัล (Reward System) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศูนย์ความหฤหรรษ์ (Pleasure Center) ที่นำไปสู่การเสพติด

เช้าวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๘ ผมนัด อ. ดร. ประภาพรรณ จูเจริญ นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง มาคุยว่าในช่วง ๓ ปี ท่านทำงานอะไรบ้าง ท่านอ้างอยู่เรื่อยว่า เดิมท่านทำงานวิจัยอยู่ในห้องปฏิบัติการ การได้คุยกับผมทำให้ท่านกระโดด ผลุงออกจากห้องปฏิบัติการ ออกมาทำงานทางด้าน bio – psycho – social ว่าด้วยระบบรางวัลของสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเสพติด และความยับยั้งชั่งใจเรื่องเพศในวัยรุ่น โดยออกไปเป็นกรรมการ และเป็นวิทยากรฝึกอบรม ความรู้เรื่องดังกล่าว

สิ่งที่ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้เกิดการหลั่ง Dopamine อย่างรวดเร็วและมาก ในสมอง ทำให้สมองรู้สึกว่า ได้รับรางวัล และอยากได้อีก นี่เป็นคำอธิบายแบบทำให้ง่ายสุดๆ คือกลไกจริงๆ มีความซับซ้อนกว่านี้มาก

ผมถาม ดร. ประภาพรรณว่า สาร Dopamine นี้ใช่ไหม ที่มีการหลั่งตอนคนหรือสัตว์ถึงจุดสุดยอดตอนร่วมเพศ (orgasm) เธอตอบว่าใช่ และนี่คือเหตุผลที่เมื่อวัยรุ่นได้ลองก็จะติดใจ และอยากได้อีก และเป็นความรู้ที่เธอนำ มาใช้ฝึกอบรมครูพี่เลี้ยงของเด็กวัยรุ่น เพื่อป้องกันสภาพ “ท้อง แท้ง ทิ้ง” คือฝึกให้รู้จักหักห้ามใจ ไม่ปล่อยตัวให้ล่องลอย ไปตามใจอยาก คือให้อยู่ภายใต้การกำกับโดย EF มากกว่า

ผมเคยอ่านจากหลายที่ รวมทั้ง ที่นี่ ว่าการทำสมาธิภาวนา มีการหลั่งสารสื่อประสาท รวมทั้ง Dopamine ออกมา ทำให้มีความสุข และผมเชื่อว่าปิติที่เกิดจากการทำงานที่เป็นประโยชน์ หรือทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็ทำให้มีการหลั่งสาร Dopamine และสารสื่อประสาทอื่นๆ ด้วย

ระบบรางวัลภายในสมอง มีความซับซ้อน คนเราต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง ให้หลุดพ้นจากระบบ รางวัลตามธรรมชาติ คือ กิน กาม เกียรติ ออกสู่ระบบรางวัลที่ผ่านการฝึกฝนแล้ว ได้แก่ การออกกำลังกาย การปฏิบัติโยคะ การปฏิบัติสมาธิภาวนา การทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น

ออกจากระบบรางวัลของสัตว์ สู่ระบบรางวัลของมนุษย์ (ที่มีจิตใจสูง) ที่ฝึกแล้ว

ดร. ประภาพรรณ ได้เขียนบันทึก หลังการเสวนาของเรา ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596228เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท