วิชาภาวะผู้นำ : ว่าด้วยคุณธรรมจริยธรรมผู้นำนิสิต (ภาคทฤษฏีกึ่งกระบวนการ)


ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในระบบการเรียนการสอน แต่เท่าทีเฝ้าสังเกตการบรรยายเพื่อสร้างการเรียนรู้ของ ผศ.ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล ในรายวิชาภาวะผู้นำ คืออีกหนึ่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่การจ่อมจมกับความรู้ภาคทฤษฎี หากแต่พยายามสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบมีส่วนร่วมอย่างน่าชื่นใจ... ไม่ใช่สื่อสารทางเดียวให้จบๆ ชั่วโมงไป-

การบรรยายเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรมของผู้นำนิสิต” ในรายวิชา “ภาวะผู้นำ” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล เป็นอีกประเด็นที่สำคัญมาก เพราะเราถือว่าการมีคุณธรรม คือตัวชี้วัดหนึ่งของการเป็น “ผู้นำ” ที่มี “ภาวะผู้นำ”


ต้นชั่วโมงหลังการแจก “ใบงาน” ทีมกระบวนกรเปิดวีดีทัศน์เรื่อง “นิทานความรับผิดชอบ” ให้นิสิตได้ดูได้ชมกันอย่างเรียบง่าย ซึ่งเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่เคยถูกนำไปใช้ประกอบการเรียนรู้ในวิชาการพัฒนานิสิต โดยหลักๆ แล้วส่วนใหญ่เรามักผูกปมประเด็นคุณธรรมจริยธรรมที่หลอมรวมอยู่กับเรื่องครอบครัว และความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่มีต้องสถานะของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วัยรุ่น” ที่มีสถานะของการเป็นบุตร-นักเรียน-คนรัก หรือกระทั่งคนแห่งความคาดหวงของสังคม-





เมื่อเสร็จสิ้นการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์แล้ว ก็เข้าโหมดการบรรยายให้ความรู้ในประเด็นคุณธรรมจริยธรรมของผู้นำนิสิต ซึ่ง ผศ.ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล คือผู้รับผิดชอบหลักในการมาบรรยาย หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับนิสิต

เป็นที่น่าสังเกตว่า การบรรยาย หรือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของ ผศ.ศุภวุฒิฯ ยังคงเรียบง่าย หรือง่ายงามเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่วกวน – ซ้ำซ้อน- ยืดยาด และซ่อนปมอะไรมาก แถมยังชี้ชวนให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้คิดตามเป็นระยะๆ รวมถึงการใช้เวลาอันพอเหมาะพอควรที่จะสร้างการเรียนรู้กับนิสิต –

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบประเด็นเกี่ยวกับ “สังคหวัตถุ 4” เป็นพิเศษ เพราะถือเป็น “คุณธรรมจริยธรรม” ที่ผู้นำนิสิตพึงมีเป็นอย่างยิ่ง (เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ) เพราะดูเหมือนจะใกล้ตัว หรือใกล้ชิดกับนิยามความเป็นผู้นำของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่แพ้คุณธรรมประเภทอื่นๆ ซึ่งสังคหวัตถุ 4 เริ่มต้นจากการเป็น “ผู้ให้” (ทาน) หรือ ทำตนให้เป็นประโยชน์ (อัตถาจริย) ที่ล้วนแล้วแต่ร้อยรัดกับนิยามของการเป็นอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) หรือจิตสาธารณะ (จิตสำนึกทาสังคม)

  • ทาน (giving offering) คือ การให้ เสียสละ แบ่งปันแก่ผู้อื่น เช่น การให้รางวัล สวัสดิการที่ดี
  • ปิยวาจา (Kindly speech) คือ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ นุ่มนวล เหมาะแก่บุคคล เวลา สถานที่ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในทางสร้างสรรค์ และเกิดกำลังใจ เช่น การควบคุม การจูงใจ
  • อัตถจริยา (useful conduct) ทำตนให้เป็นประโยชน์ ตามกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ กำลังทรัพย์ และเวลา เช่น การพัฒนาคน การบริหารงานตามวัตถุประสงค์
  • สมานัตตตา (even and equal treatment) คือ ทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย วางตนเหมาะสมกับ ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุข เช่น การสื่อสาร การมอบอำนาจ

นอกจากนั้นผมยังชื่นชมกับการหยิบยก “อคติ 4” (Prejudice) ที่ผมมักพูดเสมอว่าคือ “หลุมดำ” (ไม่ควรประพฤติ) ที่ผู้นำนิสิต หรือกระทั่งผู้นำในระดับเราๆ ท่านๆ ต้องข้ามพ้น หรือกระโจนขึ้นมาให้จงได้ เพราะ “ความลำเอียง” ล้วนเป็นบทล่มสลายของการอยู่ร่วมกัน หรือบทล่มสลายของการเป็น “ผู้นำ” ที่ละข้ามไม่ได้จริงๆ เพราะประเด็นนี้สัมพันธ์กับเรื่องเล่าที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อนในประเด็น จริงจัง จริงใจ และ คิดเรื่องงาน (49) : หัวใจแห่งการเป็นผู้ให้ 3 ประการ

  • ฉันทาคติ (prejudice caused by love or desire) ลำเอียงโดยสนับสนุนพรรคพวก
    ที่ชอบพอ หรือผู้จ่ายสินจ้างแก่ตน
  • โทสาคติ (prejudice caused by hatred or enmity) ลำเอียงเข้าข้างหรือลงโทษฝ่ายที่ตนเกลียดชังให้หนักกว่าฝ่ายที่ตนชอบพอ
  • โมหาคติ (prejudice caused by delusion or stupidity) ลำเอียงเสียความยุติธรรมเพราะโฉดเขลา ไม่รู้ทันเหตุการณ์ที่แท้จริง
  • ภยาคติ (prejudice caused by fear) ลำเอียง เพราะเกรงอำนาจอิทธิพลหรือกลัวจะขาดผลประโยชน์

การบรรยายของ ผศ.ศุภวุฒิฯ ฟังดูเหมือนบรรยายจริงๆ แต่ยืนยันตรงนี้เลยว่าไม่ใช่การบรรยายภาคทฤษฎีเสียทั้งหมด หากแต่เป็นการเรียนรู้ในแบบกระบวนการ หรือเรียกว่า “กึ่งกระบวนการ” ก็ไม่ผิด เพราะมีการคั่นเวลาจากทฤษฎีสู่การเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้ “คิดเอง” ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ นั่นก็คือการนำคลิป-วีดีทัศน์มาให้นิสิตได้ดูชมร่วมกันสองเรื่อง คือ แรด Monkey Two และ ทฤษฎีฝูงห่าน

- ผมว่านี่แหละคือการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพราะไม่ติดยึดกับการบรรยายเสียทั้งหมด ทว่าสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านสื่อรอบตัว ทั้งในระดับบุคคลและทีมไปอย่างน่าชื่นชม




และที่ผมชอบมากอีกประเด็นก็คือเรื่อง การเคารพในศักดิ์ศรีผู้อื่น เสมอเหมือนหลักคิด “มนุษย์นิยม” รวมถึงหลักธรรมาภิบาล” ( Good Governance) และหลักแห่ง “ความโปร่งใส” ที่ผู้นำควรต้องตระหนักรู้ เนื่องเพราะนี่คืออีกหนึ่งหลักธรรมที่ผู้นำควรรู้-พึงรู้-ตระหนักรู้กับสถานะที่ต้อง “บริการและจัดการ” องค์กร อันหมายถึงการบริหารคน บริหารงานอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ทั้ง “งานและคน” ไปพร้อมๆ กัน มิใช่ได้งาน แต่ “คน” (ขุนพล) ตายเรียบ !ประกอบด้วยหลักคิดสำคัญๆ คือ

  • หลักคุณธรรม
  • หลักนิติธรรม
  • หลักความโปร่งใส
  • หลักความมีส่วนร่วม
  • หลักความรับผิดชอบ
  • หลักความคุ้มค่า




แน่นอนครับ- ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในระบบการเรียนการสอน แต่เท่าทีเฝ้าสังเกตการบรรยายเพื่อสร้างการเรียนรู้ของ ผศ.ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล ในรายวิชาภาวะผู้นำ คืออีกหนึ่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่การจ่อมจมกับความรู้ภาคทฤษฎี หากแต่พยายามสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบมีส่วนร่วมอย่างน่าชื่นใจ... ไม่ใช่สื่อสารทางเดียวให้จบๆ ชั่วโมงไป-

ใช่ครับ- บรรยายไปพรางๆ ตั้งประเด็นชวนพูด ชวนคิดไปพรางๆ แถมยังเปิดคลิป/วีดีทัศน์ให้ดูเพื่อให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้ถอดรหัสความรู้จากสื่อเหล่านั้น

นี่คือสไตล์ “บันเทิงเริงปัญญา” ในแบบฉบับวิชา “ภาวะผู้นำ” วิชาที่แตกหน่อก่อร่างมาจากวิชา “การพัฒนานิสิต” ในหมวดศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เสียดายก็แต่ ไม่ใช่วิชาบังคับเลือกเท่านั้นเอง – 555555555555555555555


หมายเหตุ

1.ภาย โดย ทีมกระบวนกร และนิสิตจิตอาสา กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2.ผศ.ศุภวุฒิ โมกข์เมธากุล (สังกัดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และหนึ่งในคณะทำงานวิชาพัฒนานิสิตในยุคเริ่มต้น)

หมายเลขบันทึก: 595667เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2015 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีทีมทำงานที่ครบขั้นตอนและกระบวนการ

ชอบใจการทำงานและการถ่ายทอดความรู้

รออ่านหนังสือชุดนี้เลยครับ

ใช่ครับ กำลังคิดเหมือนกันครับอาจารย์ขจิตฯ กำลังคิดที่จะเขียนหนังสือ เผื่อใครๆ ได้ประยุกต์ใช้ เพราะนี่คือการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่เป็นกระบวนการ ไม่ใช่บรรยายและจดๆๆๆๆๆ....

เรียนแบบ บันเทิง เริงปัญญา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท