​Universal Design…การออกแบบที่ใจดี ตอนที่ 3


ถัดจากการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Universal Design แล้ว คุณซาโตชิก็พามวลหมู่ผู้ที่สนใจการออกแบบ Product Design ในแบบ UD มาร่วม Workshop กัน ก่อนเริ่มกิจกรรม Workshop คุณซาโตชิ ได้บอกถึงวัตถุประสงค์การ Workshop ในครั้งนี้ว่า จะเน้นเรื่องของ “กระบวนการคิดเพื่อการออกแบบ (Process of Design Thinking)” เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากไป หากเราคิดจะออกแบบผลิตภัณฑ์อะไรออกมาแล้วจะมีประโยชน์แค่ให้คนคนเดียวได้ใช้

แนวคิดหลักของ UD ที่คุณซาโตชิพยายามเน้นย้ำอยู่เสมอคือ เรื่องของ “การทำความเข้าใจคนอื่น” โดยเริ่มจากการเล่าประสบการณ์การออกแบบตะเกียบ ที่ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มอาการโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เวลาใช้ตะเกียบคีบอาหารจะทำไม่ได้สะดวก เช่น ผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาฯต้องใช้เวลาในการฝึกใช้ตะเกียบแบบที่คนทั่วไปใช้นานถึง 3 ปี กว่าจะจับตะเกียบได้ แต่ลักษณะการใช้จะเป็นการ “จิ้ม” อาหารมากกว่าการ “คีบ” อีกทั้งยังต้องมีการพึ่งพาผู้อื่นในการเอาก้างออกจากอาหารให้ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างยังไม่ได้รับความสะดวกจากอุปกรณ์ในการกิน ทีมงานคุณซาโตชิก็ได้ลงมือออกแบบตะเกียบแบบใหม่ๆ ออกมาอีกหลายชุด แต่ละชุดหน้าตาจะเริ่มไม่ค่อยเหมือนตะเกียบ จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้บริโภคตัวอย่าง เนื่องจากพวกเขา “ต้องการจะใช้อุปกรณ์ที่หน้าตาเหมือนคนปกติทั่วไป” อันนี้จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ทีมงานต้องกลับมาให้ความสำคัญและเริ่มออกแบบใหม่ จนกระทั่งได้ตะเกียบที่รูปร่างหน้าตาคล้ายที่คนทั่วไปใช้ เพียงแต่มีดีไซน์บริเวณด้ามจับ ที่ช่วยให้คนมีอาการของโรคทางเส้นประสาทที่มือ สามารถจับตะเกียบได้ถนัดมากขึ้น งานออกแบบตะเกียบชิ้นนี้ต่อมาได้รับการพัฒนาต่อจนกระทั่งสายการบิน JAL ของญี่ปุ่น ได้นำแบบตะเกียบดังกล่าวไปใช้บนเครื่องบินในชั้น First Class และตะเกียบนี้ก็ได้รับรางวัล Good Design Awards ปี 2008 นี่จึงเป็นบทสรุปว่า การออกแบบอะไรก็ตาม ให้เริ่มจากการคิดให้คนเพียงคนเดียวใช้งานของสิ่งนั้นได้สะดวกก่อน จากนั้นจึงค่อยพัฒนาและนำมาสู่การใช้งานจริงที่ให้คนหลากหลายได้ใช้งานด้วย นี่จึงจะเรียกว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของการออกแบบ UD

สิ่งสำคัญของการออกแบบสิ่งของเครื่องใช้โดยอาศัยแนวคิด UD ก็คือ การทำความเข้าใจ ค้นหามุมมองของผู้ใช้งานจริง โดยคนออกแบบต้องเข้าใจ Insight ของผู้ใช้งานให้มากๆ (Insighting User) จากนั้นจึงค่อยพัฒนาให้ของชิ้นนั้นดูดี สวยงาม เก๋ และใช้งานง่าย (Design follow function)

กิจกรรม Workshop ที่จะทดลองออกแบบในครั้งนี้ คุณซาโตชิได้พยายามให้ทุกคนได้ลองเป็นผู้มีปัญหาด้านการขยับมือเพื่อที่จะหยิบช้อนตักอาหาร โดยได้ให้แต่ละคนได้ลองใช้เทปกาวพันนิ้วชี้และนิ้วโป้งให้ติดกัน และพันนิ้วที่เหลืออีกสามนิ้วให้ติดกันเช่นกัน จากนั้นให้ลองจับปากกาเขียนชื่อ หรือให้ลองหยิบช้อนทั่วไป จะพบว่า มันหยิบสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้ง่ายเลย (ต้องเปลี่ยนวิธีหยิบจับสิ่งของ จึงจะหยิบจับของเหล่านั้นขึ้นมาใช้งานได้) วิธีการนี้ช่วยให้นักออกแบบเข้าใจวิถีการใช้งานของกลุ่มผู้บริโภคที่มีอาการเกี่ยวกับโรคเส้นประสาทที่ทำให้นิ้วมือติดยึด ขยับลำบาก การที่ให้เรา (ผู้เป็นนักออกแบบ) ได้ทดลองที่จะเป็นผู้บริโภคที่มีอาการเช่นนั้น มีเพียงเหตุผลเดียวก็คือ ในบางครั้งผู้บริโภคที่ประสบปัญหาอาการดังกล่าว ก็ไม่สามารถที่จะบอกสิ่งที่พวกเขาต้องการออกมาได้ทั้งหมด (เพราะความรู้สึกบางอย่าง มันยากที่จะอธิบาย ถ้าไม่ได้ประสบเอง) การจำลองสถานการณ์ให้เราเข้าใกล้กับกลุ่มผู้บริโภคที่เราจะออกแบบสิ่งของให้ จึงจำเป็นมาก เพราะจะช่วยให้เรานึกถึงอารมณ์และความรู้สึกที่ผู้ป่วยเหล่านั้นกำลังประสบปัญหาได้ชัดเจนขึ้น และอาจนำมาสู่การออกแบบที่มากเกินกว่าที่ผู้บริโภคเหล่านั้นจะสามารถเอ่ยกล่าวบอกเล่าออกมาได้

โจทย์ในการ Workshop ครั้งนี้คือการออกแบบช้อนให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเส้นประสาทที่มือ ทำให้ขยับมือไม่ได้มากนัก แต่ละกลุ่ม (ที่เป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์) ได้ออกแบบช้อนในลักษณะต่างๆ กันได้อย่างน่าสนใจ อาทิ การใช้แนวคิด “เขื่อน” ในการออกแบบช้อน เพราะมองว่า ผู้ป่วยจะขยับช้อนตักน้ำแกงได้ลำบาก จึงออกแบบให้ปลายช้อนงุ้มขึ้น มีลักษณะเหมือนเขื่อน เวลาตักน้ำแกงจะได้ไม่หก และเวลาทานก็ให้ทานจากด้านข้างช้อนแทน ทำให้การกินสะดวกขึ้น หรือการใช้แนวคิดที่ทำให้ด้านช้อนเป็นรูปสัตว์ (ผู้ร่วมกิจกรรมท่านนี้ ปั้นเป็นรูปแพะที่ด้ามช้อน) ซึ่งทำให้ช้อนมีลักษณะสูงขึ้น ทำให้หยิบจับได้ง่ายไม่แบนติดกับโต๊ะ เป็นต้น ซึ่งการดีไซน์ช้อนรูปทรงใหม่ๆ นี้ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงในการช่วยกันคิดและลองพัฒนาต้นแบบ (Prototype) มาทดลองใช้กันและแชร์ไอเดีย ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย

ในตอนท้ายคุณซาโตชิได้สรุปกระบวนการออกแบบไว้อย่างเป็นกระบวนการคือ ให้เริ่มจากการสังเกตการณ์แบบกลุ่ม (Group Observation) > จากนั้นทำการบันทึกด้วยรูปแบบใดก็ได้ จะเป็นการเขียน การวาด ฯลฯ > นำแต่ละข้อประเด็นมาพิจารณาเป็นกลุ่ม (Group Thinking) > พัฒนาจนเกิดเป็น Idea (Sketch the Concept) > ทดลองใช้งาน Test > พัฒนาเป็นต้นแบบ (Prototype) ก่อนนำไปพัฒนาให้ถึงขั้นผลิตที่ใช้งานจริงได้

การทดลองเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการประเภทต่างๆ / ทดลองเป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เป็นอัมพฤกษ์บางส่วน


หมายเลขบันทึก: 595363เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2015 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2015 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท