Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กม.การทะเบียนราษฎรมีขอบเขตเพื่อจดทะเบียนคนเกิด/คนอยู่/คนตายเท่านั้น !!!


หลักคิดเรื่องขอบเขตการปรับใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153654136608834

-----------

คำบ่นนำ

-----------

เรื่องบางเรื่องมันคงมิใช่ความคิดเห็น แต่มันเป็นหลักกฎหมายนะคะ ในเรื่องของการปรับใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎณก็เช่นกัน เราพบว่า โดยทางปฏิบัติของนานารัฐ รัฐในประชาคมระหว่างประเทศจะใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรในการจดทะเบียนคนเกิด/คนอยู่/คนตายในประเทศนั้น และเพื่อการจดทะเบียนคนเกิด/คนตายในต่างประเทศแก่ราษฎรที่มีสิทธิอาศัยของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร

-------------------------

ข้อยืนยันจากงานวิจัย

-------------------------

ผู้เขียนในฐานะนักวิจัย มีเรื่องอยากยืนยันความเข้าใจในการปรับใช้หลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรใน ๓ ประการหลัก

ในประการแรก ผู้เขียนอยากจะยืนยันข้อค้นพบว่า นานารัฐในประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงรัฐไทย มีทางปฏิบัติที่จะใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรเพื่อจดทะเบียนคนที่เกิดในประเทศไทย หรือคนที่เกิดในต่างประเทศจากบุพการีที่มีสถานะเป็นราษฎรไทยที่มีสิทธิอาศัยถาวร การจดทะเบียนคนที่ไม่เกิดในประเทศไทยจึงไม่น่าจะทำได้

ในประการที่สอง ผู้เขียนอยากจะยืนยันข้อค้นพบว่า การจะเอากฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไปใช้จดทะเบียนคนอยู่แก่คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ หรือตั้งบ้านเรือนอยู่ในดินแดนของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร ก็คงไม่ได้ เราพบว่า รัฐไทยใช้ "ทะเบียนบ้าน" ในการจดทะเบียนคนอยู่ที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย นอกจากนั้น รัฐไทยใช้ "ทะเบียนประวัติ" ในการจดทะเบียนคนอยู่ที่ไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ในสถานการณ์สองนี้

จากการทำงานวิจัย เราพบว่า รัฐไทยจึงไม่อาจใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในการสำรวจกับจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่คนที่ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย แม้ว่า พวกเราเหล่านั้นจะประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง หรือแม้ปัญหาความเสมือนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง แต่เราก็พบว่า รัฐไทยใช้กฎหมายไทยว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในการบันทึกคนดังกล่าว อาทิ เราพบทะเบียนประวัติของคนโรฮิงญา หรือคนฮุยเกอร์ ในการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในทางกลับกัน รัฐไทยก็คงจะปฏิเสธที่จะใช้กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่คนไร้รัฐที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย แม้จะฟังไม่ได้ว่า มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทย

ในประการที่สาม ผู้เขียนพบว่า การจะเอากฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไปใช้จดทะเบียนคนตายแก่คนที่ไม่ได้ตายในดินแดนของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร หรือไม่ใช่ราษฎรไทยที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ก็คงจะไม่ถูกต้อง

-----------

คำบ่นส่งท้าย

-----------

ผู้เขียน ซึ่งทำงานวิจัยด้านการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในประเทศไทยมายาวนานตามสมควร จึงมีข้อยืนยันว่า กฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นกฎหมายที่นานารัฐสมัยใหม่ใช้ในการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) การจดทะเบียนคนเกิด (๒) การจดทะเบียนคนอยู่ และ (๓) การจดทะเบียนคนตาย

ในกรณีที่ปรากฏที่มีคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลในประเทศไทย แต่ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยนั้น ประเทศไทยก็ยังมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายแก่คนในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐในการรับรองสถานะ “คนอยู่ในประเทศไทย” แก่มนุษย์ในสถานการณ์ดังกล่าว เพราะพวกเขาไม่มีข้อเท็จจริงว่า อาศัยอยู่ในประเทศไทย

การทำหน้าที่รับรองสิทธิในเอกสารรับรองตัวบุคคลที่รัฐไทยทำแก่คนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทยจึงต้องใช้กฎหมายไทยว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน มิใช่กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

หมายเลขบันทึก: 595333เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2015 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2015 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

People are born. It is a matter of circumstance where, when, to which family and to which country they are born. By law, by (human) rights or by their own choosing people may/can be 'members' of one or more (legal) 'sets' (communities, associations, religions, nations,...). Is this really important for people, countries, ...? Is is a matter of "cost and benefit" (people mat want to belong to organization(s) that provide "best" cost/benefit to them)? Would "laws" include considerations for cost/benefit to the country after/before cost/benefit to the people?

I get lost in "legal" thinking, and now waiting for you to show lights on the subject ;-)

Thank you.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท