จีนกับไหม...มุ่งขายเรื่องราวและนวัตกรรม


จีนกับไหม...มุ่งขายเรื่องราวและนวัตกรรม

สำนักวิจัยและพัฒนาหม่อนไหม กรมหม่อนไหม จับมือคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนสมัยที่ 21 (21st Session of the Sino-Thai Scientific and Technical Cooperation) กับมหาวิทยาลัยการเกษตร อันฮุย (Anhui Agricultural University) เรื่อง “การเพาะเห็ดถั่งเฉ้าบนหนอนและดักแด้ไหม (Cordyceps Cultivation on Silkworm and Silk Pupa)” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมกันทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน เป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 2558 – 2559



คณะนักวิจัยของไทยประกอบด้วย

นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม
นางสาวทิพรรณี เสนะวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
นางสาวสุธิรา พลเจริญ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
นางเสาวณีย์ อภิญญานุวัฒน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ
รศ.ดร.จิราพร กุลสาริน อาจารย์ คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก อาจารย์ คณะเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


โครงการนี้นับเป็นโครงการวิจัยแรกร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศของไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ทีมวิจัยจากประเทศไทยได้มีโอกาสไปดูงานการวิจัยถั่งเฉ้าและด้านหม่อนไหม ณ มณฑลอันฮุย ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเซียงไฮ้ราว 500 กิโลเมตร คณะเราได้อะไรมาบ้างลองติดตามดูนะครับ


มหาวิทยาลัยการเกษตรอันฮุย ตั้งอยู่ในเมือง เหอเฟ่ย (Hefei) เมืองเอกของมณฑลอันฮุย เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 มีอายุมากถึง 87 ปี มีชื่อเสียงในเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการผลิตบัณฑิตด้านหม่อนไหมให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม ทำให้การพัฒนาการผลิตไหมดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว บุคลากรทุกหน่วยงานรู้จักกันเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการไปเยือนทุกแห่งหน จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่เราไปมหาวิทยาลัยได้หารือกับศาสตราจารย์ ดร.เจียปิง ซู (Prof. Dr. Jiaping Xu) หัวหน้าทีมวิจัยฝ่ายจีน ได้ชมห้องปฏิบัติการด้านชีวโมเลกุล และอื่น ๆ ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาอย่างครบครัน ในวันนี้ตรงกับวันรับปริญญาของนักศึกษาปริญญาโท ทำให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยคึกคัก ด้วยมหาบัณฑิตคณะต่าง ๆ ที่มีมากถึง 18 คณะ

พิพิธภัณฑ์ไหมหัวเซีย (Huaxia Silk Museum) ตั้งอยู่ที่เมืองฟู่หยาง (Fuyang) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเหอเฟ่ยราว 250 กิโลเมตร เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านไหมที่ทันสมัยที่สุดของจีน ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทจิงจิ่วซิลค์ (Jing Jiu Silk Compary) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไหมที่มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีพนักงานมากกว่า 1,300 คน ทำการผลิตไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในมณฑลอันฮุยและมณฑลใกล้เคียง รังไหมที่ได้จะถูกรวบรวมและจัดส่งมายังบริษัทในเมืองฟู่หยาง ซึ่งมีโรงงานสาวไหมด้วยเครื่องอัตโนมัติ ผลิตเส้นไหมได้ประมาณ 600 ตัน/ปี ตามความต้องการของโรงงานทอผ้าของบริษัทที่ตั้งอยู่แห่งเดียวกัน โดยใช้เครื่องทอผ้าอัตโนมัติ และเครื่องแจ็คการ์ด จำนวน 70 เครื่อง ผลิตภัณฑ์ไหมของบริษัทจิงจิ่วซิลค์ จะจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศต่างๆในยุโรป อาทิ ผ้าพื้น ผ้ายกดอก ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เน็คไท เสื้อผ้า และชุดชั้นใน นอกจากนั้น ยังมีการผลิตผ้าใยไหมผสมใยไผ่ และหนังสือที่ใช้ผ้าไหมแทนกระดาษ เป็นต้น

ได้รู้จักบริษัทผลิตไหมแห่งนี้พอสังเขปแล้วนะครับ ว่ายิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ใครจะคาดคิดว่าบริษัทเอกชนจะลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในอาคาร 2 ชั้น เพื่อเสนอเรื่องราวของไหมตั้งแต่กำเนิด ก่อเกิดเป็นแพรภัณฑ์อันทรงคุณค่าสำหรับกษัตริย์และราชวงศ์เท่านั้น ก่อนจะกลายเป็นสินค้าที่ทุกคนแสวงหาบนเส้นทางสายไหมอันยาวไกลจากเมืองซีอาน แผ่ซ่านไปทั้งทางบกและทางทะเลถึงยุโรป รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย ที่มีการค้าขายผ้าไหมกับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังแสดงถึงกระบวนการผลิตรังไหม เส้นไหม ผ้าไหม และพิพิธภัณฑ์นวัตกรรมทั้งจากหม่อนและไหมด้วยเทคนิคการนำเสนอที่หลากหลาย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้มาชมอย่างสมใจ สร้างแรงบันดาลใจให้อยากกลับมาพัฒนากรมหม่อนไหมของเรา หลังจากนั้นได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ให้ความรู้สึกที่ดีกับผิวกายและจิตใจเหลือเกิน ยากที่จะอดใจไม่อุดหนุนสินค้าของเขาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง นี่แหละเป็นการขายเรื่องราวของไหม ก่อนขายสินค้าของเขา ด้วยนิทรรศการที่นำเสนอเชิงประจักษ์ในพิพิธภัณฑ์ไหมหัวเซีย แบบเราไม่หัวเสีย



ถั่งเฉ้า...สมุนไพรทรงคุณค่า ราคาดุจทองคำ ในการมาเยือนกันครั้งแรกนี้ มีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ถั่งเฉ้าสีทอง (Cordyceps militaris) ระหว่างฝ่ายจีนกับฝ่ายไทย คนละ 1 พันธุ์ เพื่อต่างฝ่ายต่างจะทำถั่งเฉ้าทั้ง 2 พันธุ์นี้ ไปเพาะเลี้ยงบนดักแด้ไหม แล้ววิเคราะห์หาสารสำคัญ (สารออกฤทธิ์) หรือสารที่มีประโยชน์ ว่าพันธุ์ไหนจะให้ผลผลิตและสารสำคัญมากกว่ากัน ได้หารือแนวทางการวิจัยถั่งเฉ้าสีทองบนดักแด้ไหม ในจีนนิยมบริโภค ถั่งเฉ้าที่เพาะจากดักแด้ไหมเป็นยา แต่ถ้าเพาะบนธัญพืช เช่น ข้าวฟ่าง จะใช้บริโภคเป็นอาหารโดยใช้ผสมผัดรวมกับผัก หรือซุป ซึ่งคาดว่าจะมีสารสำคัญน้อยกว่าถั่งเฉ้าที่เพาะบนดักแด้ คงต้องรอการพิสูจน์ในอนาคตอันใกล้นี้

แหล่งผลิตถั่งเฉ้าของมณฑลอันฮุย ตั้งอยู่ในเมืองหวงหนาน (Huangnan) ห่างจากเหอเฟ่ยราว 100กิโลเมตร เมืองที่เต็มไปด้วยเมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน พลังงานราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่ายังมีโรงงานผลิตพลังชีวิตจากถั่งเฉ้าที่เพาะเลี้ยงในห้องปรับอากาศขนาด 10 x 15 เมตร 8 ห้อง ควบคุมอุณหภูมิได้ตามความต้องการของถั่งเฉ้าแต่ละสายพันธุ์ วัสดุที่ใช้เพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าวฟ่าง มีบ้างที่เพาะเลี้ยงบนดักแด้ไหม เนื่องจากอันฮุยมีอากาศหนาว สามารถเลี้ยงไหมได้ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นเวลามาเมืองนี้อย่าลืมเพิ่มพลังด้วยการสั่งอาหารที่มีถั่งเฉ้าเป็นส่วนผสมนะครับ

ถั่งเฉ้ามีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก ส่งจำหน่ายทั่วโลกไม่ต่ำกว่าปีละ 70 ตัน สร้างมูลค่ามหาศาลเพราะมีราคาสูง ราว 60,000 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งถ้าเป็นถั่งเฉ้าแท้ที่เก็บมาจากธรรมชาติจะมีราคาสูงขึ้นถึง 10 เท่า หรือราว 600,000 บาทต่อกิโลกรัม กรมหม่อนไหมและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตคนไทยจะเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าได้มากขึ้น ผลผลิตสูงขึ้น สารออกฤทธิ์ต่อน้ำหนักมากขึ้น และเมื่อถึงวันนั้น พวกเราทุกคนจะเข้าถึงถั่งเฉ้าสมุนไพรทรงคุณค่าได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง

หมายเลขบันทึก: 595181เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2015 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2015 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท