วิชาภาวะผู้นำ : นิสิต มมส กับการเป็นพลเมืองของสังคมโลก


การบรรยายของอธิการบดี ไม่ใช่สะท้อนข้อมูลการเรียนรู้เฉพาะแต่ความเป็นสังคมโลกเท่านั้น แต่ก็เน้นย้ำชัดเจนว่า “ต้องไม่ลืมความเป็นไทย” ในมิติต่างๆ พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงไปยังเรื่องกรอบมาตรฐานอุดมศึกษาไทย (TQF) ทั้ง ๕ ประการที่นิสิตต้องมีตระหนักทั้งมิติความรู้และทักษะ

ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็นภาคเรียนแรกของการเปิดทำการเรียนการสอนรายวิชา “ภาวะผู้นำนิสิต” ในหมวดศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นรายวิชาการเรียนรู้ที่ต่อยอดมาจากรายวิชา “การพัฒนานิสิต”

ในภาพรวมของการจัดการเรียนการสอน ยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิม นั่นคือ “บันเทิงเริงปัญญา” ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (ห้องเรียน) และเรียนรู้อย่างเป็นทีม หรือเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (โครงการ/โครงงาน) โดยกลุ่มแรกที่มีสิทธิ์ได้เรียนวิชานี้ก็คือ “นิสิตใหม่” ที่เข้าศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๕๘




ใบงาน : คลิป

กระบวนการเรียนการสอน ยังคงใช้ขนบเดียวกันกับวิชาการพัฒนานิสิต เริ่มต้นจากก่อนเข้าชั้นเรียนนิสิตต้องรับ “ใบงาน” จากผู้ช่วยสอน เพื่อใช้เป็นแบบบันทึกผลการเรียนรู้ประจำวันแบบง่ายๆ กระชับๆ เน้นวาทกรรม หรือความคิดรวบยอด นอกจากนี้ใบงานดังกล่าวยังใช้เป็นหนึ่งในระบบและกลไกของการเช็คชื่อการเข้าชั้นเรียนไปในตัว



ถัดจากการแจกใบงาน นิสิตก็จะได้นั่งดูชมคลิป เพื่อสร้างบรรยากาศของการนำเข้าสู่การเรียนรู้ เสมือนการฝึกทักษะการเรียนรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ในอีกช่องทางหนึ่ง โดยสื่อที่นำมาใช้ในต้นชั่วโมงจะเกี่ยวโยงกับความเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เช่น การเยี่ยมค่าย การออกค่าย การจัดกิจกรรมวันแม่ (จดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน) ซึ่งสอดรับห้วงเดือนแห่ง “วันแม่”





อธิการบดี : สอนเอง (พบปะทักทาย)

การบรรยายภาคทฤษฎีอย่างเป็นทางการของวันแรก เราออกแบบการเรียนรู้ด้วยการเรียนเชิญอธิการบดี (ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา) มาบรรยายด้วยตัวของท่านเอง ในหัวข้อ นิสิต MSU มีความเป็นพลเมืองโลก they have a sense of belonging to a world community. โดยมีประเด็นสำคัญๆ เช่น ภาพรวมของการพัฒนานิสิตนักศึกษาไทย ลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ หมุดหมายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการบ่มเพาะบัณฑิตฯ

ขอยืนยันตรงนี้อย่างหนักแน่นว่า ผมและทีมงานเจตนาอย่างแรงกล้าในการเรียนอธิการบดีมาบรรยายในหัวข้อนี้ ซึ่งหลายปีก่อนในรายวิชาการพัฒนานิสิตก็ใช้กระบวนการเดียวกันมาแล้ว เพราะผมไม่ได้มองแค่เรื่องการบรรยาย หรือการสอนเท่านั้น หากแต่ต้องการให้นิสิตใหม่ได้ใกล้ชิดกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และสร้างกระบวนการเชื่อมโยงให้ผู้บริหารและนิสิตได้ “พบปะ” กันอย่างเป็นกันเอง เสมอเหมือนการสร้างพื้นที่ของการรับฟังความคิดเห็นของนิสิตไปในตัวเช่นกัน ส่วนจะบรรลุเจตนารมณ์ที่ผมได้ซ่อนซุกไว้มากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับว่า “ผู้สอน” ที่หมายถึงอธิการบดี หรือ “ผู้เรียน” ที่หมายถึง “นิสิต” จะรังสรรค์ออกมาร่วมกันได้แค่ไหนเท่านั้นเอง –




ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา : อธิการบดี



โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบการบรรยายของอธิการบดีเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่การบรรยายให้นิสิตรู้ในเรื่องราวอันเป็นปรัชญาอุดมศึกษาไทยที่มีมายาวนานผ่านวาทกรรม “เก่ง-ดี-มีสุข” เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงงานวิจัย หรือกระแสหลักของ “สังคมโลก” มาให้นิสิตได้รับรู้โดยสังเขป เพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้มีแรงจูงใจที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง... เช่น

  • ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑
  • ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข)
  • หลักคิดของการใช้วัฒนธรรมนำเทคโนโลยี
  • ประชาคมอาเซียน
  • ค่านิยม ๑๒ ประการ


  • รวมถึงกรณีศึกษาอื่นๆ ที่ถูกหยิบยกมาให้ขบคิดอย่างน่าสนใจ เช่น เรื่องปัญหาอันเป็นต้นน้ำของคุณภาพเด็กไทยผ่านระบบและกลไกทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาคทฤษฎีมากกว่ามุ่งให้เรียนรู้การปฏิบัติ การเรียนวันละ 9 ชั่วโมง (ขณะที่ชาติอื่นๆ เรียนประมาณ 5 ชั่วโมง) เน้นจดบันทึกคำสอนของครู (ขณะที่ชาติอื่นๆ มุ่งโต้ตอบแลกเปลี่ยนกับครู) ในชั้นเรียนมีนักเรียน 50 คน/ห้อง (ขณะที่ต่างชาติมีนักเรียน 20 คน/ห้อง) ฯลฯ

    ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนขาดความสุข หรือขาดแรงบันดาลใจ หรือกระทั่งขาดทักษะการเรียนรู้ไปโดยปริยายอย่างน่าใจหาย




    TQF : ความรู้และทักษะสากลในแบบไทยๆ

    อย่างไรก็ดีในการบรรยายของอธิการบดี ไม่ใช่สะท้อนข้อมูลการเรียนรู้เฉพาะแต่ความเป็นสังคมโลกเท่านั้น แต่ก็เน้นย้ำชัดเจนว่า “ต้องไม่ลืมความเป็นไทย” ในมิติต่างๆ พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงไปยังเรื่องกรอบมาตรฐานอุดมศึกษาไทย (TQF) ทั้ง ๕ ประการที่นิสิตต้องมีตระหนักทั้งมิติความรู้และทักษะ คือ

  • คุณธรรม จริยธรรม
  • ความรู้
  • ทักษะปัญญา
  • ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความ รับผิดชอบ
  • ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ




  • หมุดหมาย มมส : นิสิต มมส

    นอกจากนี้ยังได้สะท้อนประเด็นอันเป็นหมุดหมายของมหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างครอบคลุม ยกตัวอย่างเช่น ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) โดยเน้นย้ำว่านิสิตสามารถเรียนรู้ความเป็น “อัตลักษณ์ผ่านเอกลักษณ์” ซึ่งฟังดูคมคาย ลึกซึ้งและชวนค่าต่อการวิเคราะห์-เชื่อมโยง หรือถอดรหัสที่แฝงอยู่ในวาทกรรมนั้นๆ อย่างบอกไม่ถูก

    หรือกระทั่งในตอนท้ายของการบรรยาย – ยังได้หยิบยกประเด็นคุณลักษณะของนิสิตในมุมมองส่วนตัวของอธิการบดีไว้ให้นิสิตใหม่ได้คิดเล่นๆ หรือคิดต่อยอดสู่การ “เก่ง-ดี-มีสุข” หรือเพื่อความเป็น global citizenship ของนิสิต เป็นต้นว่า

    • — ครองตนด้วยความรู้ ด้วยความเข้มแข็งของสุขภาพ
    • — ครองคนด้วยสติและปัญญา
    • — ดำรงตนอยู่ในโลกด้วยความเคารพ ความเข้าใจผู้อื่น (ความเชื่อ วัฒนธรรม เผ่าพันธุ์ กฎหมาย)



    ปิดท้าย : ใบงานและคำถามท้ายชั่วโมง

    ก่อนการแยกย้ายกลับสู่ที่พักและตามอัธยาศัย ทีมกระบวนการเข้ามาพบปะนิสิตอีกรอบ ให้นิสิตแต่ละคนสรุปผลการเรียนรู้ประจำวันลงใน “ใบลาน” เน้นการสรุปแบบสั้นๆ เป็นวาทกรรม หรือสรุปผ่านใจความสำคัญๆ ตลอดจนการสร้างคำถามท้ายชั่วโมงขึ้นมาเพื่อให้นิสิตได้กลับไปทบทวนอีกรอบ นั่นคือ “ลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์”




    หมายเหตุ : ภาพ โดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / นิสิต จิตอาสา

    หมายเลขบันทึก: 595143เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2015 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2015 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (5)

    เยี่ยม มากๆ ค่ะ ... นักศึกษา สนใจดีมากๆนะคะ .... คนเป็นอาจารย์ คงภูมิใจมากๆ นะคะ


    ขอบคุณค่ะ

    ขอบพระคุณครับ พี่ Dr. Ple

    วิชาภาวะผู้นำ... ยังใหม่สดในภาคเรียนรู้ ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ยังคงเรียนรู้ร่วมกันไปทีละนิดๆ... แต่หลักๆ ยังเน้นบรรยากาศบันเทิงเริงปัญญา เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง-เน้นชุมชนเป็นชั้นเรียน (ชุมชนวิชาการ-หมู่บ้าน-ฯลฯ) และเรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างเป็นทีม



    ขอบพระคุณมากๆ ครับ อ. tuknarak

    ตอนนี้ก็กำลังนั่งเขียนเรื่องถัดมา ที่ว่าด้วยผู้นำ-ภาวะผู้นำ ครับ จากอธิการบดีมาสอนก็มาถึงวาระรองอธิการบดี มาสอน แล้วครับ 55

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท