KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 203. หลุมดำ KM


         วันที่ ๓ พย. ๔๙ ผมไปพูดเรื่อง Chaordic Organization ในการประชุม UKM 8     จึงมีโอกาสทบทวนเรื่องภาพใหญ่ของ KM ในสังคมไทย     มีโอกาสคิด ว่าทำไม KM จึงไม่ค่อยจะมีหน่วยงานประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง     ทำไมหน่วยงานจำนวนไม่น้อยที่ทำ KM แบบ "ของปลอม"   หรือทำแบบหลงทาง      หรือทำ KM เพื่อ KM   

         ผมฟันธงว่าเป็นเพราะหน่วยงานเหล่านั้นสมาทานความเชื่อต่อการทำงานในระบบควบคุมและสั่งการ (Command & Control) โดยไม่รู้ตัว     เป็นความเคยชินที่ฝังลึก จนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ (paradigm) หรือ mental model ตกอยู่ในแนวนี้     แต่ KM เป็นเรื่องของความเชื่อแบบใหม่  เชื่อในระบบที่ทั้งไร้ระเบียบและมีระเบียบอยู่ในขณะเดียวกัน ที่เรียกว่า ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex Adaptive System - CAS)  หรือระบบเคออร์ดิค (Chaordic)     

        ผู้บริหารที่ตกอยู่ในภพภูมิ "ควบคุมและสั่งการ" มักจะพูดว่า  "เรื่องนี้ไม่จำเป็นให้พนักงานระดับปฏิบัติต้องมานั่งเสียเวลาประชุมปรึกษากัน     ให้ทำตามที่ผมสั่งงานก็จะสำเร็จภายใน ๗ วัน"     ผู้บริหารแนวนี้จะหาทางกำหนด work procedures ให้ชัดเจน และจัดให้ฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ทำตามกระบวนการนั้น     แล้วประเมินว่าพนักงานได้ทำตามกระบวนการนั้นหรือไม่     นี่คือหลุมดำ KM     จุดอ่อนก็คือ พนักงานจะไม่เกิดการเรียนรู้     พนักงานที่ทำงานภายใต้บรรยากาศนี้นานๆ จะกลายเป็นบุคคลไม่เรียนรู้     กลายเป็น machine man หรือคนหุ่นยนต์    ทำงานแบบไม่มีวิญญาณ ขาดความกระตือรือร้น     ขาดความมั่นใจในตนเอง     และขาดความเคารพและเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงาน    ตัวองค์กรก็จะไม่เป็นองค์กรเรียนรู้     เพราะองค์กรไม่เปิดช่องให้พนักงานได้เรียนรู้จากการทำงาน    นี่คือผลของการตกหลุมดำ KM

         กระบวนทัศน์ตามที่กล่าวข้างบน อาจเรียกว่ากระบวนทัศน์ระบบกลไก (Mechanical System)  หรือระบบ IPO (Input - Process - Output)     มองความสัมพันธ์ในระบบเป็นแบบที่สัมพันธ์กันเชิงเส้นตรง (linear relationship)   

        KM จะเกิดได้จริง  ต้องใช้กระบวนทัศน์  CAS ในการจัดระบบงาน และจัดกระบวนการทำงาน     ในระบบ CAS พลังที่ยิ่งใหญ่อาจมาจาก "ชิ้นส่วน" หรือ "องค์ประกอบ" หรือ พนักงานตัวเล็กๆ      อาจมาจากการกระทำเล็กๆ แต่ก่อผลยิ่งใหญ่ ตาม Butterfly Effect      และผลสำเร็จเล็กๆ เมื่อรวมตัวกัน อาจก่อผลในลักษณะของผลคูณ หรือผลยกกำลัง  ไม่ใช่ผลบวก     การจัดการระบบ CAS คือการจัดให้เปิดโอกาสให้ความสำเร็จเล็กๆ ที่มีอยู่ มีโอกาส "รวมตัวกันเอง" (self-organized) เกิดการก่อตัวเป็นผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในระดับ "ภพภูมิใหม่" (new order)

        กระบวนทัศน์ CAS เชื่อในพลังแฝงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ     การจัดการ CAS จึงเป็นการจัดการแบบเปิดโอกาสให้พลังแฝงได้มีโอกาสเข้ามาแสดงบทบาทขับเคลื่อนความสำเร็จ

        นี่คือ systems thinking เกี่ยวกับ KM

วิจารณ์ พานิช
๓ พย. ๔๙
บนเครื่องบินจากสุโขทัยสู่สุวรรณภูมิ

หมายเลขบันทึก: 59510เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ก่อนอื่นผมขอสารภาพว่า วันนี้ผมทำหน้าที่บริหารงานผิดพลาด ผิดที่ไม่ควบคุมสั่งการ เจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานได้อย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ องค์กรที่ผมดูแลอยู่ขณะนี้อาจจะเป็นเคออร์ดิค หรือไม่นั้น ไม่ทราบครับ แต่เท่าที่ติดตามบันทึกของอาจารย์ แล้วประเมินผลจากการรับรู้สัมผัส ผมฟันธงว่า เป็นแน่นอนครับ

จากบันทึก "หลุมดำ KM " ของท่านอาจารย์ ทำให้นึกถึเหตุการณ์เมื่อบ่ายวันนี้ และผมรู้สึกเข้าถึงขั้วหัวใจเลยครับ โดยเฉพาะ เรื่องของ "machine man "  เพราะต้องคอยมาควบคุม สั่งการ งานถึงจะเรียบร้อยดี แต่วันนี้ผมอาจผิดพลาด ที่ขาดส่วนนี้ไป ทั้งๆ ที่การทำงานก็ให้อิสระทางความคิด การปฏิบัติทุกอย่าง แต่ก็ยังหนีไม่พ้น "Machine man"  ขอความกรุณาคำชี้แนะจากอาจารย์ด้วยครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

วิชิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท