โลกาภิวัตน์สไตล์ญี่ปุ่น



ลูกสาว “เลขา” เล่าให้ฟังเรื่องไปเป็นล่าม ในโครงการที่ไจก้าให้ความช่วยเหลือพัฒนาระบบดูแล ผู้สูงอายุโดยชุมชน ที่ในเมืองไทยของเรามีชุมชนเข้มแข็งด้านนี้หลายที่ เช่นที่บางกรวย ที่ สุราษฎร์ธานี ดำเนินการโดย รพ. สวนสราญรมย์ เป็นต้น

ผมให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นหาทางดูแลคนแก่ของตนเองจนได้ความรู้ ก็หาทางเอาความรู้นั้นมาทำมาหากิน ในต่างประเทศ เพราะลูกสาวบอกว่า ตอนนี้ไจก้าขนธุรกิจ เอสเอ็มอี ของญี่ปุ่นมาด้วย มาหาลู่ทางทำธุรกิจ บริการผู้สูงอายุ ในประเทศไทย

ลูกสาวบอกว่าญี่ปุ่นไปไกลกว่านั้น เขาหาลู่ทางเอาคนแก่ญี่ปุ่นหมุนเวียนมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย มีการสร้างนิคมคนแก่ญี่ปุ่นในประเทศไทย เพราะใช้เงินน้อยกว่าดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น

ผมบอกว่า ได้ยินมาว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ มีนิคมเช่นนั้นแล้ว และในแต่ละช่วงเวลามีคนแก่ญี่ปุ่น มาใช้ชีวิตในเชียงใหม่สามพันคน

ลูกสาวบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นมีปัญหาขาดคนทำงาน จึงมีแผนเอาคนฟิลิปปินส์เข้าไปทำงาน ในประเทศไทยก็มาตั้งโรงเรียน เด็กที่นิสัยดี ทำงานดี เขาจะเอาไปทำงานที่ญี่ปุ่น

ผมให้ความเห็นว่า ถ้าเช่นนั้น ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนใจในเรื่องนโยบายเกาะญี่ปุ่นของคนญี่ปุ่น เป็นเกาะแห่งเลือดซามูไรแล้วซี

ลูกสาวบอกว่า จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะขาดแคลนคนทำงาน (แรงงาน) จึงต้องเอาคนต่างชาติ ไปเป็นแรงงาน แต่เขาก็มีแผนชาติ ว่าในอนาคตต้องมีคนเชื้อชาติญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า ๘๐ ล้านคน

ทำให้ผมคิดว่า นี่คือ mindset ของญี่ปุ่น ที่คิดไปข้างหน้าอย่างรอบคอบเสมอ และประเทศญี่ปุ่น ก็อยู่ดีไม่เฉพาะในเกาะญี่ปุ่น เขามองโลกทั้งโลกเป็นพื้นที่ของญี่ปุ่น ที่จะไปทำกิจการเพื่อความเข้มแข็ง อยู่ดีของคนญี่ปุ่น

สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นเผลอหลงผิด คิดว่าต้องใช้พื้นที่ของส่วนอื่นของโลกเพื่อประโยชน์ ของญี่ปุ่นโดยการรุกรานด้วยสงคราม หลังแพ้สงครามเขาเรียนรู้ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ว่าการใช้ประโยชน์ ของส่วนอื่นของโลกนั้น ต้องทำอย่างสันติ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน คือใช้กิจกรรมทางการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม ทางการค้า และความร่วมมือ

กระบวนทัศน์ที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ ญี่ปุ่นต้องไม่อยู่จำกัดอยู่ภายในเกาะญี่ปุ่นเท่านั้น ต้องไปแสวงหา โอกาสทั่วโลก

ทำอย่างไรไทยเราจะมีกระบวนทัศน์เช่นนี้บ้าง ... กระบวนทัศน์ที่ไม่คับแคบ

การศึกษาไทยควรทำอะไรบ้าง



วิจารณ์ พานิช

๒๒ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 594826เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2015 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2015 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์

ตามที่เฝ้าติดตามปัญหาฯ มีความเห็นว่า ปัญหาการศึกษาในประเทศไทย มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนปม และ จุดเริ่มต้นที่ควรเจาะก่อน คือ สังคมครอบครัว หรือสถาบันครอบครัวไทยที่เคยเข้มแข็ง แต่ต้องพังทลาย เมื่อรับวัฒนธรรมทุนนิยมนานเข้าๆ จากนั้นเมื่อปรับปรุงระบบการศึกษา ก็จะง่ายขึ้น และไม่สูญเสียทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถแก้ไขหลายๆเรื่องได้พร้อมกันทีเดียว เนื่องด้วย จริงๆแล้วสังคมไทยมีเอกลักษณ์จุดเด่นของตนเอง จึงไม่สามารถใช้วิธีการแก้ไขแบบดูงานที่อื่น แล้วเลียนแบบ จะกลายเป็นวังวน งูกินหาง เมื่อเจอปัจจัยกระทบระหว่างทางมากมาย กลายเป็นปัญหาใหม่ในที่สุด สังคมที่มีลักษณะเด่นแบบนี้ บุคลากรจะต้องรู้จักคุณค่าของตัวเองก่อน เห็นภาพตนเองก่อน รู้จักเอกลักษณ์ตนเอง จะสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วมาก คำตอบง่าย และอยู่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน ปัจจุบัน วิธีแก้ไขหลายๆเรื่อง ล้วนทำลายเอกลักษณ์ตัวตนลงเรื่อยๆ น่าจะทำให้บุคลากรอ่อนแรง(พลัง) เช่นกัน

โดยความเคารพอย่างสูง

คุณลิขิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท