บันทึกดูงานประเทศอังกฤษ ดร.สุชิน ลิขิต ดิศกุล อยู่ในทีม


วันที่ ๒๑ กันยา ๒๕๔๙ ไปเมือง Coventry ดูงานที่ BECTA
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๙            คณะเดินทางโดยรถไฟไปยังเมือง Coventry แต่เช้า ใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว หลังจากนั้นจึงนั่งแทกซี่ไปยังบริเวณ science park แห่งมหาวิทยาลัย Warwick ซึ่งสำนักงานขององค์กรเป้าหมายที่เดินทางไปศึกษาดูงาน คือ British Educational Communications and Technology Agency (BECTA) ตั้งอยู่ แต่ก็นับเป็นองค์กรอิสระจากมหาวิทยาลัยแห่งนั้น            บริเวณสำนักงานปลูกต้นไม้ไว้สวยงามทีเดียว Chrisine Lewis ผู้ช่วยผู้อำนวยการให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาให้ข้อมูลตลอดทั้งวันเลยทีเดียว เริ่มด้วย Christine ให้ข้อมูลว่า BECTA เป็นองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบศึกษาเรื่อง ICT/e-learning เพื่อตอบสนองแผน ๕ ปีของกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมการศึกษาในโรงเรียน ส่งเสริมการศึกษาสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า ๑๖ ปี) รวมไปถึงการศึกษาต่อเนื่องในระดับอุดมศึกษา             เป้าหมายสำคัญคือการปฏิรูปการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยใช้ ICT/e-learning ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกเอกสารนโยบายเรื่องการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทักษะและโอกาสในชีวิต มีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ มีการรวมกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน รวมทั้งมีเอกสารนโยบายที่เน้นเฉพาะแต่ละกลุ่ม (white paper) ด้วย เนื้อหาของเอกสารเหล่านี้มีจุดเน้นคือการสร้างความเข้มแข็งของระบบ เพิ่มความลึกและความชำนาญการของกลุ่มต่าง ๆ สนองความต้องการของผู้เรียนและนายจ้าง ยกระดับคุณภาพ ส่งเสริมผู้ให้การศึกษาที่ดีอย่างหลากหลาย ปรับการลงทุนในส่วนต่าง ๆ สร้างความสัมพันธ์กับวิทยาลัยและหน่วยบริการการศึกษาอื่น ๆ เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น             เนื้อหาสำคัญของเอกสารนโยบายได้มาจากกลุ่มผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือเน้นความสำเร็จของผู้เรียน มุ่งตอบสนองความต้องการในชีวิตและการทำงาน ให้บริการแนะแนวและคำปรึกษาที่ดี สนับสนุนเด็กในช่วงอายุ ๑๔-๑๙ ปี และสอนโดยผู้มีความรู้ และแสดงให้นายจ้างรับรู้ว่าได้เรียนอะไรมาแล้วบ้าง             เรื่องสำคัญคือเน้น e-maturity ทั้งในส่วนของผู้เรียน หน่วยงาน และแรงงาน มีการตรวจสอบ กำหนดมาตรฐานคุณภาพ และการทบทวนตนเอง ใช้เทคโนโลยีในการบริหาร ให้บริการเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ และการบำรุงรักษาระบบ            นอกจากนั้นยังกำหนด strategic outcomes และ Balanced Scorecard เปรียบเทียบศักยภาพและผลงานทางด้าน e-maturity ผลงานของผู้เรียนและเด็ก ความเหมาะสมกับเทคโนโลยีและระบบ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ค่านิคม และการลงทุน จัดทำ strategy map แสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ และทำให้เกิดการเรียนการสอนที่เหมาะสม (personalization) โดยส่งเสริมให้ครูออกแบบการเรียนสำหรับผู้เรียนแต่ละคน ใช้ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เรียนบรรลุผลสำเร็จ มีทางเลือกด้าน digital contents และ learning design tools สำหรับผู้เรียนก็ส่งเสริมให้ได้รับการยอมรับจากระบบ และมีทางเลือกทางด้าน digital contents ส่วนที่น่าสนใจคือเรื่อง e-portfolio ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนด้วยตนเองที่บ้านและในหน่วยงาน มีระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ มี learning platforms เนื้อหาบนอินเตอร์เน็ต และเครือข่ายการศึกษาระดับชาติ             ต่อจากนั้น Robin Englebright ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่ในวิทยาลัยเพื่อการศึกษาต่อเนื่อง (further education) ว่าปัจจุบันมีนักศึกษาในวิทยาลัยประเภทนี้ซึ่งมีราว ๔๐๐ แห่งประมาณ ๔.๒ ล้านคน หรือประมาณ ๑๐% ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ผู้เรียนมีอายุในช่วง ๑๖-๑๙ ปีเป็นส่วนใหญ่ เข้าศึกษาตั้งแต่ระดับ ๑ (ออกจากโรงเรียนภาคบังคับ) ขึ้นไปถึงระดับ ๓ เนื้อหาร้อยละ ๕๐ เป็นเรื่องวิชาอาชีพ ในปี ๒๐๐๔/๒๐๐๕ มีอัตราการเรียนสำเร็จ ๗๕% เป้าหมายของวิทยาลัยคือส่งเสริมการศึกษาต่อของผู้เรียน             BECTA ส่งเสริมให้วิทยาลัยเพื่อการศึกษาต่อเนื่องใช้ virtual learning environment เช่น  webCT เมื่อก่อนนี้อัตรานักเรียนต่อคอมพิวเตอร์เป็น ๕:๑ ต่อมาภายหลังมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นอัตรานี้ก็ต่ำลง ใช้ open source คือ Moodle-OU ซึ่งใช้เงินพัฒนาไปแล้วราว ๕ ล้านปอนด์ ส่วนการพัฒนาเนื้อหานั้นให้ National Learning Network พัฒนา learning objects ป้อนให้กับวิทยาลัยต่าง ๆ โดยร่วมมือกับครูและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นยังมี mentors ออกไปแนะนำวิทยาลัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ e-learning ให้การสนับสนุนวิทยาลัยในการค้นหาเนื้อหาวิชาที่ต้องการและพัฒนาเนื้อหาของตนเองได้ รวมทั้งใช้สื่อของ Open University ส่งเสริมการทำ e-portfolio ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรระยะ ๓๐ ชั่วโมงสำหรับครูและผู้บริหารในฐานะเป็นการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง จัด resource centers ในภูมิภาคต่าง ๆ มีที่ปรึกษาให้กับครู รวบรวมกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นตัวอย่างให้ศึกษากันอย่างกว้างขวาง             Paul Wareing ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ ICT/e-learning ในการเรียนในสถานที่ทำงาน (work-based learning) ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับคนทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนในวิทยาลัย ในปี ๒๐๐๔/๒๐๐๕ มีผู้เรียนวิธีนี้อยู่ราว ๕๑๙,๐๐๐ คน เนื้อหาเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ            การดำเนินงานอาศัยความร่วมมือระหว่างกลุ่มนายจ้าง ซึ่งมี Sector Skills Councils เป็นผู้แทน ตัวแทนของผู้จัดการศึกษาคือ Association of Learning Providers ส่วนตัวแทนของกลุ่มคนงานได้แก่ Union Council ทั้งสามกลุ่มมีการประชุมหารือกันอยู่เสมอเพื่อพิจารณาแนวทางการใช้ ICT ในสถานที่ทำงาน             Sector Skills Councils มี ๒๕ องค์กรที่รวมตัวกันเป็น Skills for Business Network แต่ละองค์กรก็ช่วยกันระบุความต้องการใน sector ของตน Association of Learning Providers ปัจจุบันมีราว ๘๐๐ แห่งทำงานส่งเสริมการใช้ e-learning ในสถานประกอบการ ให้ทุนสถานประกอบการในการทำโครงการทดลองด้านการใช้ ICT/e-learning ไม่เกินรายละ ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ (Learning Innovation Grant) เป็นเงิน ๑.๕ ล้านปอนด์ รวมทั้งมีการพัฒนา web site ขึ้นด้วย ส่วนสหภาพแรงงานต่าง ๆ ก็ให้การสนับสนุนการเรียนรู้และเป็นผู้แทนในการจัดการศึกษาให้กับสมาชิก             BECTA ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ ICT/e-learning ในสถานที่ทำงาน สนับสนุน e-strategy partners เผยแพร่กรณีศึกษา รวมทั้งริเริ่มพัฒนาฐานข้อมูลและวิเคราะห์หาสิ่งที่ควรดำเนินการต่อไป ในอนาคตก็จะบุกเบิกทางด้าน e-skills UK โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกฝ่ายด้วย             Karen Diley ซึ่งเป็น Regional Director ของ Ufi ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่มุ่งผลกำไรที่ได้รับเงินจากรัฐบาลมาดำเนินการในลักษณะบริษัทเอกชน เพื่อสร้างรายได้นำมาเลี้ยงตนเองให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๘ ปัจจุบัน Ufi นับเป็นผู้ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการศึกษาต่อเนื่องที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นองค์กรที่ให้บริการการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีน มีการจัดตั้งศูนย์บริการที่เรียกว่า learndirect ขึ้นเพื่อให้บริการการศึกษาตามกรอบนโยบายของรัฐบาล             ภารกิจของ Ufi คือช่วยผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับ ๒ หรือ Skills for Life Qualifications (อ่านออก เขียนได้ คิดเลขได้ และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้) เพื่อให้มีทักษะและคุณวุฒิสำหรับการหางานทำและมีก้าวหน้าในการทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์บริการ learndirect ในชุมชนต่าง ๆ ๗๗๐ แห่ง ให้บริการทั้งระบบ online และระบบชั้นเรียน มีการประกันคุณภาพโดย Adult Learning Inspectorate จากการสำรวจในปี ๒๐๐๕/๒๐๐๖ ผู้เรียนมีความพอใจบริการสูงถึง ๙๑% นอกจากนั้นแล้วยังมี brand recognition เกินกว่า ๘๐% ในระยะที่เปิดดำเนินการปีแรก ๆ มีการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลายเช่นกัน             แผนกลยุทธ์ขององค์กรในช่วงปี ๒๐๐๖-๒๐๑๑ แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ การให้คำปรึกษา (learndirect advice) ธุรกิจ (learndirect business) และเนื้อหาวิชา (learndirect courses) ทางด้านการให้คำปรึกษานั้นได้ให้บริการไปแล้วกว่า ๓๐ ล้านครั้งนับตั้งแต่ปี ๑๙๙๘ ขณะนี้กำลังทดลองจัดบริการ telephone guidance service สำหรับผู้ที่มีคุณวุฒิต่ำว่าระดับ ๓ ทางด้านธุรกิจนั้นมุ่งขายผลผลิตและบริการให้แก่กลุ่มนายจ้าง e-learning เป็นคำตอบที่นายจ้างต้องการสำหรับใช้ในการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากมีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ง่าย เรียนด้วยตนเอง มีความเป็นส่วนตัว ประเมินผลตนเองได้ และราคาไม่แพง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมราว ๒๐๐,๐๐๐ รายใช้บริการของศูนย์ learndirect นอกจากนั้นยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการ e-learning ในขณะที่ผู้เรียนอยู่ในสถานที่ทำงานโดยตรง (learning at work) ซึ่งนำไปสู่การยกระดับความรู้ถึงระดับที่ ๔ บ้างแล้ว ปัจจุบันใน ๕ ภูมิภาคมีสัญญาการใช้บริการของ learndirect มูลค่า ๓.๙ ล้านปอนด์ นับได้ว่า Ufi มีส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทักษะฝีมือของแรงงานของประเทศอังกฤษมากทีเดียว            นโยบายจากรัฐบาลซึ่งกำหนดว่ามุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทางด้านใด และการวิเคราะห์สถานการณ์ความต้องการของตลาดแรงงาน เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรและสื่อ ปัจจุบันมีการพัฒนาหลักสูตรขึ้นเองถึงราว ๘๐% ของหลักสูตรที่มีใช้อยู่ทั้งหมด ระยะเวลาในการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเรื่องหนึ่งประมาณ ๘-๙ เดือน เน้นคุณภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะในด้านทักษะต่าง ๆ ตามที่อุตสาหกรรมต้องการ บางหลักสูตรเป็นไปตามข้อกำหนดในการให้คุณวุฒิของรัฐบาล บางหลักสูตรก็ไม่มีการให้คุณวุฒิ ผู้สมัครเรียนที่มีคุณวุฒิต่ำกว่าระดับ ๒ ได้รับบริการฟรี ส่วนผู้ที่มีคุณวุฒิสูงกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง             ที่จริงกลุ่มเป้าหมายของ Ufi และ UK Online เป็นกลุ่มเดียวกันนั่นเอง ในสายตาของผู้เรียนและผู้ให้บริการบางส่วนมองเห็นว่าบริการของ Ufi มีความซับซ้อนและเป็นทางการมากกว่า UK Online ปัจจุบัน Ufi กำลังปรับระบบบริการเพื่อให้ผู้เรียนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และจำกัดขอบเขตเนื้อหาวิชาที่มุ่งสู่การยกระดับคุณวุฒิในการทำงานให้สูงขึ้นเป็นสำคัญ            Chris Swaine กล่าวว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนการศึกษาของผู้ที่มีอายุ ๑๖ ปีขึ้นไป (จบการศึกษาภาคบังคับ) ซึ่งอาจจะเรียนในวิทยาลัยเพื่อการศึกษาต่อเนื่องหรือมหาวิทยาลัย หรือทำงานอยู่ในภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม โดยร่วมมือกับศูนย์การเรียนชุมชนซึ่งองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นกว่า ๑๐๐ แห่งจัดตั้งขึ้น การจัดการศึกษามีความหลากหลาย บางอย่างก็จัดเอง หรืออาจจะมอบให้หน่วยงานอื่น ๆ จัดให้ก็ได้            ศูนย์การเรียนชุมชนมีภารกิจสำคัญคือให้โอกาสกับทุกคน (social inclusion) ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางมาก เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแก้ไขความทุกข์และการสร้างความสุขของคน จึงต้องฟังเสียงคนในชุมชน สถานที่เรียนตั้งอยู่ในชุมชน พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ใช้ผู้มีความรู้ในท้องถิ่นเป็นครู             จากประสบการณ์ที่ผ่านทำให้สามารถสรุปบทเรียนได้ว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงคือการเรียนรู้ซึ่งนำความสุขมาให้ผู้เรียน เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง (good learning) ใช้วิธีการผสม (blended learning approach) คือเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและมีความสุข ค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการเรียน สร้างความมั่นใจในตนเอง ใช้เกณฑ์ของท้องถิ่นในการประเมินผลสำเร็จ ได้ผลดีกว่าการใช้ e-learning โดยเฉพาะ             กิจกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือการสร้าง web site ให้เป็นแหล่งติดต่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอบทเรียนที่สร้างขึ้นโดยชาวบ้านด้วยกันเอง             ข้อแนะนำในการจัดการเรื่องนี้คือควรกำหนดนโยบายระดับชาติอย่างกว้าง ๆ แล้วให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นกำหนดกลยุทธ์ (e-strategy) ของตนเอง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีบริการที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง            Steve Davies ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ครูเห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ เช่น ช่วยยกระดับคุณภาพในการวางแผนการสอนและการวางแผนทางด้านงบประมาณและการรวบรวมข้อมูลทางด้านการเงิน ใช้ในการประเมินผลการเรียน การรับผลป้อนกลับจากนักเรียน ติดตามความก้าวหน้าในการเรียน จัดทำ Portfolio (ซึ่งยังมีใช้กันอยู่น้อยมาก) ส่วนใหญ่ครูมีความมั่นใจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านการวางแผนและเตรียมบทเรียน สื่อสารกับนักเรียน ทำงานกับนักเรียนในห้องเรียน และติดตามความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียน ตามลำดับ             ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเพื่อการศึกษาต่อเนื่องและมหาวิทยาลัย รองลงมาคือระหว่างโรงเรียน และกลุ่มนายจ้าง ตามลำดับ การร่วมมือส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันยังมีน้อย             การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ e-learning ในระดับวิทยาลัยส่วนมากใช้เงินเพื่อจัดหา hardware รองลงมาคือ software ระบบ และการพัฒนาบุคลากร ตามลำดับ และเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันมาหลายปี เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นของวิทยาลัยเอง ผลตอบแทนโดยดูจากประสิทธิภาพในการใช้เวลาทำงานสูงมากทีเดียว            Malcolm Hunt กล่าวว่าการประเมินผลกระทบของ e-strategy ของประเทศอังกฤษยังนับว่าเป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระบบ ต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายและผลที่เกิดขึ้น ต้องครอบคลุมกิจกรรมที่หลากหลาย มีผู้มีส่วนร่วมหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายก็มีความต้องการแตกต่างกัน ผลบางอย่างไม่ชัดเจนและวัดได้ยาก เป็นต้น            แนวคิดในขณะนี้คือเน้นการประเมินความก้าวหน้าและผลงานไปพร้อมกัน และทำแยกในแต่ละ sector และต้องการ input จากหลายแหล่งด้วยกัน การใช้ผลการประเมินมุ่งเน้นที่การวางแผนเรื่องนโยบาย การทบทวนกลยุทธ์ขององค์กร ดูความก้าวหน้าในแต่ละ sector และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งพิจารณาการวิจัยที่จำเป็นต้องทำเพิ่มเติม เป็นต้น             เรื่องที่ท้าทายยังมีอีกมาก เช่น การกำหนดตัวชี้วัดยังเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน และช่วงเวลาที่ควรเป็นก่อนจะวัดผลผู้เรียน การพิจารณาเฉพาะสิ่งที่วัดได้อาจจะมิใช่เป็นการดูสิ่งที่สำคัญเสมอไป การตัดสินใจเรื่องตัวชี้วัดในระดับสูงมากทำโดยบุคลากรระดับบริหารเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างในระหว่าง sectors ทำให้ยากต่อการกำหนดหน่วยวัด ปัญหาในการวัดตามตัวชี้วัดเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน ข้อมูลในระดับชาติยังไม่ครบถ้วน จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์หรือวิจัยกันใหม่ เป็นต้น            คณะมีความเห็นว่าการดำเนินงานของ BECTA ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและ e-learning ในระดับประเทศ ทำให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจน สมควรพัฒนาความร่วมมือกันในระยะยาวต่อไป            ขากลับจาก Coventry คณะเดินทางโดยรถไฟเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากขบวนรถที่จองที่นั่งไว้ไม่สามารถให้บริการได้ตามกำหนด ต้องเลื่อนไปโดยสารขบวนรถต่อไป จึงมีผู้โดยสารเกินกว่าที่นั่ง ที่จองไว้ก็เลยไม่ได้ใช้บริการ ต้องยืนกันเป็นชั่วโมงก่อนที่จะกลับถึงลอนดอน             British Council โดยคุณ Kathie Epstein หัวหน้าฝ่ายการศึกษานอกโรงเรียนและการอาชีวศึกษา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำที่ภัตตาคารจีนแห่งหนึ่งในย่าน China Town มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปผลการศึกษาดูงานตลอดสัปดาห์ และบอกเล่าความประทับใจของแต่ละคน ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง
หมายเลขบันทึก: 59420เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2006 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ที่นี่สวยดีนะครับ 
  • Warwick
  • ขอบคุณมากครับผม
ผมได้ข้อมูลจากที่ อ.ดิศกุล ได้มาเพยแพร่มากเลยครับ
ข้อมูลน่าสนใจเป็นความรู้ดีครับ
เป็นความรู้ดีครับ ขอให้ อ.ดิศกุล มีผลงานดีๆแบบนี้มาให้ความรู้เรื่อยๆนะครับผมจะแวะมาอ่านบ่อยๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท