ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๘๑. ไปลอนดอนครั้งที่สามในรอบ ๘ เดือน ๔. วางพื้นฐานทำงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสุขภาพ ที่มีข้อมูลหลักฐานอ้างอิง



นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนแก่ต้องยักแย่ยักยันเดินทางไปลอนดอน แล้วกลับใน ๔ วัน คือร่วมขบวนของมหาวิทยาลัยมหิดล และ HITAP ไปลงนามความร่วมมือสร้างความเข้มแข็งด้าน การประเมินเทคโนโลยีสุขภาพ / จัดลำดับความสำคัญในการใช้เงิน และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อสุขภาพ

หัวใจคือ ทรัพยากรมีจำกัด ต้องมีวิธีจัดลำดับความสำคัญในการใช้ทรัพยากร (ดังใน รำพึงรำพันนี้) และวิธีการนั้น กลายเป็นสาขาวิชา เชิงประยุกต์/เชิงสหสาขา ที่เรียกว่า HITA (Health Intervention and Technology Assessment) หรือ HTA (Health Technology Assessment) ที่หน่วยงานที่ทำงานนี้ในประเทศไทย (และมีชื่อเสียงก้องโลก) คือ HITAP ส่วนหน่วยงาน วิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอกและโทในสาขานี้ คือสาขาวิชาเภสัชสังคม ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำงานมานาน ๒๔ ปี สร้างชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ และร่วมมือกับ HITAP ผลิตบัณฑิต ปริญญาเอกด้าน HTA ไปแล้วหลายคน

งานที่มหาวิทยาลัยมหิดลรับทำ เป็น South – South Collaboration (SSC) ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ LMIC (Low & Middle Income Countries) ในด้าน HTA เพื่อให้ระบบนโยบายสุขภาพของเขามีลักษณะ evidence-based ซึ่งน่าจะเรียกชื่อโครงการว่า SSC-HTA (South – South Collaboration in HTA Strengthening)

เช้าวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ทีมมหาวิทยาลัยมหิดลทัดคุยกัน เพื่อหาทางดำเนินการให้บรรลุความสำเร็จให้ได้ โดยเรามีเป้าหมายให้หลักสูตรการผลิตบัณฑิตและการวิจัย มีคุณภาพเป็นเลิศในระดับโลก

บ่ายวันเดียวกันเรานัดประชุมกันที่สำนักงาน NICE ซึ่งอยู่ในอาคาร British Council ที่ Trafalgar Square มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง NICE กับมหาวิทยาลัยมหิดล และมีการนำเสนอหน่วยงานเพื่อทำความรู้จักกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ iDSI (ทำหน้าที่จัดการทุนสนับสนุน โดยส่วนหนึ่งไปที่ HITAP อีกส่วนหนึ่งมาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ปี ละ $ 150,000 และมหาวิทยาลัยมหิดลสมทบปีละ ๕ ล้านบาท)และ CHE (Center for Health Economics) ของ University of York ที่มีความเข้มแข็งมากด้านวิชาการและการสร้างคน เขาจะมาร่วมสนับสนุน SSC-HTA นี้ด้วย

ผู้ที่มาร่วมพิธีและการประชุมแลกเปลี่ยน นอกจากหน่วยงานที่เอ่ยถึงแล้ว มีศาสตราจารย์จากอัฟริกาใต้ ที่ทำงานด้านนี้ในเครือข่ายเดียวกัน และมีคนจาก DFID

เช้าวันที่ ๑๘ ทีมไทยนัดมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มี นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการ HITAP มาร่วมด้วย ทำให้ชัดเจนขึ้นมากว่ามหาวิทยาลัยต้องกำหนดตัวบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารโครงการนี้ในระดับมหาวิทยาลัยให้ได้ภายใน ๑ เดือน นี่คือตัวชี้วัดความสำเร็จตัวแรกต่อทีมมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จริงทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้แสดงความเอาจริงเอาจังมาก่อนนี้ ขั้นตอนหนึ่งแล้ว คือการแสดงความใจป้ำออกเงินเพิ่มกว่าเท่าตัวสนับสนุนโครงการนี้ทุกปี เป็นเวลา ๕ ปี

เมื่อคุยกันลงรายละเอียด ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ผลลัพธ์ที่ต้องการจากโครงการนี้มีถึง ๓ ด้าน ไม่ใช่มีเฉพาะการผลิตบัณฑิต ปริญญาเอก (และโท) ที่มีคุณภาพสูงเป็นเลิศในโลก ผลลัพธ์ที่สองคือผลงานวิจัยด้าน HTA ที่มีคุณภาพสูง และประการที่ ๓ คือ การนำ HTA ไปใช้ในการกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในเครือข่าย

ซึ่งหมายความว่า ผู้อำนวยการโครงการ SSC-HTA ของมหาวิทยาลัยมหิดล ต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่ร่วมมือ (เวลานี้มีอินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม) ให้ใกล้ชิดทั้งฝ่ายวิชาการ คือมหาวิทยาลัย และฝ่ายระบบสุขภาพ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้มีการขับเคลื่อน evidence-based policy-making ในระบบสุขภาพไปพร้อมๆ กัน หากโครงการ SSC-HTA ทำงานเน้น เฉพาะด้านวิชาการ คู่ร่วมมือในประเทศเครือข่ายมีเฉพาะฝ่ายมหาวิทยาลัย โอกาสที่โครงการนี้จะไม่ประสบความสำเร็จจะมีสูง

อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยมหิดลเรามีตัวช่วยหลายตัวมาก เช่น PMAC, โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก, สวรส., ThaiCA, สสส., สปสช., และ MUGH รวมทั้งมียอดขุนพลด้านวิชาการ evidence-based health policy-making ที่ยอมรับกันไปทั่วโลก ได้แก่ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, และดาวรุ่งพุ่งแรงคือ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ พ่อสื่อของโครงการ SSC-HTA นี่เอง

หัวใจคือทำจริง หาภาคีที่เอาจริง มีการจัดการจริงจัง



ทีมมหาวิทยาลัยมหิดลประชุมหารือเช้าวันที่ ๑๗



ระหว่างเดินไปที่ประชุม บ่ายวันที่ ๑๗


รูปนี้ผมเป็นตากล้อง


ในห้องประชุมบ่ายวันที่ ๑๗


ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง


ถ่ายรูปหมู่หลังการประชุมที่ NICE เย็นวันที่ ๑๗


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๕๘

บนเครื่องบินการบินไทยจากลอนดอนไปกรุงเทพ


หมายเลขบันทึก: 593765เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2015 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2015 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท