โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมไทย


โครงสร้างและพลวัตวัฒนธรรมไทย ( The Thai Cultural Structures and Dynamics )

โดย ดร. อุทัย เอกสะพัง

เกริ่นนำ

การเรียนในระดับปริญญาเอกนั้น โดยเนื้อแท้แล้วคือการเตรียมตัวเพื่อค้นหาวิธีเขียนดุษฎีนิพนธ์ของตนเอง มี 4 แนวทางคือ

1 . ทางศิลปวิจารณ์ เป็นการวิเคราะห์งานเขียนเอกสาร

2 . ทางคติชนวิทยา เป็นการศึกษากิจกรรมของคนโดยเน้นด้านภูมิปัญญา

3 . ทางมานุษยวิทยา เป็นการตีความหมายพฤติกรรมของคน

4 . ทางผสมทั้ง 3 แนวข้างต้นเน้นวิถีชีวิตประจำวัน ขยายเป็น 2 มุมคิด

4.1 ด้านการครอบงำทางวัฒนธรรม

4 .2 ด้านการช่วงชิงความหมาย

การศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษานั้นเป็นการศึกษาวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง วิถีวัฒนธรรมเหมือนการแสดงละครถึงแม้แสดงเรื่องเดียวกันก็จริงเมื่อนำมาแสดงครั้งต่อ ๆ ไปจะไม่เหมือนกันแล้ว การแสดงออกของคนเราเมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ จะสะท้อนภาพออกมาอย่างไร นาย ก. อยากชมนางสาว ข. แต่เขาทำไม่ได้ เขาเลยนำมาชมไว้ในงานวรรณกรรมหรืองานศิลปะ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวแทนของการชม ทำให้คนเป็นอิสระทางมุมคิด และเป็นมิติทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในช่องว่างทางสังคม กลุ่มนายหนังตะลุง ลำตัด นักร้อง นักกวี จึงใช้ช่องทางนี้สร้างสรรค์งานจรรโลงโลก

การเรียนรู้อะไรของเรานั้น ต้องเป็นการเรียนรู้อย่างตกผลึกเป็นความรู้แบบเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเหมือนคมดาบจึงจะฟันได้ดี เราต้องเรียนรู้ที่ถอดมุมคิดจากนักปราชญ์ทั้งหลาย เราจะต้องไม่ติดอยู่ในกรอบหรือไม่อยู่ในกะลาครอบในสายวัฒนธรรมใด ประเด็นปัญหาหนึ่งอาจจะถามได้ว่า เราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนอย่างไรให้มีความสุข เราจะใช้ชีวิตนี้อย่างไรให้เกิดเป็นศิลปะในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามได้

ในโลกเราทุกวันนี้มีการข้ามพรมแดน ทุกสิ่งมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามอัตลักษณ์ที่คนเราแสดงอยู่ เรื่องพลวัตมันเกิดขึ้นแต่คนเรามองไม่เห็นเพราะไม่ได้ใช้ดวงตาแห่งปัญญาในการมอง

โดยปกติแล้วคนเราชอบอยู่ในความมืดคืออวิชชาเลยชอบอะไรที่เป็นเรื่องไร้สาระชอบอ่านหนังสือที่เรียกว่าน้ำเน่าไม่ใช่หนังสือวิชาการ ผู้เรียนต้องผลิตผลงานออกมาให้น่าเชื่อถือมีพลังในการอธิบายสังคมได้ยิ่งดี มองในส่วนวัฒนธรรมถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเรามีสติ แต่บางคนก็เอาวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าก็มี

การที่เราเห็นความเป็นพลวัตแล้วเราก็ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่แบบเดิม ๆ ได้ ด้วยว่าโลกเราเป็นโลกไร้พรมแดน ทุกอย่างมันมีการช่วงชิงเชิงปฏิบัติการเพื่อความได้เปรียบในหลากหลายจนก่อให้เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ ๆ ที่ไร้ค่าย ไม่มีการลงตัวเพราะอะไรที่มันลงตัวแล้วสิ่งนั้นก็หยุดนิ่ง

สำหรับโครงสร้างที่เราสัมผัสได้ง่ายและใกล้ตัวเรานั้นได้แก่ชุมชน ความเป็นโครงสร้างชุมชนมีจุดอ่อนจุดแข็ง ความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงอำนาจและบารมีที่ว่ากลุ่มมีอำนาจกับกลุ่มที่มีบารมีต่างช่วงชิงความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

วัฒนธรรมศึกษาเรียนรู้อะไร

เดิมวัฒนธรรมศึกษามีอยู่ 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ ด้านมนุษยศาสตร์เน้นตัววัฒนธรรมเป็นหลัก เช่น เรียนรู้ด้านงานศิลปะ ด้านภาษา ด้านปรัชญา ด้านศาสนาเปรียบเทียบ ด้านคติชนวิทยา ส่วนด้านสังคมศาสตร์ เป็นการสนใจในวัฒนธรรมที่ขยายออกไปอีกเป็นวัฒนธรรมทางสังคม และสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทั้งด้านดีและไม่ดี

วิชาวัฒนธรรมศึกษานี้เป็นแนวคิดใหม่เกิดขึ้นทางตะวันตกเริ่มที่ประเทศอังกฤษในช่วง 35 ปีมาแล้ว ( ค.ศ. 1980 )เขาเรียกว่า Cultural Studies อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมในแนวกระแสหลักคือแนวมนุษยศาสตร์ ในไทยเราเน้นด้านคติชนวิทยามากหรือเรียกว่าแนวจารีตนิยม ในวิชามานุษยวิทยานั้นมีเรื่องเกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์เช่น ทำไมเราถึงมีคำราชาศัพท์ มีวัฒนธรรมของการใช้ภาษา นอกจากนั้นยังศึกษาความเป็นชาติพันธุ์ด้วย

วัฒนธรรมศึกษาจะเรียนรู้อะไร

ขึ้นอยู่กับความสนใจเฉพาะบุคคลว่าตนเองถนัดแนวไหนแล้วดิ่งเดี่ยวไปในทิศทางนั้นแบบศึกษาให้ลุ่มลึกเพื่อค้นหาเป้าหมายแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานของตน การเรียนรู้วัฒนธรรมศึกษาจะมีพลังได้ต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้อย่างมีทิศทางของตน มีโครงสร้าง มีพลวัตวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ และมีชาติพันธุ์ เหล่านี้คือกระบวนการต่อยอดมุมคิดทั้งสิ้น ด้วยการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีความต้องการแค่ความรู้พื้นฐาน เรียนเพื่อรู้และเข้าใจเฉย ๆ แต่พอศึกษาในระดับปริญญาโทต้องเรียนรู้เพื่อนำแนวคิดต่าง ๆ ไปปรับใช้อธิบายปัญหาต่าง ๆ ให้ได้ สำหรับการศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้นต้องเรียนรู้แล้วสามารถค้นคิดหรือสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาให้ได้จากการศึกษาของตนเอง

สิ่งสำคัญที่สุดในการศึกษาระดับปริญญาเอกคือ การฝึกฝนอบรมตนให้มีความสามารถในการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นงานวิจัยที่ดี โดยเลือกค้นคว้าในสิ่งที่เราชอบเราสนใจแล้วดิ่งเดี่ยวอยู่กับสิ่งที่เราทำนั้นอย่างใจจดจ่อ เหมือนใบมีดก็ต้องลับให้คมอยู่เสมอ ลับในที่นี้คือการฝึกตนให้เรียนรู้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดนั้นแล.

หมายเลขบันทึก: 593726เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท