ถนนวัฒนธรรม


ถนนวัฒนธรรม

โดย...ดร. อุทัย เอกสะพัง

คนไทยตั้งแต่โบราณมาถึงปัจจุบันเรียนรู้แบบวัฒนธรรมจารีตนิยม คือจดจำเนื้อหาเป็นผลมากกว่าเอาวิธีการเป็นมรรควิธี สังคมไทยล้วนฝึกผู้ด้อยเดียงสาเข้าสู่กรอบของจารีตที่คนรุ่นก่อนได้สืบสานเอาไว้เป็นการวางตัวผู้ร่วมรากเหง้าสายพันธุ์เดียวกัน มีการบอกเล่าถ่ายโอนทั้งคดีโลกและคดีธรรมตอกย้ำด้วยพิธีกรรมตามประเพณี สืบสันดานให้คนรุ่นนี้เข้าถึงความแท้จริงโดยการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

อัตลักษณ์ที่โดนใจในวัฒนธรรมของคนไทยก็ออกมาเป็นแบบจดจำได้หมายรู้

การเรียนรู้แบบวัฒนธรรมของคนไทยควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจด้านวิชาการแต่ควรมีหลักแห่งความเชื่อตามทฤษฎีกาลามสูตร เมื่อมองในแง่ภูมิปัญญามีหลักคิดอยู่ 2 ส่วนคือมรรควิธีก่อให้เกิดภูมิปัญญาและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญา มีเส้นทางยาไส้เพื่อเพิ่มมูลค่าอันมีฐานทางเศรษฐกิจกับเส้นทางยาใจเพื่อเพิ่มคุณค่าอันมีวัฒนธรรมเป็นรากฐาน

การได้มาของภูมิปัญญาไทยส่วนมากมาจากรากเหง้าทางศาสนาพุทธ คนไทยส่วนใหญ่จึงมีความเชื่อแบบจิตนิยมมากกว่าวัตถุนิยม และเน้นการปลูกฝังด้านคุณค่ามากกว่าการเพิ่มมูลค่า จึงกลายเป็นจุดอ่อนแอด้วยไม่สนับสนุนหรือไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยม พาณิชย์นิยมและระบบทุนนิยมและคนส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตเหมือนลูกโป่งลอยไปตามลม

ความเจริญงอกงามของภูมิปัญญาไทยนั้นเติบโตมาจากวัฒนธรรมลัทธิเอาอย่างความรู้ที่ได้จึงกลายเป็นสูตรสำเร็จเหมือนอาหารประเภทจ่ายครบยกไปนั่งกินได้เลย

มันเป็นการเรียนรู้จักจดรู้จักจำและทำตามแบบอย่างคนรุ่นก่อนที่สอนเอาไว้ไม่ให้วัดรอยตีนเพราะจะกลายเป็นทรพีซึ่งกลับกลายมาเป็นจุดอ่อนทางวัฒนธรรมที่เจอทางตันมีปัญญามืดบอดมองไม่เห็นมรรควิธีทำให้อ่อนแรงพลังและวิถีไทยจะแข่งกับใคร ๆ ก็รู้ผลล่วงหน้าแล้ว

ฐานคิดทางภูมิปัญญาไทยโดยมากมาจากธรรมชาตินิยม บรรพชนไทยจึงค้นหาเส้นทางเพื่อเข้าถึงจิตใจในธรรมชาติ เอาวิถีชีวิตตนผูกติดกับความเป็นธรรมชาติเพื่อการดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยซึ่งกันและกัน

ในความเป็นภูมิปัญญานั้น เป็นเหมือนดาบสองคมขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่ามีจิตใจเป็นกุศลหรืออกุศล ภูมิปัญญาจะเป็นยาหรือเป็นมายาคติหรือเป็นยามีพิษขึ้นอยู่กับผู้สร้างและผู้เสพเอง

วัฒนธรรมคนภาคใต้ของประเทศไทยในอดีตล้วนแต่ไม่ยกย่องคนมีปัญญา เพราะมีภาพลักษณ์ของคนฉลาดมักแกมโกงและใช้ปัญญาของตนเอาเปรียบคนอื่น ถือว่าเป็นบาปเป็นกรรมและไม่เป็นที่ชื่นชอบตามวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ แต่วัฒนธรรมของชาวใต้นั้นให้การยกย่องคนดีมีศีลธรรมนำคุณพระ เหมือนคนที่ยึดอาชีพเป็นคุณครูควรกระทำตนเป็นฤาษีผู้รักษาศีลจะมีบารมี มีความสุขใจไปตามอัตภาพแห่งตนตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 593725เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2015 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2015 08:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท