โรงเรียนชาวนา


โรงเรียนชาวนา

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา)

ปัญหาใหญ่ของชาวนา คือหนี้สิน บริหารหนี้ไม่หลุดห่วง ถามว่าจะหลุดห่วงหนี้ได้อย่างไร คำตอบคือ เราต้องมองตัวเองก่อน หนี้สินมันมาจากไหน ราคาผลิตตกต่ำ ต้นทุนสูงใช่ไหม ต้นทุนเราลดโดยขอต่อรองราคาปุ๋ยได้ไหม มันก็ไม่ได้แล้ว เราจะแก้ปัญหาอย่างไร การแก้ปัญหาเรามีความรู้มาก่อนความรู้ก็เกิดจากการลองผิดลองถูก ผิดก็เป็นครูถูกก็เป็นครู เมื่อเกิดความชำนาญเราก็นำความรู้มาใช้เราก็จะปลดหนี้สินได้

นายผ่าน ปันคำ ปราชญ์พื้นบ้าน เจ้าของโรงเรียนชาวนาเกษตรยั่งยืน ตำบลศรีเมืองชุม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สิ่งแรกที่ชาวนาต้องหันมามองคือ ฐานอาหารเราควรปลูกทุกอย่างที่เรากิน แล้วก็กินทุกอย่างที่เราปลูก เหลือก็แจกจ่ายไป เหลือจากขายก็เอาไปแปรรูป นอกจากปลูกอาหารที่เรากินแล้วต้องหันมาดูตัวเองว่า รายจ่ายแต่ละวันสิ้นเปลืองไปกับอะไรบ้าง ดื่มมากไปไหม เล่นหวยมากไปหรือไม่ ต้องค่อยตัดออก วิธีที่ดีที่สุดทำบัญชีครัวเรือน

การปลดหนี้สิน ต้องไปดูที่ต้นตอว่าเกิดจากอะไรด้วย เกิดจากการนำเงินไปใช้ผิดประเภท ใช่หรือไม่ อย่างกู้เงินมาลงทุนทำนา แต่เอาไปจ่ายค่าหน่วยกิตให้ลูก ถึงเวลาลงทุนก็ไปหากู้ต่ออีก ทำให้ไม่หลุดจากห่วงหนี้สินได้

นายผ่านถอดบทเรียนของตัวเองว่า เมื่อก่อนทำนาจำนวน 14 ไร่ หันว่ามองตนเองว่า นาที่ทำมากไปและยังปลูกพืชอย่างเดียว จึงลดพื้นที่ทำนาลง เจียดไป ปลูกทุกอย่างที่เรากิน เพื่อจะได้ กินทุกอย่างเราปลูก และเลี้ยงเป็ด ไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลาเสริมเข้าไป ทำให้เอาตัวรอดได้ ถ้าเอาตัวไม่รอดแสดงว่าเรารู้ไม่จริง ถ้าไม่ขวนหวายหาความรู้

ปัจจัยดังกล่าวเป็นที่มาของโรงเรียนชาวนา หลักการเรียนคือ เรียนรู้ สังเกต จดจำ บันทึก เปรียบเทียบ จนจบปริญญาชีวิต เรียนจนสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เพื่อเราจะได้อยู่ดี อยู่ได้ อยู่รอด อยู่ดีคือ สามารถทำให้ตนเองมีอยู่ อยู่ได้คือ ช่วยญาติพี่น้องได้ อยู่รอดคือ ออกไปหาวิทยากรถ่ายทอดได้ โรงเรียนชาวนามีหลักสอนอย่างไร สอนหลักคิด สอนหลักทำ สอนหลักปฏิบัติ

อย่าเพิ่งเชื่อว่าดีหรือไม่ แต่ขอให้มาทำด้วยกัน อย่างทำนา 1 ไร่ได้ข้าว 1 เกวียน แล้วถ้าจะทำข้าว 1 ไร่ ให้ได้ข้าว 1 เกวียนจะทำอย่างไร ไม่เชื่อไม่เป็นไร ลองมาทำด้วยกัน การเรียนรู้เพื่อเพื่อผลผลิตนั้น ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ดิน ว่ามีความเป็นกรดเป็นด่างอย่างไร สภาพน้ำเป็นอย่างไร อากาศเป็นอย่างไร เมื่อเรียนรู้สภาพพื้นที่แล้ว ก็ต้องเรียนแนวป้องกันด้วยว่า ถ้าแล้งขึ้นมาจะทำอย่างไร ฝนตกมากจะทำอย่างไร มีผลกระทบอย่างไรกับนาข้าว ถ้าแล้งจะเกิดแมลงอะไร ถ้าชื้นมากจะเกิดเชื้อราอะไร แฉะไปเกิดโรครากเน่า ปัญหานี้แก้อย่างไร

หลักการเรียนรู้ ต้องรู้ให้จริง แล้วจด จำบันทึก และเปรียบเทียบ

การให้คนมาเรียน เราต้องทำให้เขาเห็น อย่างคนใกล้ตัวก็ยากนะ เขาไม่ค่อยเชื่อเราหรอก เราต้องทำให้เขาดู เราต้องคิดดี ทำดี ทำไปแบบไม่หยุด อย่าท้อกับปัญหา เพราะปัญหากับความสำเร็จ จะอยู่คู่กัน เราอย่ากลัวปัญหา และอย่าหนี จงแก้ปัญหาด้วยสติ ถ้ามีสติ ปัญญาจะเกิดขึ้น

เชื่อได้เลยว่า ถ้ารู้จริงจะไปรอด ชาวนามีหนี้เพราะไม่รู้จริง อย่างอากาศร้อนแก้ปัญหาอย่างไร หนาวแก้อย่างไร ธาตุอาหารของพืชมีกี่ชนิด พืชต้องการธาตุอาหารช่วงไหน ระยะไหน ต้องรู้ตรงนี้ ไม่ใช่ทำตามๆกัน ชาวนาอาชีพกับชาวนามืออาชีพต่างกัน

คำว่าชาวนาอาชีพเป็นหนี้ หนี้เพิ่มมาทุกปีก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม ถ้าเป็นนักธุรกิจไม่ได้แล้ว ต้องหาวิธีการบริหารใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเป็นชาวนามืออาชีพต้องรู้ให้จริง รู้ให้ลึก รู้ให้ชัด ว่าข้าวหนึ่งถังมีกี่เมล็ด แตกกี่หน่อ รู้ทั้ง ดิน ฟ้า อากาศ

ข้าวหนึ่งถังมีประมาณ สี่แสนเมล็ด ข้าวหนึ่งเมล็ดสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 5 – 50 หน่อ ขึ้นอยู่กับว่าหว่านมากหรือน้อย เรื่องนี้เราต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เท่ากับทำนาเหมือนคนตาบอด ทำอย่างไม่มีเป้าหมาย เราต้องรู้เลยว่าปีนี้จะได้ข้าวเท่าไรและต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะได้ เมื่อถามถึงตลาด ต้องสร้างตลาดคุณธรรมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตผลอะไร ต้องปลอดสารพิษ เป็นอาหารที่ปลอดภัย ต้องใส่ใจกับชุมชน ถึงจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน กรณีข้าวถูกอย่างนี้ เราก็แก้โดยทำทุกอย่างที่กินได้ อย่าทำขาย ทำพืชให้มันหลากหลาย เน้นเรื่องอาหารอย่าไปเน้นข้าว ถ้าเราทำอย่างนี้ด้วยกัน คนที่ไม่ทำนาจะอยู่ได้อย่างไร เพราะเราทำก็เป็นหนี้ เราจึงต้องทำแค่พอกิน พื้นที่นอกจากนั้นปลูกพืชอย่างอื่น อีกหน่อยเราก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างอิสระและยั่งยืน

โรงเรียนชาวนา เปิดสอนชาวนามาหลายรุ่น วิชาที่เรียนมีทั้งเรื่อง ดิน น้ำ อากาศ โรคพืช การแก้ไข การทำปุ๋ยใช้เอง กลไกลการตลาด มุ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ และเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านการเกษตร ไปในวงกว้าง

ต้นไม้ทุกต้นเป็นครู เราผ่านการทดลองผิดลองถูกมานาน ผิดก็ครูถูกก็ครู เมื่อได้ความรู้มาก็ยากให้นำไปใช้ จะได้ไม่ต้องลองผิดลองถูกอีก นี่เป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียน#ชาวนา
หมายเลขบันทึก: 593200เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2015 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2015 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีครับ อยากให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมกระบวนการจักการครับ ที่ว่าเราสามารถทำนาอย่างรู้จริง แล้วทำได้ไร่ละเกวียนน่ะครับ

สวัสดียามดึกจ้ะคุณหมอแดง

ตามมาเชียร์เลยครับ

ที่สุพรรณฯมีที่มูลนิธิข้าวขวัญครับ

อยากทราบว่า..ทำอย่างไรจึงจะทำ..ให้อาชีพ ชาวไร่ชาวนา.ชาวสวน...กรรมกร..มีสวัสดิการมีรายได้ ที่เท่าเทียม..หรือความแตกต่างที่ไม่มากอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้..ในสังคม..

อาชีพดังกล่าวมา เป็นคนที่เป็นกลไกสำคัญของสังคม..แต่ไม่ได้รับ ความเป็นธรรม..ขาดการเหลียวแลและเอาใจใส่อย่างจริงจัง (จากรัฐ) กับปัญหาที่มีอยู่เวลานี้..ปัญหาที่เห็น.คาราคาซัง เหมือนต้นข้าวขาดน้ำ(..อิอิ) .คือที่ดินทำกิน..ปัญหา คอรับชื่นน..

ที่สำคัญ..หากลืม มอง ในอนาคต..เราอาจจะไม่มีอาชีพนี้คือคนปลูกข้าวให้เรากินทั้งประเทศ..โปรดสำรวจ..ว่ามีลูกหลานชาวนาสักกี่คนที่กลับไปช่วย พ่อแม่ทำนา...เมื่อไม่มีแรงงาน..ไม่มีครอบครัว(เพราะระบบในสังคม..)..

รายได้ สามร้อยบาท ต่อ วัน..แต่ต้องใช้...สี่ห้าร้อยต่อวัน..มันคืออะไร...?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท