พระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน) เจ้าเมืองประจันตคาม


"เลือดกูไหลริน ทาแผ่นดินกำพูชา เพื่อประกาศศักดา ให้พวกมึงรู้ว่า กูคือนักรบแห่งเมืองประจันตคาม

การก่อสร้างอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)




วีรบุรุษนักรบ แห่งเมืองประจันตคาม

แรงบันดาลใจ

เมื่อข้าพเจ้าได้รับคำสั่งโยกย้ายจากตำแหน่งนายอำเภอพลจังหวัดขอนแก่นมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอประจันตคามจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2529ภรรยาและบุตรเดินทางมาด้วยกันครบทั้งครอบครัวตอนเช้าจะตื่นนอนเวลาประมาณ 05.00 น.เดินออกกำลังกายตามถนนในตลาดจนถึงเวลา 06.00 น.ก่อนเข้าบ้านพักผ่านตลาดสดจะเดินดูสินค้าในตลาดสดตอนเช้าซึ่งประชาชนในหมู่บ้านต่างนำมาขายได้ยินชาวบ้านที่นำสินค้าเช่นผักปลา และสินค้าอื่นๆ จากหมู่บ้านมาขายพูดจาด้วยภาษาและสำเนียงอีสานเกิดความสงสัยว่าได้ย้ายจากแดนอีสานมาอยู่ภาคกลางทำไมจึงมีประชาชนพูดภาษาอีสานเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอำเภอประจันตคามอย่างละเอียด จากผู้นำชุมชนผู้เฒ่า ผู้สูงอายุและหนังสืออ้างอิง จึงทราบความเป็นมาของอำเภอประจันตคามในอดีต ดังนี้

ประวัติเมืองประจันตคามและพระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)

ในปี พ.ศ. 2369ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3แห่งราชวงศ์จักรีเจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏยกทัพมาตีเมืองนครราชสีมาเมื่อชาวเมืองนครราชสีมาได้รวมกำลังตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไปแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดฯแต่งทัพและให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์)เมื่อครั้งเป็นพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏให้ราบคาบ

เมื่อตีเมืองเวียงจันทน์ได้แล้วอพยพครอบครัวลี้พลบางส่วนจากเมืองเวียงจันทน์เมืองมหาชัยกองแก้วเมืองทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเมืองสกลนครและอีกหลายเมืองในภาคอีสานของไทยมาด้วยท้าวอุเทนบุตรท้าวสร้อยเพียเมืองแสนพร้อมกับท้าวฟองบุตรพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์และท้าวอินทร์บุตรเจ้าเมืองสกลนครซึ่งคุมกำลังพลเป็นนายกองของทัพหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองส่งไปช่วยรบกับทัพเมืองกรุงได้นำคนที่ถูกอพยพมาตั้งกองรวมกันอยู่เป็นหมู่บ้านใหญ่ในพื้นที่อำเภอประจันตคามในปัจจุบันต่อมาท้าวฟองยกกำลังไพร่พลแยกไปเลือกพื้นที่ตั้งเป็นเมืองอยู่ที่กบินทร์บุรีท้าวอินทร์ยกกำลังไพร่พลไปเลือกพื้นที่ตั้งเป็นเมืองอยู่ที่พนัสนิคมฝ่ายท้าวอุเทนได้รวบรวมกำลังไพร่พลไปเลือกที่ตั้งเมืองอีกเช่นกันเลือกทำเลที่เหมาะสมได้ที่ดงยางหรือบ้านเมืองเก่าปัจจุบันตั้งเป็นเมือง

เมืองประจันตคามจึงอุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2376เมื่อตั้งเป็นเมืองเรียบร้อยแล้วท้าวอุเทนเจ้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงภักดีเดชะว่าราชการเมืองได้ 2 ปีเศษเกิดศึกญวนมาตีเมืองพนมเปญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์)เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเมืองพนมเปญและได้เกณฑ์เมืองประจันตคามเมืองพนัสนิคมและเมืองกบินทร์บุรีรวมเป็นกองทัพหน้าส่วนหนึ่ง ยกไปสู้รบข้าศึกญวนทำการรบอยู่ประมาณ 3 ปีเศษจึงขับไล่ข้าศึกญวนถอยไปเจ้าเมืองทั้ง 3ผู้ร่วมรบมีความชอบในราชการทัพเมื่อกลับมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระในนามเดิมทั้ง 3 ท่านเจ้าเมืองประจันตคามจึงได้เป็นพระภักดีเดชะ

ต่อมาอีกประมาณ 1 ปีข้าศึกหวนกลับมาตีเมืองพนมเปญอีกเจ้าเมืองตะวันออกได้รับใบบอกและโปรดให้เกณฑ์คนไปช่วยรบพระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)ได้นำกำลังพลชาวเมืองประจันตคามเข้ากองทัพร่วมกับเจ้าเมืองกบินทร์เช่นครั้งก่อนส่วนเจ้าเมืองพนัสนิคมในฐานะเป็นหัวเมืองใกล้ทะเลนัยว่าถูกเกณฑ์ไปเข้าประจำกองทัพเรือในกรุงเทพฯในการไปราชการทัพครั้งนี้พระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)เจ้าเมืองประจันตคามเสียทีแก่ข้าศึกตายในที่รบเยี่ยงวีรบุรุษไทยในปัจจุบันโดยสรุปพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)จึงเป็นเจ้าเมืองคนแรกอยู่ได้ 6ปีก็มาสิ้นชีพในที่รบ

ขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์)แม่ทัพเห็นว่าบุตรพระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)ยังเยาว์นักไม่สามารถจะว่าราชการได้ จึงแต่งตั้งท้าวอินทร์บุตรของพี่สาวพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)ซึ่งเวลานั้นเป็นหลวงศักดาสำแดง ยกกระบัตรรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองท้าวคำ น้องท้าวอินทร์ขณะนั้นเป็นขุนอรัญไพรศรีรั้งตำแหน่งปลัดเมืองควบคุมไพร่พลเมืองประจันตคามทำการรบต่อไปราชการทัพครั้งที่ 2 นี้รบอยู่ประมาณ 6 ปีจึงมีชัยชนะต่อข้าศึกญวนเมื่อเสร็จศึกสงครามกลับมาแล้วหลวงศักดาสำแดง(ท้าวอินทร์)ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองประจันตคามได้รับบำเหน็จความชอบในที่รบได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระภักดีเดชะ (ท้าวอินทร์)เจ้าเมืองประจันตคามสืบต่อเป็นท่านที่ 2ขุนอรัญไพรศรีผู้น้องเจ้าเมืองคนใหม่เป็นหลวงสุรฤทธาปลัดเมือง ส่วนท้าวโทบุตรเจ้าเมืองคนแรกซึ่งเสียชีวิตในที่รบมีอายุและความสามารถพอจะรับราชการได้จึงได้รับบำเหน็จตกทอดจากบิดาให้เป็นขุนอรัญไพรศรีซึ่งในระยะต่อมาภายหลังได้เลื่อนเป็นหลวงศักดาสำแดงยกกระบัตรพร้อมกับท้าวสุวรรณบุตรท้าวสุโทหลานพี่สาวท้าวอุเทนได้เป็นหลวงศรีวิเศษผู้ช่วยราชการขวาพระภักดีเดชะ (ท้าวอินทร์)เจ้าเมืองคนที่ 2ว่าราชการเมืองอยู่นานถึง 44 ปีก็สิ้นชีพตักษัย

หลวงสุรฤทธา (ท้าวคำ)ปลัดเมืองน้องชายเจ้าเมืองคนที่ 2ได้เลื่อนเป็นพระภักดีเดชะเจ้าเมืองคนที่ 3หลวงศักดาสำแดง (ท้าวโท)เป็นหลวงสุรฤทธาปลัดเมืองพระภักดีเดชะ(ท้าวคำ)เป็นเจ้าเมืองคนที่ 3เมื่ออายุมากแล้วว่าราชการอยู่ได้เพียง 6 ปีก็สิ้นชีพตักษัย

หลวงศรีวิเศษ (ท้าวสุวรรณ)ผู้ช่วยราชการขวาได้เป็นพระภักดีเดชะเจ้าเมืองประจันตคามคนที่ 4ส่วนหลวงสุรฤทธา (ท้าวโท)ปลัดเมืองบุตรพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)เจ้าเมืองคนแรกเป็นง่อยไม่สามารถรับราชการได้ขอลาออกจึงให้ท้าวพรหมาบุตรคนที่ 1ของเจ้าเมืองคนเดิมเป็นขุนคลังขึ้นเป็นหลวงสุรฤทธาปลัดเมืองแทนพระภักดีเดชะ(ท้าวสุวรรณ)ว่าราชการอยู่ 13 ปีก็สิ้นชีพตักษัย

ต่อจากนั้นมาในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5แห่งราชวงศ์จักรีกำลังทรงดำริปฎิรูปการปกครองหัวเมืองจะทรงยุบหัวเมืองเล็กเช่นเมืองประจันตคามเมืองกบินทร์บุรีลงเป็นอำเภอจึงยังไม่ตั้งเจ้าเมืองอีกแต่ให้หลวงสุรฤทธา (ท้าวพรหมา)ปลัดเมืองรั้งราชการอยู่ 3 ปีก็ถึงคราวยุบเมืองประจันตคามลงเป็นอำเภอเรียกว่าอำเภอประจันตคามในปี พ.ศ. 2448รวมระยะเวลาก่อตั้งเป็นเมืองประจันตคามอยู่ 72 ปี

เมืองประจันตคามมีเจ้าเมืองปกครองตามลำดับ 4 ท่านดังนี้

1. พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) เป็นเจ้าเมืองอยู่ 6 ปี (ระหว่างปี พ.ศ.2376 - 2381)

2. พระภักดีเดชะ (ท้าวอินทร์) บุตรพี่สาวท้าวอุเทน เป็นเจ้าเมืองอยู่ 44 ปี (ระหว่างปี พ.ศ.2382 - 2425)

3. พระภักดีเดชะ (ท้าวคำ) บุตรพี่สาวท้าวอุเทน เป็นเจ้าเมืองอยู่ 6 ปี (ระหว่างปี พ.ศ.2426 - 2431)

4. พระภักดีเดชะ (ท้าวสุวรรณ) หลานท้าวอุเทน เป็นเจ้าเมืองอยู่ 13 ปี (ระหว่างปี พ.ศ.2432 - 2445)

ว่างแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง 3 ปี (ระหว่างปี พ.ศ. 2446 - 2448)


การดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)

@ ภายหลังจากพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)เจ้าเมืองคนแรกเสียชีวิตในที่รบแล้วมีเจ้าเมืองปกครองมา 3 ท่านรวมระยะเวลา 63 ปีระยะสุดท้ายว่างเจ้าเมืองอยู่ 3 ปีรวมเป็นเวลา 66 ปีแล้วยุบจากเมืองมาเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2448หลวงภักดีเดชะ (เยื้อนบุญยสมิต)ได้รับแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอลำดับที่ 1 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2449จนกระทั่งข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอลำดับที่ 35เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2529รวมระยะตั้งแต่นายอำเภอท่านแรกดำรงตำแหน่งมาจนถึงเมื่อข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 80 ปีนับรวมกันแล้วเป็นระยะเวลา 146 ปีที่พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)ได้เสียชีวิตในที่รบประวัติของท่านเป็นเรื่องเล่าขานและจดจำกันในหมู่วงศาคณาญาติลูกหลานในตระกุล “เดชสุภา”โดยมีร่างของท่านที่ยังไม่ได้ฌาปนกิจเก็บไว้ในศาลพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)ณ.วัดแจ้ง (เมืองเก่า)อำเภอประจันตคามจนถึงขณะนี้

@ เมื่อศึกษาข้อมูลแล้วทราบว่าเจ้าเมืองตายในสนามรบนับว่าเป็นวีรบุรุษของชาติควรที่จะได้ยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งอำเภอเกิดความคิดการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา ตามลำดับขั้นตอน คือ

-วันที่ 21 พฤศจิกายน 2529 พ่อค้าประชาชนข้าราชการทุกหมู่เหล่าในอำเภอ ภายใต้การนำของข้าพเจ้าจัดงานพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณและสดุดีวีรกรรมพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ขึ้นเป็นครั้งแรกในระดับอำเภอณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอท่ามกลางมวลชนตอนเช้าบนที่ว่าการอำเภอมีพิธีสงฆ์เลี้ยงพระกลางสนามมีแทนพิธีบวงสรวงและกล่าวสดุดีโดย ร.ต.ปัญญาศุภการปลัดจังหวัดปราจีนบุรีในขณะนั้นหลังจากนั้นมวลชนอันมีนักเรียนกำนันผู้ใหญ่บ้านพ่อค้าประชาชนร่วมงานพัฒนาพื้นที่รอบบริเวณอำเภอและที่สาธารณะโดยรอบมีเครื่องมือจักรกลของจังหวัดสนับสนุนเป็นเวลา 1 วันเป็นการแสดงออกซึ่งพลังความสามัคคีและยอมรับศรัทธาเชื่อมั่นในวีรกรรมของพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)อดีตเจ้าเมืองประจันตคาม

-วันที่ 4 มีนาคม 2530ข้าพเจ้านายอำเภอประจันตคามทำหนังสือฉบับแรกประสานงานผ่านจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อติดต่อกรมศิลปากรดำเนินการขอปั้นรูปปั้นพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)พร้อมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ที่ค้นคว้าได้ในขณะนั้น

-วันที่ 7 สิงหาคม 2530กรมศิลปากรยอมรับข้อมูลประวัติศาสตร์อนุมัติรับปั้นรูปปั้นพระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)เพื่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติให้สร้างในระดับอำเภอ

-วันที่ 1 มีนาคม 2534 เวลา 12.45 น. นายประมวล รุจนเสรีรองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีขณะนั้นเป็นประธานวางศิลาฤกษ์สร้างฐานและแท่นเพื่อประดิษฐานรูปหล่ออนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) ณ ริมถนนสายสุวรรณศรข้างสถานีตำรวจภูธรประจันตคาม

-วันที่ 25 ธันวาคม2534เวลา 11.59 น.นายอนันต์อนันตกุลปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน) นับเป็นเวลา 150 ปีเต็มที่พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)ได้เสียชีวิตในสนามรบจึงได้เกิดมีอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นมา

ทางราชการอำเภอผู้นำท้องถิ่นกำนันผู้ใหญ่บ้านพ่อค้าประชาชนชาวประจันตคามได้กำหนดเอาวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสดุดีวีรกรรมและบวงสรวงอนุสาวรีย์พระภักดีเดชะ (ท้าวอุเทน)สืบมาจนทุกวันนี้

ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอประจันตคาม

(จากอดีต-ปัจจุบัน)

ในสมัยรัชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงริเริ่มให้มีการจัดรูปการปกครองส่วนภูมิภาคแบบยุโรป ในรูปมณฑลเทศาภิบาลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๑ โดยมีหน่วยการปกครองเรียงลำดับ จากใหญ่ไปหาเล็ก ดังนี้

มณฑล – เมือง (จังหวัด) – อำเภอ – ตำบล – หมู่บ้าน

เมืองประจันตคาม หัวเมืองจัตวาได้ถูกยุบเป็นอำเภอในปี พ.ศ.๒๔๔๘ แล้วจึงเริ่มมีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอตามลำดับดังนี้

รายพระนามและนามผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอประจันตคาม

๑.หลวงภักดีเดชะ (เยื้อน บุณยสมิต) ๑๙ ต.ค.๒๔๔๙ – ๑ ส.ค.๒๔๕๑

๒.หลวงนิกรบริรักษ์ (แปลก) ๒๙ ส.ค.๒๔๕๑ – ๑๐ มิ.ย.๒๔๕๒

๓.ขุนบุพราษฎร์อำรุง (แปลก ทัศนียากร) ๑๐ มิ,ย.๒๔๕๒ – ๑ พ.ย.๒๔๕๖

๔.หม่อมเจ้าธงชัย ศิริพันธ์ ๑ พ.ย.๒๔๕๖ –๘ พ,ย.๒๔๕๘

๕.ร.อ.อ.หลวงอุไรไทยธุราการ (ชื่น ทังสุนันท์) ๘ พ.ย. ๒๔๕๘ – ๑ ต.ค.๒๔๕๙

๖.ร.ต.อ.ขุนประจำจันทะเขตต์ (ชาตรี หิรัญชาตรี) ๑ ต.ค.๒๔๕๙ – ๑๔ ส.ค.๒๔๖๒

๗.ขุนสรรค์ประสาสน์ (โต๊ะ วิเศษสุวรรณ) ๑ ก.ย.๒๔๖๒ – ๑๗ พ.ย.๒๔๖๕

๘.ร.อ.ต. สวัสดิ์ พักเกษตริน ๑๗ พ.ย.๒๔๖๕ – ๒๒ พ.ย. ๒๔๖๖

๙.ร.ต.อ.บรรจง ทองสวัสดิ์ ๗ ต.ค.๒๔๖๗ – ๒ ก.ค.๒๔๗๐

๑๐.ร.ต.อ.ขุนเกษมวิสัยการ (แฉล้ม ณ นคร) ๒ ก.ค.๒๔๗๐ – ๖ ก.ค.๒๔๗๒

๑๑.ร.อ.อ.หลวงสารักษ์สุรการ (พฤติ เตชะคุปต์) ๖ ก.ย.๒๔๗๒ – ๑๐ มิ.ย.๒๔๗๔

๑๒.ร.อ.อ.หลวงโยธีพิทักษ์ (โปร่ง สาทิศกุล) ๑๐ มิ.ย.๒๔๗๔ – ๒๒ มี.ค.๒๔๗๖

๑๓.ขุนจัยสุรสิทธิ์ (ทองอยู่ จัยสิทธิ์) ๒๔ ม.ค.๒๔๗๖ – ๑ เม.ย.๒๔๗๐

๑๔.นายชื้น จารุจินดา ๗ เม.ย.๒๔๘๐ – ๗ เม.ย.๒๔๘๑

๑๕.นายเปีย ศิวะบุณ ๗ เม.ย.๒๔๘๑ – ๑ ธ.ค.๒๔๘๒

๑๖.นายเฉลิม ยุชานนท์ ๑ ธ.ค.๒๔๘๒ – ๑ มิ.ย.๒๔๘๔

๑๗.นายชัยชาญ (เสนาะ) ยุวบูรณ์ ๑ มิ.ย.๒๔๘๔ – ๓๐ ก.ค.๒๔๘๔

๑๘.นายเสถียร กู้ประเสริฐ ๑ ส.ค.๒๔๘๔ – ๑ มิ.ย.๒๔๘๕

๑๙.นายบำรุง นิมนาทนนท์ ๑ มิ.ย.๒๔๘๕ – ๓ ก.ย.๒๔๘๕

๒๐.นายละเมียด หงส์ประภาส ๔ ก.ย.๒๔๘๕ – ๓๐ พ.ย.๒๔๘๖

๒๑.นายประสิทธิ์ สงวนน้อย ๑ ธ.ค.๒๔๘๖ – ๑๓ ก.ย.๒๔๙๑

๒๒.นายประทีป รามสูตร ๑๓ ก.ย.๒๔๙๑ – ๑ ก.ค.๒๔๙๕

๒๓.นายอำนาจ เปรมบุตร ๑ ส.ค.๒๔๙๕ – ๑ มิ.ย.๒๔๙๖

๒๔.นายประเวศ วิริยารมภ์ ๑๔ ก.ค.๒๔๙๖ – ๑๖ ก.ค.๒๕๐๐

๒๕.นายผดุง พงศ์สิฏานนท์ ๒๖ ส.ค.๒๕๐๐ – ๑๗ มิ.ย.๒๕๐๙

๒๖.นายพิเชษฎ์ ฤดีชื่น ๕ ก.ค.๒๕๐๙ – ๑ มิ.ย.๒๕๑๔

๒๗.นายประภัสสร์ มัณฑุสินธุ์ ๑ ก.ค.๒๕๑๔ – ๑๘ ก.ค.๒๕๑๖

๒๘.นายชาญ กุยยกานนท์ ๑๘ ก.ค.๒๕๑๖ – ๘ ม.ค.๒๕๑๙

๒๙.นายปรีชา รักษ์คิด ๑๐ ม.ค.๒๕๑๙ – ๑๓ ก.ค.๒๕๑๙

๓๐.นายกวี เทศสวัสดิ์ ๑๔ ก.ค.๒๕๑๙ – ๒๔ พ.ย.๒๕๒๒

๓๑.ร้อยเอก ประจักษ์ มาสุวัตร ๔ ธ.ค.๒๕๒๒ – ๑๑ ม.ค.๒๕๒๓

๓๒.นายวิทยา อุยะเสถียร ๑๒ พ.ค.๒๕๒๓ – ๒๐ ส.ค.๒๕๒๓

๓๓.นายจำลอง เทพบรรยง ๓๐ ส.ค.๒๕๒๓ – ๗ ก.ค.๒๕๒๕

๓๔.นายสุนทร มากบุญ ๑๒ ก.ค.๒๕๒๕ – ๖ ต.ค.๒๕๒๙

๓๕.นายสมหมาย ฉัตรทอง ๖ ต.ค.๒๕๒๙ – ๒ ธ.ค.๒๕๓๑

๓๖.นายวิจิตร โสดานิล ๒ ธ.ค.๒๕๓๑ – ๒ ก.ค.๒๕๓๓

๓๗.นายวันชัย ฤกษ์อร่าม ๒ ก.ค.๒๕๓๓ – ๑๕ ม.ค.๒๕๓๗

๓๘.นายวิฑูรย์ นาคะเสถียร๑๗ ม.ค.๒๕๓๗ – ๑ พ.ย.๒๕๔๑

๓๙.นายช่วงชัย เปาอินทร์ ๒ พ.ย.๒๔๔๑ – ๒๐ พ.ย.๒๕๔๓

๔๐.นายประจักษ์จิตต์ อภิวาท ๒๐ พ.ย.๒๔๔๓ – ๑ พ.ย.๒๔๔๗

๔๑.นายวิรัต อสัมภินานนท์ ๑ พ.ย.๒๔๔๗ – ๒๔ ม.ค.๒๕๕๓

๔๒.นายวิทยา สโรบล ๒๒ ก.พ.๒๕๕๓ – ๑๗ พ.คง๒๕๕๔

๔๓.นายธวัฒน์ชัย ม่วงทอง ๑๘ พ.ค.๒๕๕๔ – ๓๐ ก.ย.๒๕๕๗

๔๔.นายพิพิธ ภาระบุญ ๒๖ ม.ค.๒๕๕๘ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๕๙

๔๕.นายปิยะพันธ์ นาคะเสถียร ๗ ต.ค.๒๕๕๙ - ๑๖ ต.ค.๒๕๖๐

๔๖. นายวีระพันธ์ ดีอ่อน    ๑๖ ต.ค.๒๕๖๐ - ปัจจุบัน


บันทึกโดย : นายสมหมาย ฉัตรทอง

นายอำเภอประจันตคาม (ลำดับที่ 35)

-------------------------------------------


หนังสืออ้างอิง

1.แสงมณีอำไพจริต, (จัดพิมม์). มาตุทิศ. โรงพิมพ์ศึกษาธรรมดา สี่แยกวัดตึก,ถ.จักรวรรดิ์,กรุงเทพฯ : 2466

2.เติมวิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสานเล่ม 1 สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ : 2515

3.สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. รวมบทความของจารุบุตร เรืองสุวรรณ, โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ : 2527

4.สำนักงานจังหวัดปราจีนบุรี. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดปราจีนบุรี. หอรัตนชัยการพิมพ์ กรุงเทพฯ : 2529


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯและสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จโรงหล่อกรมศิลปากร

ณถนนพุทธมลฑลสาย 5ทอดพระเนตร รูปปั้นพระภักดีเดชะ(ท้าวอุเทน)ด้วยความสนพระทัย




นายอนันต์อนันตกูล ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ฯ สนทนากับ

นายสมหมาย ฉัตรทอง อดีตนอภ.ประจันตคาม (ผู้เขียน) หลังพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534


หมายเลขบันทึก: 592309เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2015 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2017 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยู่ปราจีนบุรีมาตั้งแต่เกิดและอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาก็เยอะไม่เคยได้ยินชื่อท่านท้าวอุเทนในทางประวัติศาสตร์เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท