การเรียนการสอนรายวิชาการพัฒนานิสิต เมื่อวันที่ 17-18 มิถุนายน 2558 เป็นการเรียนการสอนเรื่อง “หลักการและแนวคิดในการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต” มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย แก้ววังชัย เป็นผู้จัดการเรียนรู้
ก่อนการบรรยายต้นชั่วโมง
ก่อนการเรียนรู้ในภาคทฤษฎี ทีมกระบวนกร ยังคงทำหน้าที่หนุนเสริมการเรียนรู้เฉกเช่นทุกครั้ง นับตั้งแต่แจก “ใบงาน” ตรวจเช็คการแต่งกาย จับไมค์ทักทายกึ่งทบทวนเนื้อหาการเรียนรู้เล็กๆ น้อยๆ พร้อมกับการนำสื่อ/คลิปมาเปิดให้นิสิตได้ดูได้ชมร่วมกัน
ครั้งนี้-นำมาเปิด 2 เรื่อง ทั้ง 2 เรื่องเป็น “งานเก่า” ที่จัดทำขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2554 ประกอบด้วยเรื่องการเยี่ยมค่ายและเรื่องจดหมายจากมหาวิทยาลัยถึงคนไกลที่อยู่ทางบ้าน -
ทั้ง 2 เรื่องมีบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ต่างกัน แต่ให้มุมมองแนวคิดที่ยึดโยงถึงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรมด้านจิตอาสาผ่านการออกค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นค่ายที่เน้นการเรียนรู้คู่บริการ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญูต่อบิดามารดา โดยเรื่องหลังนี้ครบรสในแบบบันเทิงเริงปัญญา
แนวทางการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต
กระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ หลักๆ แล้วเป็นเรื่องแนวทางการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตล้วนๆ เพราะการเขียนโครงการ จะเป็นเสมือนต้นน้ำของการเรียนรู้ในรายวิชานี้ เนื่องจากนิสิตแต่ละคนต้องได้ฝึกเขียนเป็นรายบุคคลแล้วในนามกลุ่มยังต้องระดมความคิดสร้างโครงการฯ สู่การเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning) ตามแนวคิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียน 3 มิติ คือ
- ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-Centered)
- เรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning)
- ชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-Based Learning)
ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัย
เช่นเดียวกับการสะท้อนให้นิสิตได้เข้าใจถึงประเภทของโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตที่มี 4 ด้าน ที่ประกอบด้วย บำเพ็ญประโยชน์ ศิลปวัฒนธรรม นิสิตสัมพันธ์และวิชาการ กีฬาและนันทนาการ พร้อมๆ กับการเชื่อมโยงให้รู้ว่าหากเป็นระบบและกลไกการเรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตรตามตัวชี้วัดการประกันคุณภาพการศึกษาฯ จะมีทั้งหมด 5 ด้าน (5 ระบบและกลไก) โดยเพิ่มเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในทางทฤษฎีของการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต ไม่ถึงขั้นยึดมั่นในรูปแบบและองค์ความรู้ที่ว่าด้วย "การเขียนโครงการ" ตามข้อบังคับที่ว่าด้วย “กิจกรรมนิสิต” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างเคร่งครัดเสียทั้งหมด แต่มุ่งสู่เนื้อหาแบบกว้างๆ และบูรณาการศาสตร์ เพื่อให้นิสิตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในการเขียนโครงการในชมรม (กิจกรรมนอกหลักสูตร) การเขียนโครงการในหลักสูตร (กิจกรรมในหลักสูตร) ที่อาจมีทั้งที่เป็นกิจกรรมทั่วไป และกิจกรรมที่เป็น “โปรเจค” (วิจัย) ของนิสิตเอง
การบรรยายให้ความรู้และสร้างความเข้าใจดังกล่าว จึงมุ่งสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้วยการชวนให้นิสิตได้ขบคิดตามผู้สอนเป็นระยะๆ ซึ่งมีประเด็นการเรียนรู้หลากหลาย เช่น
- หลักของการตั้งชื่อโครงการฯ ให้น่าสนใจ
- หลักการเขียนหลักการและเหตุผลที่ต้องสื่อให้เห็นถึงแรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของโครงการ ความจำเป็นของการต้องจัดโครงการ รวมถึงภาพรวมของกรอบแนวคิดที่ใช้ในการขับเคลื่อน ตลอดจนภาพรวมของผลที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งถือว่า “หลักการและเหตุผล” เป็นองค์ประกอบที่เขียนยากมากที่สุดก็ว่าได้
- หลักการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน ซึ่งต้องเป็นโจทย์ หรือความต้องการของชุมชน มิใช่เป็นความต้องการของนิสิตแต่เพียงฝ่ายเดียว
เช่นเดียวกับการนำแนวคิดการเขียนวัตถุประสงค์ตามหลัก SMART มาสื่อสารกับนิสิตที่ประกอบด้วย
- sensible and Specific: มีความวามเฉพาะเจาะจเป็นไปได้และมีคงในการดำเนินการโครงการ
- Measurable: สามารถวัดและประเมินผลระดับของความสำเร็จได้
- Attainable: ระบุถึงการกระทำที่สามรถปฏิบัติได้ มิใช่สิ่งเพ้อฝัน
- Reasonable and Realistic : ต้องระบุให้มีความเป็นเหตุเป็นผล และสอดคล้องกับความเป็นจริง
- Time: มีการกำหนดขอบเขตของเวลาที่จะกระทำให้สำเร็จได้อย่างชัดเจน
รวมถึงการหยิบยกหลักคิดอื่นๆ มาให้นิสิตได้ทำความเข้าใจ เช่น PDCA KM W6H.. ตลอดจนการนำวาทกรรมทางการวิจัยมาหนุนเสริมการเรียนรู้ในโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต เช่น ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ อันเป็นวาทกรรมที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานภายใต้ระบบ PDCA
ก่อนแยกย้ายกลับ : ทวนงาน และประเมินการเรียนรู้
ภายหลังจากการเรียนรู้ภาคทฤษฎีที่ว่าด้วยหลักการและแนวคิดการเขียนโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตได้เสร็จสิ้นลง ทีมกระบวนกร ได้เข้ามาทวนซ้ำเนื้อหาการเรียนรู้ร่วมกับนิสิตเล็กๆ น้อยๆ พร้อมๆ กับทวนงานที่นิสิตแต่ละคนต้องกลับไปฝึกเขียนโครงการฯ (โครงการในฝัน) เพื่อส่งให้กับ ผศ.ดร.สมชาย แก้ววังชัยได้ประเมินแบบมีค่าคะแนน
รวมถึงการเตรียม (โครงการในฝัน) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อสมาชิกในกลุ่ม เพื่อระดมสู่การสร้างโครงการฯ ในมิติเรียนรู้คู่บริการตามครรลองโครงการ/โครงงาน (Project Base Learning : PBL) หรือการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning)
เมื่อเสร็จสิ้นการทวนเนื้อหาและการงานแล้ว ทีมกระบวนกรยังคงดำเนินการเหมือนเช่นทุกครั้ง ด้วยการให้นิสิตได้สรุปผลการเรียนรู้ลงใน “ใบงาน” เพื่อฝึกทักษะ “สุ จิ ปุ ลิ” อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้มี 2 ประเด็นที่นิสิตต้องเขียนสะท้อน คือ ถ้าให้เขียนโครงการฯ นิสิตสนใจที่จะเขียนโครงการประเภทไหน หรือกิจกรรมอะไร และการสะท้อนว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในวันนี้
นี่คือส่วนหนึ่งของนิสิตที่สะท้อนคืนกลับมา
- ได้รู้หลักการเขียนโครงการ เช่น การตั้งชื่อ การเขียนหลักการเหตุผล การเขียนวัตถุประสงค์
- ได้รู้จักหลักการเขียนโครงการ ผ่านแนวคิด W6H.. (why what when where who whom how)
- ได้รู้หลักของโครงการที่ดี คือ แก้ปัญหาได้ การมีส่วนร่วมของนิสิตกับชุมชน
- ได้รู้หลักของโครงการที่สัมพันธ์กันระหว่างความต้องการของนิสิตกับความต้องการของชุมชน หรือผู้รับ
- ได้รู้ความสัมพันธ์ของวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรม และผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ได้เข้าใจลักษณะโครงการตามแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ” มากขึ้น
หมายเหตุ : ภาพโดย ทีมกระบวนกร วิชาการพัฒนานิสิต
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แผ่นดิน ใน pandin
น่าสนใจเช่นเคยครับ ;)...