๑๓๒. ​การวัดและประเมินผล ๑๘ : การประเมินตามสภาพจริง (Authentic assessment)


บันทึกที่ ๑๓๒ การวัดและประเมินผล ๑๘ : การประเมินตามสภาพจริง (Authentic assessment)


การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)

ความหมาย

........ศิริชัย กาญจนวาสี (๒๕๕๐) กล่าวว่า การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เป็นกระบวนการตัดสินความรู้ความสามารถ และทักษะต่างๆของผู้เรียนในสภาพที่สอดคล้องกับชีวิตจริง โดยใช้เรื่องราว เหตุการณ์ สภาพจริงหรือคล้ายจริงที่ประสบในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนตอบสนองโดยการแสดงออก ลงมือ กระทำ หรือผลิต จากกระบวนการทำงานที่คาดหวังและผลผลิตที่มีคุณภาพ จะเป็นการสะท้อนภาพเพื่อลงข้อสรุปถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด น่าพอใจหรือไม่ อยู่ในระดับความสำเร็จใด

........สำเริง บุญเรืองรัตน์ และคณะ (๒๕๕๔) ให้ความหมายว่า การประเมินสภาพจริง (Authentic Assessment or Authentic Performance Assessment) หมายถึง การประเมินโดยอาศัยกระบวนการสังเกต การบันทึกและรวบรวมข้อมูลของครูจากผลงานของผู้เรียนและกระบวนการที่ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมตามการจัดการเรียนรู้ของครู ทั้งนี้เป็นข้อมูลพัฒนาและตัดสินการเรียนของผู้เรียน

........สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (๒๕๕๓) การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เป็นการประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน จึงควรใช้การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment) ร่วมกับการประเมินด้วยวิธีการอื่น ภาระงาน (Tasks) ควรสะท้อนสภาพความเป็นจริงหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากกว่าเป็นการปฏิบัติกิจกรรมทั่ว ๆ ไป ดังนั้นการประเมินตามสภาพจริงจะต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลไปด้วยกัน และกำหนดเกณฑ์การประเมิน (Rubrics) ให้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง

วิธีการและเครื่องมือสำหรับวัดผลที่ตรงตามสภาพจริง

........ศิริชัย กาญจนวาสี (๒๕๕๐) กล่าวว่า เครื่องมือสำหรับวัดผลที่ตรงตามสภาพจริงมีหลายประเภท เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การรายงานตัวเอง การ บันทึกจากผู้เกี่ยวข้อง การทดสอบที่เน้นภาคปฏิบัติ การใช้แฟ้มสะสมงาน เป็นต้น

การประเมินตามสภาพจริง เป็นกระบวนการที่เน้นการประเมินภาคปฏิบัติ (performance assessment) โดยสามารถใช้แฟ้มสะสมงาน (portfolio) ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนและผลงานในแฟ้มสะสมงานสามารถสะท้อนความรู้ ความสามารถและทักษะของผู้เรียน

• การประเมินภาคปฏิบัติ (performance assessment) เป็นการประเมิน ความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้เรียนภายใต้สภาพการและเงื่อนไขที่สอดคล้องกับสภาพจริง โดยพิจารณาจากกระบวนการทำงานและคุณภาพของงาน เกณฑ์การประเมินอาจสร้างขึ้นจากมิติความสำคัญ (rubic) ของคุณลักษณะด้านต่างๆของผลงานนั้น

• แฟ้มสะสมงาน (portfolio) เป็นแหล่งรวบรวมผลงานที่ดีเด่นและน่าพอใจ ส่วน การประเมินจากแฟ้มสะสมงาน (portfolio assessment) เป็นการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนตามสภาพจริง โดยพิจารณาผลงานจากแฟ้มสะสมงาน จากบันทึกที่เกี่ยวข้อง และ ผลงานสามารถสะท้อนให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามสภาพจริง

........สำเริง บุญเรืองรัตน์ และคณะ (๒๕๕๔) วิธีการและเครื่องมือวัดต่างๆมีดังนี้

๑. การสังเกตของครู ครูสังเกตผู้เรียนเป็นระยะๆในช่วงการเรียนการสอน โดยกำหนเครื่องมือประกอบการสังเกตไว้ล่วงหน้า ได้แก่

๑.๑ แบบบันทึกเหตุการณ์ ครูบันทึกข้อมูลสำคัญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนในแต่ละวันเพื่อชี้ให้เห็นความก้าวหน้าของผู้เรียน

๑.๒ แบบตรวจสอบรายการ ครูมีรายการที่ต้องสำรวจไว้ล่วงหน้า ในด้านคุณลักษณะ ทักษะ ความสนใจ พฤติกรรมต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและความถี่ของพฤติกรรม

๑.๓ แบบประเมินค่า ครูมีแบบบันทึกความสามารถที่คาดหวังเป็นมาตราส่วนประมาณค่า เพื่อวัดระดับพฤติกรรมและความสามารถของผู้เรียนในเรื่องต่างๆ

๒. การสัมภาษณ์ ครูใช้การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้เรียนได้รับรู้ หรือเกิดการเรียนรู้ ในสิ่งที่เรียนไปหรือไม่ รวมถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้

๓. การประเมินตนเองของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเองจากกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู ซึ่งเป็นข้อมูลให้ครูได้ปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน เครื่องมือที่ใช้อาจเป็นการจดบันทึกประจำวันของผู้เรียน การใช้เกณฑ์การให้คะแนน การให้สรุปเรื่องที่อ่านและแสดงความคิดเห็นต่อการอ่าน เป็นต้น

๔. การประเมินโดยเพื่อน เป็นการให้เพื่อร่วมชั้นเรียนเป็นผู้ให้ข้อมูลตามเกณฑ์การให้คะแนน

๕. การประเมินภาคปฏิบัติ ครูให้ผู้เรียนได้กระทำจริงโดยสร้างชิ้นงานต่างๆ เช่น การนำเสนอปากเปล่า การเล่าเรื่อง การวาดภาพ และอาจให้นำเสนอโดยการให้จัดนิทรรศการ ผลงานที่แสดงนี้จะถูกประเมินด้วยครู ผู้เรียน และเพื่อน โดยใช้เกณฑ์การให้คะแนน

๖. การทดสอบด้วยเครื่องมือวัด โดยใช้แบบทดสอบที่วัดได้ครอบคลุมผลการเรียนรู้ อาจเป็นแบบทดสอบอัตนัย หรือแบบทดสอบอัตนัย

๗. การประเมินแฟ้มสะสมงาน เป็นการให้ผู้เรียนสะสมผลงานต่างๆที่แสดงถึงความก้าวหน้าของการเรียนในช่วงระยะเวลาต่างๆในแฟ้มสะสมงานอาจประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ ชิ้นงานจากภาระงานที่กำหนดผลการประเมินตนเองและผลจากกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ

ขั้นตอนการประเมินสภาพจริง

........สำเริง บุญเรืองรัตน์ และคณะ (๒๕๕๔) ขั้นตอนการประเมินสภาพจริง แบ่งเป็น ๔ ขั้นตามลำดับดังนี้

๑.กำหนดมาตรฐานรายวิชา ตัวชี้วัด และรายการประเมินให้ครอบคลุมทั้งด้านเนื้อหา ความรู้ ทักษะและกระบวนการที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้

๒. กำหนดชิ้นงาน/ผลงานที่ผู้เรียนต้องทำ

๓. กำหนดเกณฑ์การประเมินผลงาน ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดเกณฑ์ประเมิน

๔. สร้างและคัดเลือกเครื่องมือในการวัด เพื่อใช้ประเมินผลของผู้เรียนซึ่งอาจเป็นการประเมินงานโดยครู ผู้เรียน และเพื่อนก็ได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ชุดฝึกอบรมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศึกราช ๒๕๕๑.กรุงเทพฯ : สพฐ.

ศิริชัย กาญจนวาสี. นโยบายการประเมินผลการเรียนรู้ ใน รวมบทความการประเมินผลการเรียนรู้แนวใหม่.สุวิมล ว่องวาณิช.พิมพ์ครั้งที่๒. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๕๐.

สำเริง บุญเรืองรัตน์ และคณะ .การวัดและประเมินผลการศึกษา ๒.กรุงเทพฯ :โครงการสารานุกรมศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,๒๕๕๔.

หมายเลขบันทึก: 589688เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015 07:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ คุณวินัย เจริญเฉลิมศักดิ์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท