ชีวิตที่พอเพียง ๒๓๙๖. ความหมายและความสำคัญของ coaching ในการเปลี่ยนรูปแบบการสอนในโรงเรียน



ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้จัดการโครงการ Teacher Coaching ของ สกว. และ สพฐ. (ที่ผมลงบันทึกไว้เป็นระยะๆ ที่นี่ ) อีเมล์มาขอให้เจ้าหน้าที่มาขอสัมภาษณ์ บันทึกวีดิทัศน์ เพื่อเอาไปทำวีดิทัศน์ประกอบการประชุมปิดโครงการ ซึ่งจะจัดในวันที่ ๒๙ - ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งกว่าบันทึกนี้จะลงใน Gotoknow การประชุมนี้ก็จะล่วงไปแล้ว

โจทย์ของการสัมภาษณ์คือ "ความหมายและความสำคัญของ coaching การ coaching ที่จะให้ได้ผลดี ควรมีวิธีการอย่างไร การ coaching ในชั้นประถมและมัธยม ควรมีวิธีการแตกต่างกันไหม กระบวนการ coaching จะนำไปสู่ PLC ได้หรือไม่"

เป็นคำถามที่ดี และท้าทายมาก และจริงๆ แล้วผมไม่มีความรู้ และไม่มีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง พอที่จะตอบได้ แต่ประเด็นคำถามมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการศึกษาไทย ผมจึงอาสาลองตอบดู โดยไม่รับรองว่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง และผมเชื่อว่า คำถามนี้มีได้หลายคำตอบ และผู้มีประสบการณ์ตรง ในการทำ coaching แก่ครู จะตอบได้ดีกว่า เป็นรูปธรรมกว่า

ผมคิดว่า เราต้องไปตั้งต้นกันที่เป้าหมายของโครงการ Teacher Coaching ที่ผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่ ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาครู ให้จัดการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่าง "งานได้ผล คนเป็นสุข" โดยเป้าหมายคือเปลี่ยนวิธีการพัฒนาครู จากเน้น Training มาเป็น Learning คือให้ครูมีวิธีเรียนวิธีทำหน้าที่ครู จากการทำหน้าที่สอน (แบบไม่สอน) ในชั้นเรียนของตนนั่นเอง

ดังนั้น coaching ในที่นี้ จึงควรมีความหมายจำเพาะ โดยมีเป้าหมายสองชั้น คือชั้นที่ลึกที่สุด หรือสูงที่สุด เพื่อให้นักเรียนบรรลุการเรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning) ตามเป้าหมายที่กำหนด และเป้าหมายชั้นถัดมาคือครูเกิดการเรียนรู้ ทักษะในการทำหน้าที่ครูแนวใหม่ ที่ไม่สอนแบบถ่ายทอดความรู้ แต่สอนแบบชวนศิษย์ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ แล้วปฏิบัติ ค้นคว้า และคิดไตร่ตรองร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้ศิษย์บรรลุเป้าหมายนั้นโดยการลงมือทำด้วยตนเอง มีครูคอยเชียร์ ชี้ ช่วย ชม ที่ภาษาทางการศึกษาเรียกว่า ทำ scaffolding, facilitating, coaching, embedded formative assessment, constructive feedback

ผมขอฟันธงว่า coaching ในที่นี้ควรเน้นที่ reflective coaching ที่ ดร. สุมาลี แห่ง มรภ. เพชรบุรี กล่าวไว้เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ผมบันทึกไว้ ที่นี่ โดยท่านใช้คำว่า ไปทำ co-reflective process และผมเรียกว่า empowerment coaching หรือ inquiry-based coaching หน้าที่และทักษะสำคัญของ โค้ช ก็คือการตั้งคำถามที่คม และ "เข้าเรื่อง" (relevant) เพื่อให้เกิดการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ในมิติที่ลึก เกี่ยวกับการทำหน้าที่ครูในแนวทางใหม่ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ และเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข

ต่อคำถามว่า coaching ครูประถม กับ coaching ครูมัธยม ควรแตกต่างกันไหม ผมให้คำตอบได้เพียงแบบกำปั้นทุบดิน คือ "ทั้งต่างและไม่ต่าง" ส่วนที่ไม่ต่างคือหลักการ ยังใช้ reflective coaching เหมือนกัน ส่วนที่ต่างคือรายละเอียด ที่เป็นคำถามโยงกับสาระ ที่จะต้องตั้งคำถามแตกต่างกัน ตามเป้าหมายของการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน และตามวุฒิภาวะของเด็กที่แตกต่างกันมาก

ส่วนที่ไม่ต่างคือ เป้าหมายการเรียนรู้ต้องไม่ใช่เน้นเฉพาะที่การเรียนวิชา ต้องเรียนรู้ทุกมิติไปพร้อมๆ กัน ทั้งมิติส่วนที่เป็น cognitive development และส่วนที่เป็น non-cognitive development ที่เรียกว่าการพัฒนาอุปนิสัย (character building)

กระบวนการ coaching ควรทำกับครูเป็นกลุ่ม การจัดกลุ่มขึ้นอยู่กับเป้าหมายของ coaching ช่วงนั้น หากเน้นที่การเรียนรู้รายวิชาของเด็ก ก็ควรเป็นกลุ่มครูในหน่วยสาระเดียวกันหรือใกล้เคียง หากเน้นที่การพัฒนา non-cognitive development ของเด็ก ก็ควรจัดกลุ่ม coaching ครูที่ดูแลเด็กกลุ่มเดียวกันโดยในกระบวนการ coaching ตัวโค้ชควรค่อยๆ ส่งเสริม ยุยง ให้เกิด peer coaching ขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดเป็น "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" (PLC – Professional Learning Comunity) ขึ้นในโรงเรียน เป็นกลไกของการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่องของครู ของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน และของโรงเรียน


วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 589207เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2015 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2015 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท