ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการเป็นกรรมการบริษัท : ๑. วันแรก



ธนาคารไทยพาณิชย์สอบถามกรรมการธนาคารว่า ใครอยากไปร่วมประชุม Corporate Governance and Director Duties Excellence 2015 ที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ ๔ - ๖ มีนาคม ๒๕๕๘ บ้าง โดยถามล่วงหน้า ๓ - ๔ เดือน เป็นช่วงที่ผมพอจัดเวลาไปได้ จึงมีโอกาสไปเรียนรู้วิชาการว่าด้วยการกำกับดูแล ที่เรียกว่า บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ในต่างประเทศ และนำความรู้ที่ได้ มาสรุป ลปรร. กัน

การประชุมนี้จัดโดย Quest Masterclass วิทยากรที่โซโลเดี่ยวตลอด ๓ วันชื่อ Prof. Dr. Colin Coulson-Thomas เป็น Director-General, UK and Europe at IOD (Institute of Directors) India เป็นคนที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ด้าน Corporate Governance และพูดทั้งวันเสียงไม่ตก ทั้งๆ ที่น่าจะอายุราวๆ ๗๐ รวมทั้งมีมิติด้านจริยธรรมสูงมาก

ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมี ๒๑ คน จากหลายประเทศ ที่มาไกลที่สุดคือ โอมาน ราวๆ ร้อยละ ๘๐ เป็น บอร์ด หรือผู้บริหารธนาคาร

วันแรกเป็นการปูพื้นเรื่อง CG ที่มีองค์ประกอบเป็นวงกลม ๔ วง วงตรงกลางคือ CG มีวงกลมอีก ๓ วงซ้อนเหลื่อมกับวงกลาง ซึ่งหมายความว่าเป็นเป้าหมายของ CG คือ (๑) ผลประกอบการ (performance) (๒) ความเสี่ยง (risk) (๓) การปฏิบัติตามกฎกติกา (compliance) ที่จริงหลักการนี้ ใช้ได้กับการกำกับดูแลองค์กรทุกประเภท

สิ่งที่สะกิดใจมากคือ การดำเนินการ CG ตามกระบวนทัศน์ที่ผิด จะไม่ก่อผลดีต่อองค์กร หรืออาจก่อผลร้ายด้วยซ้ำ ดัง Ppt ประกอบการบรรยาย (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแล้ว)






สิ่งที่ผิดคือทำเรื่อง CG ตามกระบวนการที่กำหนด มีรายละเอียดมากมาย แต่ไม่ได้ตรวจสอบว่า เป็น CG ที่สนองเป้าหมาย ๓ วงกลมที่กล่าวถึงหรือไม่

ที่จริงผมเรียนรู้มานานแล้วว่า หน้าที่ของ บอร์ด คือตั้งคำถาม เพื่อช่วยให้องค์กรไม่ประมาท (complacent) โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังประสบความสำเร็จ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ หลงระเริงอยู่กับความสำเร็จ จนไม่ได้ตรวจสอบความเสี่ยงไปข้างหน้า ซึ่งอนาคตไม่เหมือนเดิม แต่มาคราวนี้ มาได้ความตระหนัก และความรู้ว่า คำถามที่มีคุณค่ายิ่ง คือคำถามที่พุ่งเป้า ช่วยเตือนสติให้ตรวจสอบประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร

สิ่งเรียนรู้ใหม่สำหรับผมในวันนี้คือ

  • Comply or explain approach
  • กรรมการบริษัทควรทำงานไปหาข้อมูลสำหรับทำหน้าที่ โดยลงไปคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ ลูกค้า และผู้ถือหุ้นรายย่อย สำหรับนำเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท มาคิดทำความเข้าใจภาพใหญ่ และภาพอนาคต ในการทำหน้าที่กรรมการบริษัทที่มีคุณค่า

ฟังสาระวันนี้แล้ว ผมนึกถึงตอนไปเรียนหลักสูตร DCP ของ IOD ไทย เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ที่ผมบันทึกไว้ ที่นี่

หลักการของ CG ที่เขาแนะนำ ได้แก่ FRC Corporate Governance Code (UK) 2014, OECD Principles of Corporate Governance 2004, 2014-2015 Review of OECD Principles of Corporate Governanceในเอกสารแรก เขาให้นิยามบรรษัทภิบาลไว้ว่า "เป็นระบบชี้ทางและกำกับบริษัท คณะกรรมการรับผิดชอบ การกำกับดูแลบริษัท บทบาทของผู้ถือหุ้นในการกำกับดูแลบริษัท คือแต่งตั้งกรรมการ และผู้สอบบัญชี และมั่นใจว่าบริษัทมีระบบกำกับดูแลที่ดี ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ได้แก่ กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ แสดงบทบาทภาวะผู้นำในการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายนั้น ให้คำแนะนำต่อฝ่ายบริหารในด้านธุรกิจ และรายงานการทำหน้าที่สนับสนุน (stewardship) ต่อผู้ถือหุ้น บทบาทของคณะกรรมการต้องเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติของผู้ถือหุ้นในการประชุมใหญ่ ของผู้ถือหุ้น"

วิจารณ์ พานิช

๕ มี.ค. ๕๘

ห้อง ๑๗๑๑ โรงแรม Grand Copthorne Waterfront, สิงคโปร์


หมายเลขบันทึก: 588642เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2015 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท