การปฏิรูปท้องถิ่นโดยสภาพลเมือง


การปฏิรูปท้องถิ่นโดยสภาพลเมือง

2 เมษายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ความเป็นมา

"สภาพลเมือง" หรือ "สภาประชาชน" หรือ "สภาประชาสังคม" (Civil Juries or Citizen Juries or Civic Assembly) หรือ "สมัชชาประชาชน" (Popular Assembly or Forum) เป็นคำเรียกที่มีความหมายเหมือนกัน [2] และเป็นองค์กรที่มีแทรกอยู่ทั่วไปในพื้นที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แนวคิดเรื่องสภาพลเมืองสามารถย้อนหลังไปได้ถึงปี 2534 ในกรณีการรวมประเทศ(รวมชาติ)เยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออกเข้าด้วยกัน [3] และ ในปี 2535 กรณีการเกิดกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่แยกออกจากสหภาพโซเวียต [4] สำหรับประเทศไทยย้อนหลังได้ถึงปี 2547 จากกรณีเกิดสภาผู้นำแห่งตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนายประยงค์ รณรงค์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซผู้นำชุมชนดีเด่นแห่งเอเชีย [5] จนตกผลึกเกิดเป็น "มวลมหาประชาชน" [6] ในปี 2557 และเข้าสู่วาระการปฏิรูปประเทศไทยในที่สุด

ก่อนหน้านี้นายอานันท์ ปัญญารชุน (2553) [7] ได้เสนอว่า ในอนาคตต้องยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วยการบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นใน 2 กลไกหลัก คือ (1) การบริหารจัดการตนเองของชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น "แบบประชาสังคม" ซึ่งมีอยู่แต่ดั้งเดิมและหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ในความหมายนี้ก็คือ "สภาพลเมือง" นั่นเอง และ (2) การบริหารราชการหรือการปกครองท้องถิ่น ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่จากรัฐบาล

ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้มีการตั้ง "สภาตรวจสอบภาคประชาชน" [8] เพื่อบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ 2557 ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมในเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน จริยธรรม และการเลือกตั้ง ซึ่งในความหมายนี้ก็คือแนวคิดเรื่อง "สภาพลเมือง" ที่พัฒนาไปสู่องค์กร "ระดับชาติ" นั่นเอง

การนำเสนอสภาพลเมืองให้เป็นองค์กรที่เป็นรูปธรรม

ศ.ดร.นพ.ประเวศ วะสี [9] ราษฎรอาวุโส และ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม [10] ผู้ผลักดันแนวคิดเรื่อง "ประชาสังคม" (Civil Society) เป็นผลสำเร็จจนกระทั่งได้ตราเป็นกฎหมาย "พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551" [11] โดยมี "สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)" หรือ "พอช." [12] เป็นองค์กรส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้จะมีองค์กรที่เป็น "สภาพลเมือง" ได้จัดตั้งขึ้นอยู่ทั่วไป

อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ได้เกิดองค์กรสภาพลเมืองที่เป็นนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม เฉพาะสาขาอาชีพ หรือวิชาชีพเกิดขึ้นอยู่ทั่วไป แนวคิดเรื่องสภาพลเมืองยังคงมีการนำเสนอมาโดยตลอด ในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ.... (2557) [13] เสนอจัดโครงสร้างสภาพลเมืองเป็น (1) ภาคชุมชน (2) ภาคประชาสังคม (3) ภาควิชาชีพ (4) ภาควิชาการ และ (5) ภาคส่วนอื่นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงาน

ล่าสุดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีองค์กร ตามรัฐธรรมนูญถึง 11 องค์กร [14] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสิทธิพลเมืองตามความหมาย "สภาพลเมือง" ที่ผู้เขียนได้นำเสนอในที่นี้ ด้วยหวังว่าเพื่อให้ "สภาพลเมือง" เป็นสภาที่คู่ขนานกับ "สภาองค์กรบริหารท้องถิ่น" มี 3 องค์กรด้วยกัน คือ (1) สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เพื่อตรวจสอบการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจังหวัด (2) สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับจริยธรรม คุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น หากพบการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงจะส่งเรื่องให้รัฐสภาและประชาชนลงคะแนนถอดถอน และ (3) สมัชชาพลเมือง เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองมีการรวมตัวเป็นสมัชชา เพื่อทำหน้าที่ร่วมตัดสินใจและดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่นและให้ความเห็นต่อการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น

หน้าที่ของสภาพลเมือง

ในทางวิชาการ "สภาพลเมือง" หรืออาจเรียกว่าการตรวจสอบโดยภาคประชาชนในต่างประเทศมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ที่อาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้แก่ (1) การประชุมเมืองหรือชุมชนประจำปี (Town or community meeting)(2) การทำประชาพิจารณ์ (Public hearings) ต่อร่างแผนงานและงบประมาณประจำปี (Draft annual plan) (3) การให้ประชาชนได้ทราบถึงวาระการประชุมของสภาท้องถิ่นล่วงหน้า (4) การจัดให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานโดยเฉพาะงานบริการ (5) การลงประชามติ (Referendum) ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น (6) การแต่งตั้งผู้ตรวจการท้องถิ่น (Local government commissioner or Ombudsman) [15]

สภาพลเมืองที่เป็นเครือข่ายท้องถิ่น

ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถือว่า "ท้องถิ่น" เป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งใน 8 สาย [16] โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศอยู่ 2 ประการ คือ (1) ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ (2) ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (การขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น และ การลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ) [17] ผู้เขียนเห็นว่าการผนวกแนวคิดเรื่องสภาพลเมืองเข้ากับการทำงานแบบเครือข่ายท้องถิ่น (Networking) น่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศ

สภาพลเมืองในระดับพื้นที่ (ในท้องถิ่น) มีบุคคลหลากหลายประกอบไปด้วย (1) กลุ่มการเมือง กลุ่มรัฐ กลุ่มเอกชน และกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่ (2) กลุ่มภูมิปัญญาประชาชน บุคลากรระดับมันสมอง ผู้มีผลงานชัดเจน และเป็นที่ยอมรับของประชาชน (3) กลุ่มผู้แทนประชาชน กลุ่มมวลชนทุกสาขาอาชีพ (4) กลุ่มอื่น ๆ พิเศษเฉพาะ

ดังนั้น "สภาภาคพลเมือง" หรือ "สภาพลเมือง" จึงมีแทรกอยู่ทั่วไปในพื้นที่ของ "องค์กรบริหารท้องถิ่น" หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "กลุ่มบุคลากรท้องถิ่น" ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรท้องถิ่นฝ่ายประจำ ที่หมายถึงข้าราชการท้องถิ่นและลูกจ้าง และ บุคลากรท้องถิ่นฝ่ายการเมือง ที่หมายถึง นักการเมืองท้องถิ่นอันประกอบด้วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวนรวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนได้เสนอแนวคิดการจัดตั้ง "เครือข่ายท้องถิ่น" ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อนการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศดังกล่าวข้างต้น

ผู้เขียนเห็นว่าแนวคิดการจัดการแก้ไขปัญหาโดย "เครือข่ายท้องถิ่น" มีศักยภาพหรือความได้เปรียบในหลาย ๆ ประการ ได้แก่ (1) บุคลากรท้องถิ่นฝ่ายประจำอยู่ครอบคลุมพื้นที่กระจายในทุกจังหวัด ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในพื้นที่ที่สำคัญ (2) บุคลากรท้องถิ่นฝ่ายประจำมีจำนวนถึงกว่าสามแสนคน [18] (ยังไม่รวมบุคลากรสายนักการเมืองท้องถิ่น) (3) สังคมโลกไอทีหรือสื่อสังคมออนไลน์ทำให้การสื่อสารเครือข่ายท้องถิ่นถึงตัวกันได้ทั่วถึง และรวดเร็ว (4) ท้องถิ่นเป็นองค์กรที่จัดบริการสาธารณะ (Public Service) แก่ประชาชนในระดับพื้นที่ (5) ท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน (6) ประชาชนในท้องถิ่นเป็นสมัชชาพลเมืองในทุกระดับ แต่อย่างไรก็ตามท้องถิ่นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของ (1) การทุจริตคอร์รัปชัน (2) การขาดงบประมาณในการพัฒนาทำให้การบริหารงานขาดประสิทธิภาพ เป็นต้น

บทสรุป

ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดเรื่อง "สภาพลเมือง" นี้เพื่อหวังให้นำศักยภาพของ "ท้องถิ่น" ไปพัฒนาและปฏิรูปประเทศ โดยถือเป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่ง เพราะ "องค์กรบริหารท้องถิ่นประกอบไปด้วยสภาพลเมืองที่มีหลากหลายในพื้นที่" ทั้งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ และที่ได้จัดตั้งขึ้น โดยเฉพาะ "บุคลากรท้องถิ่น" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นสภาพลเมืองที่สำคัญที่มีอยู่แล้วในระดับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การออกแบบโครงสร้างและหน้าที่ที่เหมาะสมขององค์กร "สภาพลเมือง" ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ กำกับ จริยธรรม คุณธรรมฝ่ายการเมืองในพื้นที่ หรือร่วมตัดสินใจ เป็นที่ปรึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การพัฒนาที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าในมิติใด ๆ ของ "สภาพลเมือง" ที่จะได้รับการจัดตั้งขึ้นมา อาทิ จำนวนความหลากหลายในกลุ่ม คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง กระบวนการคัดสรรหรือเลือกสรร อำนาจหน้าที่และภารกิจที่จะได้รับมอบหมาย ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อความเชื่อถือศรัทธาและมั่นใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่


[1] หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2558 หน้า 10 คอลัมน์ < การเมืองท้องถิ่น> และ ดู สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย , หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2557 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22438 หน้า 10 คอลัมน์ < การเมืองท้องถิ่น> : การขับเคลื่อนเครือข่ายสู่การปฏิรูปท้องถิ่น, ดูในเวบ gotoknow, 2 ตุลาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/578086

& "ข้อเสนอแนวคิดเรื่องสภาพลเมืองในระดับพื้นที่", 21 กุมภาพันธ์ 2558, https://www.gotoknow.org/posts/586630

[2] เสรี วงษ์มณฑา, "สภาประชาชน", สยามรัฐรายวัน, 4 ธันวาคม 2556,

http://www.phongphit.com/2013/index.php/2012-12-06-11-48-33/item/533-2013-12-03-23-13-24

[3] การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2533) จนกระทั่งเมื่อ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เยอรมนีตะวันออกและตะวันตก รวมตัวเป็นประเทศเดียวกันอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี, ดู "ครบ 25 ปี กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สิ้นสุดการแบ่งแยกคนชาติเดียวกัน", ไทยรัฐออนไลน์, 24 ตุลาคม 2557, http://www.thairath.co.th/content/458775

[4] "การล่มสลายของสหภาพโซเวียต", จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/การล่มสลายของสหภาพโซเวียต , สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตถูกยุบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ตามปฏิญญาหมายเลข 142-เอชแห่งสภาโซเวียตแห่งสาธารณรัฐ (Soviet of the Republics) โดยรับรองเอกราชของสิบสองสาธารณรัฐแห่งสหภาพโซเวียต และสถาปนาเครือรัฐเอกราช หนึ่งวันก่อนหน้า วันที่ 25 ธันวาคม 2534

[5] เสรี วงษ์มณฑา, "สภาประชาชน", 2556, อ้างแล้ว.

[6] สันติ ตั้งรพีพากร, "สภาประชาชนเป็นอย่างไร ? รัฐบาลประชาชนเป็นอย่างไร ?", 2 ธันวาคม 2556, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000149048

[7] อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ทำหน้าที่ยกร่างเสนอแผนปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำของสังคม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2554, ดูใน "รื้อโครงสร้างอำนาจยุบส่วนภูมิภาคสู่ท้องถิ่น", โพสต์ทูเดย์, 19 เมษายน 2554.

[8] ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ดูใน "ไพบูลย์" จ่อผุดสภาตรวจสอบภาค ปชช.-สภาจริยธรรม, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 24 พฤศจิกายน 2557, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000135434

[9] ประเวศ วะสี, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/ประเวศ_วะสี

[10] ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,http://th.wikipedia.org/wiki/ไพบูลย์_วัฒนศิริธรรม

[11] พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 31 ก/หน้า 26/8 กุมภาพันธ์ 2551, http://www.pdc.go.th/office-th/download/145.html,เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศการสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ & "สรุปประเด็นสำคัญ การอภิปรายร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ...", จากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2550, http://www.codi.or.th/index.php/2013-06-22-07-13-17/195-sapa-tips/2749-2013-06-16-12-15-13

[12] สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 เป็นองค์กรของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาในเดือนตุลาคม 2545 ได้ย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117/ตอนที่ 71 ก/หน้า 5/27 กรกฎาคม 2543 (ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.codi.or.th/documents/r_to_z/royaldecree_codi.pdf

[13] "ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ….", สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), 2557, http://www.lrct.go.th/th/?wpfb_dl=134

[14] "ผุด 11 องค์กรใน รธน.ใหม่ เพิ่มอำนาจ ปชช.ร่วมบริหารประเทศ", ASTVผู้จัดการออนไลน์, 28 มีนาคม 2558, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000036109

[15] "รูปแบบการตรวจสอบโดยภาคประชาชนของต่างประเทศ", บทที่ 4, ใน การตรวจสอบขององค์กรภาคประชาชนในระบบการบริหารงานและกิจการสาธารณะของท้องถิ่น,

http://www.stabundamrong.go.th/research/research3/chapter4.doc

[16] ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายหลักในการปฏิรูปประเทศเป็นแม่น้ำสายที่ 7 จากจำนวนแม่น้ำ 8 สายหลัก (แม่น้ำสายหลัก 8 สาย คือ 1. คสช. 2. รัฐบาล 3. สนช. 4. สปช. 5. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 6. ข้าราชการ 7. ท้องถิ่น และ 8. ภาคเอกชน)

[17] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า "ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็วและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม", http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

[18] ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กุมภาพันธ์ 2558 จำนวนบุคลากรของ อปท. ดังนี้ ผู้บริหาร และสมาชิกสภา 153,601 คน ข้าราชการ 173,547 คน ลูกจ้างประจำ 19,687 คน พนักงานจ้าง 211,279 คน รวมบุคลากรฝ่ายประจำ 404,513 คน รวมบุคลากรทั้งหมด 558,114 คน

& ดูใน ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา, "การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ", 2557, ข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 392,945 คน คิดเป็นร้อยละ 19 ของข้าราชการทั้งประเทศ, http://www.lrct.go.th/th/wp-content/uploads/2014/08/การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ-โดย-จรัส-สุวรรณมาลา.pdf

& ข้อมูลตามเวบไซต์ของสำนักงาน ก.ถ., สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2558(ไม่ปัจจุบัน), จำนวนบุคลากรส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำ อปท. มีข้าราชการท้องถิ่น 73,108 คน ข้าราชการครูท้องถิ่น 27,100 คน ลูกจ้าง พนักงานจ้าง 62,108 คน รวม 162,316 คน, http://www.local.moi.go.th/local_sub5.htm

หมายเลขบันทึก: 588356เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2015 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2015 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท