การขับเคลื่อนเครือข่าย สู่การปฏิรูปท้องถิ่น


การขับเคลื่อนเครือข่าย สู่การปฏิรูปท้องถิ่น

การขับเคลื่อนเครือข่าย สู่การปฏิรูปท้องถิ่น [1]

2 ตุลาคม 2557

แนวคิดการจัดการแก้ไขปัญหาโดย “เครือข่าย" ถือเป็นแนวคิดแบบหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ในการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น

เครือข่าย (Network) เป็น การเชื่อมโยงของกลุ่มของคนหรือกลุ่มองค์กรที่สมัครใจ ที่จะแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน โดยมีการจัดระเบียบโครงสร้างของคนในเครือข่ายด้วยความเป็นอิสระ เท่าเทียมกันภายใต้พื้นฐานของความเคารพสิทธิ เชื่อถือ เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน

ฉะนั้นการสร้างเครือข่าย (Networking) จึงหมายถึงการทำให้มีการติดต่อ สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการร่วมมือกันด้วยความสมัครใจสมาชิกในเครือข่ายมีความสัมพันธ์กันฉันท์เพื่อน มิใช่การคบค้าสมาคมแบบพึ่งพิง ไม่ใช่การสร้างระบบติดต่อด้วยการเผยแพร่ข่าวสารแบบทางเดียว แต่จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน [2]

ในที่นี้ขอเสนอมุมมองในส่วนของ “เครือข่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น" หรือ “พนักงานส่วนท้องถิ่น" ซึ่งถือเป็นข้าราชการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เช่นเดียวกันกับข้าราชการฝ่ายประจำของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ในการนำนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นและนโยบายของประเทศไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เพราะข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นฝ่ายประจำ ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพ (Careers) ที่อยู่คู่กับท้องถิ่นอย่างยาวนานที่สุดจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ และได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ครอบคลุมพื้นที่กระจายในทุกจังหวัด อันถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในพื้นที่ที่ได้พบและรับทราบปัญหาของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

การนำแนวทางการจัดการแก้ไขปัญหาโดย “เครือข่ายข้าราชการส่วนท้องถิ่น" จึงน่าจะสอดคล้องกับบทบาทและบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ และนำท้องถิ่นไปสู่การพัฒนาและการปฏิรูปที่กำหนดอย่างเป็นรูปธรรม

จุดเด่นความสำคัญของการใช้เครือข่าย “ข้าราชการส่วนท้องถิ่น"

ปัจจุบันการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น ตัวข้าราชการ พนักงาน หรือนักการเมืองท้องถิ่น ต่างๆ มักจะผ่านกิจกรรมการประชุม สัมมนา พบปะ รวมทั้งการฝึกอบรมในหลักสูตร ต่างๆ มีการรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชมรม เป็นองค์กร มีการติดต่อสื่อสารกันผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารที่รวดเร็วแพร่หลายโดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกี่ยวกับท้องถิ่นในช่วงเวลาไม่ถึงชั่วโมง ข่าวสารต่าง ๆ ก็จะรับรู้และกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วถึง โดยมีชมรม หรือองค์กรที่ตนเองสังกัดเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ อาทิเช่น สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเครือข่ายผู้เข้าชมเป็นเรือนแสน ถือว่าเป็นช่องทางถึงผู้รับโดยตรงที่ประหยัดรวดเร็ว ฉะนั้น การดำเนินการเครือข่ายจึงมีประโยชน์ ที่สามารถนำความคิดความเห็นมาแสดงความเห็น แลกเปลี่ยน แชร์กันและกัน อันเกิดประโยชน์ ได้แนวคิดดี ๆ ที่คนท้องถิ่นได้ร่วมคิด ร่วมทำ และ มีส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ด้วย

อนึ่ง การรวมตัวเป็นเครือข่ายในลักษณะการแลกเปลี่ยน ต้องสกัดเอาส่วนดีหรือ จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาเรียนรู้และสนับสนุนกันและกัน เป็นการผนึกกำลัง (synergy) ในลักษณะที่มากกว่าหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ต้องเป็นหนึ่งบวกหนึ่งต้องมากกว่าสอง เรียกว่าเป็น “พลังทวีคูณ" ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานเป็นเครือข่ายต้องดีกว่าผลรวมที่เกิดจากการปล่อยให้ต่างคนต่างทำแล้วนำผลลัพธ์ของแต่ละคนมารวมกัน

จากข้อมูลของ ดร.จรัสสุวรรณมาลา ปัจจุบันมีข้าราชการส่วนท้องถิ่นกระจายอยู่ตามท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน ๓๙๓,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๙ ของข้าราชการทั้งประเทศ [3] ซึ่งถือเป็น “ภาคพลเมือง" ที่มีจำนวนมากเพียงพอและมีพลังต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรวมพลังเป็น “เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)" โดยมีเป้าหมาย เพื่อเป็นเพื่อนเคียงคู่รัฐบาลในการปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปบ้านเมืองตามแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนด อาทิเช่น การกวาดล้างอิทธิพลกลุ่มอำนาจมืด กลุ่มบุคคลที่ต่อต้าน ฯลฯ ในชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำท้องถิ่นไปสู่การพัฒนาเป็นผลสำเร็จตามแผนที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

Stephen Goldsmith and William D. Eggers, "Governing by Network : การบริหารงานภาครัฐแบบเครือข่าย : มิติใหม่ของภาครัฐ", โดย ดร.จักร ติงศภัทิย์ และ กฤษฎา ปราโมทย์ธนา (ผู้แปล), สำนักพิมพ์เอ็กซเปอร์เน็ท, มีนาคม ๒๕๕๒.


[1]สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย , หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๒๒๔๓๘ หน้า ๑๐ คอลัมน์ < การเมืองท้องถิ่น> : การขับเคลื่อนเครือข่ายสู่การปฏิรูปท้องถิ่น

[2]ดร.จรวยพร ธรณินทร์, ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, “การสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการแบบเครือข่าย", ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ (๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.), ณ โรงแรมรามาการ์เดน กรุงเทพมหานคร http://www.moe.go.th/charuaypon/works/ppt30_charuaypon.ppt

[3]ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา, “การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ",

http://www.lrct.go.th/th/wp-content/uploads/2014/08/การปกครองท้องถิ่นกับการปฏิรูปประเทศ-โดย-จรัส-สุวรรณมาลา.pdf

หมายเลขบันทึก: 578086เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2014 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท