ถึงจะข่มกลั้น แต่ก็อาจไม่ใช่ "ขันติ" ในพุทธศาสนา


เคยสงสัยไหมคะ คนที่ดูอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆได้ ต่อมา ทำไมจึงทำเรื่องร้ายๆได้

เรามักเข้าใจถึงการ "อดกลั้น" ว่าเป็น "ขันติ" อันเป็นธรรมในฝ่ายดีไปทั้งหมด แต่การอดกลั้นในเบื้องต้นที่ก่อให้เกิดเรื่องร้ายๆตามมาในภายหลัง จะเรียกว่าดีจริงหรือ

แล้วการอดกลั้นอย่างนี้เรียกว่าขันติได้หรือไม่

ถ้าได้ ทำไมจึงมีสิ่งที่ไม่ดีตามมาทั้งๆที่ขันติเป็นอีกธรรมหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นนักหนา จนถึงขนาดตรัสในโอวาทปาติโมกข์ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา

ขันติคือตีติกขาเป็นตบะอย่างยิ่ง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมคือไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ ต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน เราจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ไม่ให้กระทบกระทั่ง กระทบกระเทือนจนนำความเดือดร้อนมาสู่ซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อมีเหตุให้เกิดความไม่ชอบใจขึ้น แต่เพราะยังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม สิ่งที่เราควรทำก็คือการข่มกลั้น เก็บงำความไม่ชอบใจนั้นไว้ และแสดงออกด้วยกาย วาจา ที่สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสม เพื่อให้สังคมยังคงเรียบร้อย ไม่มีปัญหา

แต่การแสดงออกทางกาย วาจา อย่างเรียบร้อยทั้งๆที่ใจติดขัดด้วยความไม่ชอบด้วยไม่ได้อย่างใจ ต้องข่มกลั้นความรู้สึกไม่น่ายินดีไว้ ใจก็ร้อนรุ่ม จึงต้องมีการระบายความร้อนรุ่มนั้นออกอันเริ่มด้วยการคิดไปในทิศทางต่างๆ และความคิดนั้นเองนำไปสู่การแสดงออกทางกาย วาจา ไปในลักษณะต่างๆ

การข่มกลั้นของบุคคลจึงเป็นไปได้ทั้งที่ข่มด้วยกุศลและอกุศล คือ เป็นได้ทั้งเป็นการกดข่มตัณหาด้วยตัณหา และ ข่มกลั้นตัณหาด้วยเมตตา โดยลักษณะการข่มนั้นมีเหตุที่มาและผลที่ไปแตกต่างกันคือ

การอดกลั้นด้วยตัณหาหรืออกุศลธรรมอื่นๆ

เป็นการข่มกลั้นมาจากความจำเป็นบังคับจนทำให้ไม่สามารถแสดงความไม่ชอบใจออกมาทางกาย วาจา ต่อหน้าผู้สร้างความไม่ชอบใจให้ได้ เช่น การเป็นผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชา การเป็นผู้ให้บริการ ความไม่อยากพบเรื่องยุ่งยาก การกลัวการตำหนิ เป็นต้น

สาเหตุของการข่มกลั้นนี้เกิดจากต้องการที่ถูกขัดจนเกิดความไม่ชอบใจขึ้น เมื่อยึดมั่นความไม่ชอบใจ ความขุ่นใจ นั้นไว้ ประกอบกับไม่ทราบว่าความขุ่นนั้นเป็นอกุศลที่ควรละ (อวิชชา) จึง ไม่พยายามหาเหตุผลให้ความขุ่นข้องผ่อนคลาย และเพราะการที่ความไม่ชอบใจนั้นดำรงอยู่ เรื่องราวที่นำความไม่ชอบใจมาให้ แม้จะจบไปแล้วจึงเวียนกลับมาตริตรึก ให้คิดถึงอยู่เสมอ จึงเวียนคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งเรื่องราวและความไม่ชอบใจจึงไม่เคยจางหาย และอาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็นความโกรธ ความพยาบาทขึ้นได้ในภายหลัง

แต่ ... เพราะยังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม จึงทำให้ต้องข่มกลั้นอาการอันแสดงออกถึงความไม่ชอบใจนั้นไว้ภายใน

และ ... เพราะไม่ได้เพ่งดูที่ใจตน แต่เพ่งที่ผู้อื่น การกระทำของผู้อื่น ยอมรับอกุศลธรรมนั้นไว้ในใจ จึงยิ่งเพิ่มพูนกิเลสทั้งสามกอง

เพราะหลง (โมหะ) จึงยึด จึงอยาก เพราะไม่ได้อย่างที่อยากจึงโกรธ (โทสะ) เพราะยึดความโกรธไว้จึงย้อมติด (ราคะ) กับโทสะและโมหะอีกที กิเลสทั้งสามกองจึงหมุนเวียนกันเจริญขึ้นด้วยกระบวนการอย่างนี้

เมื่อใจไม่ชอบ และมีตัณหาเป็นเพื่อนสองคอยกระซิบใจให้คิดค่อนว่าไปต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงออกในทางตรงข้าม หากยังสามารถข่มอาการไว้ภายใน ไม่ไปว่ากล่าวเขาในที่ลับหลัง ก็ยังถือว่าตนยังมีความข่มกลั้นในแง่ของวาจา จึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่นำความไม่ชอบใจมาให้ แม้ว่าจะไม่สุขเนื่องจากตนต้องร้อนใจไปเนื่องจากอุปกิเลสต่างๆที่จรเข้ามาบ้าง กับความรู้สึกอึดอัดที่กายวาจาที่ไม่ตรงกับใจบ้าง

แต่เมื่อร้อนใจมากๆกระทั่งอดกลั้นไว้ไม่ไหว ก็เป็นธรรมดาที่ต้องหาทางระบาย จึงเป็นเหตุให้มีคำพูดกระทบกระเทียบในยามที่อยู่ต่อหน้าบ้าง ในยามที่อยู่ลับหลังก็นำเรื่องราวของเขาไปค่อนว่ากับบุคคลอื่นบ้าง สิ่งเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งความบาดหมาง อุปนิสัยที่ไม่ดี ความทุกข์ ฯลฯ ในภายหลัง

การอดกลั้นอย่างนี้ จึงไม่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเข้าใจตน เข้าใจผู้อื่น อันทำให้ความรู้สึกไม่ชอบใจและอกุศลธรรมทั้งหลายจางคลาย ตลอดจนค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตน ตรงข้าม กิเลสที่เกิดขึ้น แม้จะดับไปแล้วก็กลับยิ่งจมลงสู่ใจกลายเป็นกิเลสที่นอนจม (อนุสัย) รอการถูกกระทบด้วยอารมณ์อันทำให้ไหลออกมาได้ง่ายขึ้น บ่อยขึ้น

และการยึดมั่นในตน ในของตน ก็มากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

การอดกลั้นด้วยเมตตาและขันติ

เมื่อผู้อื่นแสดงอาการไม่ดีต่อเรา เพราะเรามีเมตตา เกรงว่าเขาจะได้รับความกระทบกระเทือนใจ เสียใจ จึงอดกลั้น ทนรับความอึดอัดจากสิ่งที่พบเห็นนั้นไว้ ไม่แสดงอาการให้เขาได้รู้เห็นไม่ว่าจะโดยทางกาย วาจา การทนอดทนข่มด้วยมีเมตตาเป็นพื้นฐานนี้เอง ที่เรียกว่า ขันติ

ขันติมีความต่างกันเป็นระดับๆไป ขันติในระดับต้นที่เรียกว่า อธิวาสนขันติ นั้น คือการตั้งรับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีโดยการข่มกลั้นไว้ก่อน เพื่อให้การแสดงออกทางกายวาจาเป็นปกติ แต่เพราะทนข่มกลั้น ยังวางใจเป็นกลางกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ ในใจจึงยังเร่าร้อนอยู่ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างแยบคายในใจเพื่อให้จิตผ่องใสขึ้น

การพิจารณาที่ทำให้จิตกลับมาแจ่มใสได้นี้เอง เรียกว่า โสรัจจะ ขันติและโสรัจจะนั้นเป็นธรรมที่คู่กัน เป็นหนทางที่ทำให้บุคคลคล้อยไปสู่การคลายความเห็นว่าเป็นตนลงไปอย่างละมุนละม่อม โดยในขั้นแรกที่เรายังมีความเห็นว่าเป็นตนอยู่ ก็ทำตนให้เป็นตนอันรักษาดีแล้ว ดังพุทธพจน์ที่ว่า

ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้

ก็พึงรักษาตนนั้นไว้ให้เป็นตนอันรักษาดีแล้ว

บุคคลผู้บัณฑิตพึงรักษาตนยามใดยามหนึ่งในสามยาม.

ขันติโสรัจจะนี้เป็นองค์ธรรมที่สำคัญมากจนได้ชื่อว่าเป็น ธรรมที่ทำให้งาม เพราะนอกจากจะเป็นการปิดกั้นอกุศลธรรมใหม่ไม่ให้เกิดและขัดเกลาอกุศลธรรมเก่าไปในตัวอันเป็นการทำตนให้เป็นตนอันรักษาดีแล้ว ทำให้คลายความไม่ชอบใจ ความโกรธ ความพยาบาทแล้ว หากการพิจารณาเพื่อโสรัจจะนั้น ได้พิจารณาเพื่อให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และให้เห็นว่านิพพานเป็นสุขแล้ว ก็เท่ากับว่าได้ยังค่อยๆปรุงแต่งความตรงของนามขันธ์อันนำไปสู่การค่อยๆคลายความเห็นว่าเป็นตน และการมีสัมมาทิฏฐิอีกด้วย

ขันติที่มีเมตตาเป็นพื้น ที่ประกอบด้วยการพิจารณาโดยน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ และการเห็นว่านิพพานเป็นสุขนี้ ตรัสเรียกว่า อนุโลมขันติ

เมื่อได้อบรมขันติอย่างนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอจนเห็นตรงตามสภาวะ ก็จะสามารถทนรับสิ่งต่างๆได้โดยไม่ต้องกลั้นอีกต่อไป ขันติที่มีจึงพัฒนาเป็น ตีติกขาขันติ คือ ทนทาน ทนได้โดยไม่ต้องกลั้น เพราะได้รู้สภาวะด้วยใจที่เห็นด้วยความเป็นกลางแล้ว

ตีติกขาขันตินี้เอง เป็นขันติในระดับสูงสุด เป็นขันติที่ต้องการในพุทธศาสนา เป็นขันติที่ตรัสว่าเป็น บรมตบะ หรือ ธรรมที่เผากิเลสอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในทศบารมี เพราะบารมีนั้นคือการสั่งสมกุศลธรรมที่น้อมไปสู่นิพพาน

การอดกลั้น ใช่ว่าจะอดกลั้นต่ออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่น่ายินดี ก็พึงมีการอดกลั้นเป็นขั้นๆไปเช่นกัน เช่น อดกลั้นต่ออารมณ์ที่น่ายินดีแต่ไม่ถูกธรรมด้วยหิริ (ตรัสว่า การห้ามอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นภายในใจได้ด้วยหิรินั้น น้อยคนจะมีในโลก) อดกลั้นต่ออารมณ์ที่น่ายินดีที่ถูกธรรมเพื่อคลายความยึดมั่น เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเราอดกลั้นกับเรื่องอะไรสักอย่าง พึงพิจารณาว่าทางไปของการอดกลั้นเป็นอย่างไร เพื่อข่มกิเลสหนึ่งไว้ด้วยอีกกิเลสหนึ่ง อันทำให้กิเลสทั้งหลายกลับยิ่งเจริญหนุนเนื่องกันในเวลาต่อมา หรือ เพื่อการทำการยึดมั่นในอกุศลธรรมและกิเลสให้คลาย

เป็นการอดกลั้นที่เพิ่มพูน บารมี หรือ อนุสัย

หมายเลขบันทึก: 587959เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2015 05:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2015 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นมุมมองในธรรมมะที่น่าสนใจมาก

พี่สบายดีนะครับ

อาจารย์ ส.รตนภักดิ์คะ ขอบคุณที่มาเยี่ยมกันค่ะ

............................................................

อ.ขจิตคะ ขอบคุณค่ะสำหรับการมาเยี่ยมเยียนกันเสมอๆ

สบายดีค่ะอาจารย์ หวังว่าอาจารย์ก็จะสบายดีเช่นกันค่ะ


เป็น..กุศล..อันจะบังเกิดอย่างยิ่ง..ต่อสังคม...(สำหรับ..การบรรยายที่แจ่มกระจ่าง...ตามลำดับ..ขั้นตอน(อยู่)ใน..วิถีพุทธ)..ละเอียดอ่อน..มากเจ้าค่ะ..สุดท้าย..คือ อภัยทาน อันเป็นทาน สูงสุด..หากมวลมนุษย์ มีต่อกันและมีต่อสัตว์ร่วมโลกอันมี..สัจจธรรม คือความเกิดแก่เจ็บตาย..ต้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น..น้อมนำมวลมนุษย์ให้รักษา ศีลอันเป็นพื้นฐาน..ต่อจิตใจ..สำหรับเพื่อนทุกข์เพื่อนสุขใน..โลกที่กำลังบูดเบี้ยวอยู่ในเวลานี้..นะเจ้าคะ...

มีดอกไม้มาฝากมีรักมามอบให้เป็นกำลังใจต่อกัน..เจ้าค่ะ...(ยายธี)

ขอบคุณพี่นงนาทและคุณยายธีค่ะ ที่ฝากความเห็นไว้ให้

และขอบคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันด้วยค่ะ

..ที่นี่ ไม่วุ่นวายหนอ....

....เคารพในธรรม..

ขอบคุณครับอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท