การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 8


การแก้ไขรายการในประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รายนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ตอนที่ 8

ประเด็นวิเคราะห์นายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ หรือยาว ไม่มีนามสกุล [1]

22 กุมภาพันธ์ 2558

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของนายชนินทร์ และนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุลนั้น จะใช้บังคับตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ระเบียบกฎหมายใดบ้าง และควรจะมีกรอบในการพิจารณาอย่างไรบ้าง

(มีข้อสังเกตว่า นายทะเบียนอำเภอ มิได้ใช้อำนาจตาม กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. 2551 ตามข้อ 1 และ ข้อ 2)

มีระเบียบกฎหมาย และคู่มือ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และที่เกี่ยวข้อง "ใกล้เคียงยิ่ง" ได้แก่

(1) คู่มือแนวทางปฏิบัติราชการเพื่อบริการประชาชนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน

แนวทางปฏิบัติราชการเพื่อบริการประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล/เมืองพัทยา) เรื่อง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร หน้า 27 – 34 (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดย นายสาโรช คัชมาตย์, อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, 2547 - 2549) [2]

(ตามระเบียบฯ ข้อ 115 (2) แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551)

ในกรณีที่ 2 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร โดยไม่มีหลักฐานเอกสารราชการ (ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม) ให้ดำเนินการดังนี้

(1) เรียกหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง

(2) สอบสวนเจ้าบ้านและพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ผู้ที่มีนิติสัมพันธ์หรือมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่รายการทะเบียนราษฎรผิดพลาดเพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริง

(3) แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการที่ไม่ถูกต้องในเอกสารการทะเบียนราษฎร ตามคำร้อง โดยใช้แบบพิมพ์ ท.ร.97 ก

ทั้งนี้ หากการแก้ไขรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนบ้าน ให้นายทะเบียนแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านให้ถูกต้อง

(4) ส่ง ท.ร.97 ก ตอนที่ 1 ไปยังศูนย์ฯ ภาค หรือศูนย์ฯ จังหวัด

ระยะเวลาในการปฏิบัติ

ระยะเวลาเป็นไปตามขั้นตอนการสอบสวนและการตรวจสอบเอกสาร

หน่วยงาน/ผู้รับผิดชอบ

นายทะเบียนท้องถิ่น ส่วนอำนาจการอนุมัติเป็นของนายอำเภอหรืออาจมอบอำนาจให้ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอนุมัติในนามผู้ปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอ

(2) ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรเพื่อประชาชน พ.ศ. 2535ใน คู่มือการปฏิบัติงานทะเบียนราษฎร 2540, หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (หน้าที่ 215 – 271) [3]

(ตามระเบียบฯ ข้อ 115 (2) แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551)

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎร (2) ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง

ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสอบสวนพยานหลักฐานแล้วรวบรวมเสนอนายอำเภอพร้อมด้วยความเห็น มื่อนายอำเภอพิจารณาเห็นว่า พยานหลักฐานดังกล่าวเชื่อถือได้ ให้นายอำเภอสั่งนายทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารทะเบียนราษฎรได้

ข้อ 10 และข้อ 12 ตามตารางแนบท้ายข้อ 7 กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนราษฎร (ตามข้อ 115) ในหนังสือหน้าที่ 267

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการกรณีไม่มีเอกสารราชการแสดงและกรณีแก้ไขรายการสัญชาติจากสัญชาติอื่นเป็นสัญชาติไทย

ข้อ 10 ให้นายทะเบียนหรือผู้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการพิจารณาดำเนินการตามการแจ้งหรือการร้องขอให้แล้วเสร็จตามขั้นตอนและระยะเวลาในตารางการปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรท้ายระเบียบนี้

ข้อ 12 การปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรกรณีอื่นซึ่งมิได้กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาไว้ตามข้อ 10 และข้อ 11 ให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 วันทำการ

(3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2532 แก้ไขฉบับที่ 2 พ.ศ. 2540 [4]

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายหน่วยงานอื่นใดของรัฐในต่างประเทศ ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจเฉพาะที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หน่วยงานอื่นของรัฐ และในกรณีที่เป็นการใช้อำนาจทำคำสั่งทางปกครองให้หมายความรวมถึงเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย

คำขอ หมายความว่า คำขอซึ่งประชาชนยื่นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้แก่ตนตามที่กำหนดในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือสัญญาที่หน่วยงานของรัฐทำกับประชาชน และหมายความรวมถึงเอกสาร แบบแปลน รูป รายละเอียดอื่นที่ต้องมีประกอบคำขอด้วย

ข้อ 8 ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาและดำเนินการตามคำขอของประชาชนให้เสร็จและแจ้งให้ประชาชนผู้ยื่นคำขอทราบภายในหนึ่งวันทำการ นับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ ทั้งนี้ ให้กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่รับคำขอจนพิจารณาเสร็จและแจ้งให้ประชาชนทราบ

ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด (ข้อ 8 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2540)

(4) กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. 2551 [5] ตามข้อ 1 และ ข้อ 2

(อำนาจตามมาตรา 7 และมาตรา 10 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

ข้อ 1

"ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรใดดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพรางข้อเท็จจริง หรือมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการดำเนินการเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรในลักษณะดังกล่าวจริง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรกรณีนั้นไว้ก่อน"

ข้อ ๒

"ในกรณีที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นมีคำสั่งตามข้อ 1 แล้ว ให้แจ้งคำสั่งให้คู่กรณีทราบภายในสามวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงของตนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

การแจ้งคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นหนังสือ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำโดยมิชอบ

(2) ข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

(4) สิทธิในการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงแทน

(5) สิทธิในการขอดูเอกสารที่จำเป็นสำหรับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันสิทธิของตน"

(5) พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 [6]

(อาศัยอำนาจตามมาตรา 221 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกอบ มาตรา 3/1 และ มาตรา 71/10 (5) แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 8 พ.ศ. 2553)

มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้

"ส่วนราชการ" หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มาตรา 24 ในการปฏิบัติภารกิจใด หากส่วนราชการจำเป็นต้องได้รับอนุญาต อนุมัติ หรือความเห็นชอบจากส่วนราชการอื่นตามที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนด ให้ส่วนราชการที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบดังกล่าว แจ้งผลการพิจารณาให้ส่วนราชการที่ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ในกรณีที่เรื่องใดมีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติไว้ และขั้นตอนการปฏิบัตินั้นต้องใช้ระยะเวลาเกินสิบห้าวัน ให้ส่วนราชการที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบ ประกาศกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้ให้ส่วนราชการอื่นทราบ

ส่วนราชการใดที่มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ หรือให้ความเห็นชอบมิได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากเกิดความเสียหายใดขึ้น ให้ถือว่าข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการนั้นประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความล่าช้านั้นมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของตน

มาตรา 29 ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนหรือการติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ให้ส่วนราชการแต่ละแห่งจัดทำแผนภูมิขั้นตอนและระยะเวลา การดำเนินการ รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเปิดเผยไว้ ณ ที่ทำการของส่วนราชการและในระบบเครือข่ายสารสนเทศของส่วนราชการ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจดูได้

มาตรา 37 ในการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนหรือติดต่อประสานงานระหว่างส่วนราชการด้วยกัน ให้ส่วนราชการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานแต่ละงาน และประกาศให้ประชาชนและข้าราชการทราบเป็นการทั่วไป ส่วนราชการใดมิได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานใด และ ก.พ.ร. พิจารณาเห็นว่างานนั้นมีลักษณะที่สามารถกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จได้ หรือส่วนราชการได้กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จไว้ แต่ ก.พ.ร. เห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ก.พ.ร. จะกำหนดเวลาแล้วเสร็จให้ส่วนราชการนั้นต้องปฏิบัติก็ได้

ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่จะต้องตรวจสอบ ให้ข้าราชการปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 38 เมื่อส่วนราชการใดได้รับการติดต่อสอบถามเป็นหนังสือจากประชาชน หรือจากส่วนราชการด้วยกันเกี่ยวกับงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้นที่จะต้องตอบคำถามหรือแจ้งการดำเนินการให้ทราบภายใน สิบห้าวันหรือภายในกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ตาม มาตรา 37

มาตรา 52 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามแนวทางของพระราชกฤษฎีกานี้ โดยอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน และการอำนวยความสะดวกและการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในหมวด 5 และหมวด 7

ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยดูแลและให้ความช่วยเหลือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง

(6) พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 มาตรา 3 มาตรา 27 มาตรา 39/1 มาตรา 40 มาตรา 44 และมาตรา 33 [7]

"มาตรา 3 วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดในกฎหมาย"

"มาตรา 27 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่กรณี

เมื่อมีผู้ยื่นคำขอเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครอง ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของคำขอและความครบถ้วนของเอกสาร บรรดาที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ หากคำขอไม่ถูกต้อง ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวแนะนำให้ผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเสียให้ถูกต้อง และหากมีเอกสารใดไม่ครบถ้วนให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบทันทีหรือภายในไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ในการแจ้งดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้รับคำขอและระบุรายการเอกสารที่ไม่ถูกต้องหรือยังไม่ครบถ้วนให้ผู้ยื่นคำขอทราบพร้อมทั้งบันทึกการแจ้งดังกล่าวไว้ในกระบวนพิจารณาจัดทำคำสั่งทางปกครองนั้นด้วย

เมื่อผู้ยื่นคำขอได้แก้ไขคำขอหรือจัดส่งเอกสารตามที่ระบุในการแจ้งตามวรรคสองครบถ้วนแล้วเจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการตามคำขอเพราะเหตุยังขาดเอกสารอีกมิได้ เว้นแต่มีความจำเป็น เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎและได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งตามมาตรา 20 ในกรณีเช่นนั้นให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยพลัน หากเห็นว่าเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป

ผู้ยื่นคำขอต้องดำเนินการแก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดหรือภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขยายออกไป เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากผู้ยื่นคำขอไม่แก้ไขหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์ที่จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำขอต่อไป ในกรณีเช่นนั้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเอกสารคืนให้ผู้ยื่นคำขอพร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ให้ผู้ยื่นคำขอทราบ และบันทึกการดำเนินการดังกล่าวไว้"

(มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557)

"มาตรา 39/1 การออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในเรื่องใด หากมิได้มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน

ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของเจ้าหน้าที่ ที่จะกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง" (มาตรา 39/1 เพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557)

"มาตรา 40 คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่าหนึ่งปี ให้ขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง"

"มาตรา 44 ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้น โดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว

คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือโดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง"

"มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความประหยัดและความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐ ให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่กำหนดเวลาสำหรับการพิจารณาทางปกครองขึ้นไว้ตามความเหมาะสมแก่กรณี ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้ง กับกฎหมายหรือกฎในเรื่องนั้น

ในกรณีที่การดำเนินงานในเรื่องใดจะต้องผ่านการพิจารณาของเจ้าหน้าที่มากกว่าหนึ่งราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องประสานงานกันในการกำหนดเวลาเพื่อการดำเนินงานในเรื่องนั้น"

(7) นอกจากนี้ ในกรณีพิจารณา "คำขอ" อาจพิจารณาเทียบเคียง "คำขออนุญาต" จาก พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 [8]


[1] "พยานสมรู้ร่วมคิดในการสอบพยานเพื่อรับรองตัวบุคคลในการแก้ไขรายการในทะเบียนราษฎร", 5 มกราคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts/583457&ศิวนุชสร้อยทอง, การรับรองความน่าเชื่อถือของ "พยานหลักฐานในการพิสูจน์การเกิดเพื่อแก้ไขทะเบียนประวัติ ฯ ของนายชนินทร์" : ปลาทอง นักกม.โครงการ4หมอ, 1 มกราคม 2558, https://www.facebook.com/notes/1030676490283094& รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กาญจนจิตราสายสุนทร, "มาช่วยกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวกันเถอะค่ะ ...ความพยายามของมวลมิตรเพื่อชนินทร์ค่ะ", 30 สิงหาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/575406

[2] www.wpkms.com/33/uploadfile/665.doc

[3] http://www.dopabook.com:8085/ebook/view.jsp?Open_Page=yes&id_PageBook=3926&booktype=2

[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106/ตอนที่ 56/ฉบับพิเศษ หน้า 1/12 เมษายน 2532, http://www.kodmhai.com/Kfp/New/N4.html

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114/ตอนพิเศษ 61 ง/หน้า 10/11 กรกฎาคม 2540, http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/legis/compe/th/rules/2540/c728-2G-2540-002.htm

[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 96 ก วันที่ 23 สิงหาคม 2551, หน้า 26-2,

http://www.library.coj.go.th/info/data/A20-04-006.pdf

[6] รจ.เล่ม 120 ตอนที่ 100 ก วันที่ 9 ตุลาคม 2546, http://www.kodmhai.com/m8/T1.html

[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113/ตอนที่ 60 ก/หน้า 1/14 พฤศจิกายน 2539, http://www.oic.go.th/content/act/5_2539.pdf &ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 - 3 เล่ม 131 ตอนที่ 89 ก วันที่ 30 ธันวาคม 2557, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/089/1.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1-8, เล่ม 132 ตอนที่ 4 ก วันที่ 22 มกราคม 2558 (ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 17 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/004/1.PDF

หมายเลขบันทึก: 586647เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2015 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท