Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มาช่วยกันพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวกันเถอะค่ะ ...ความพยายามของมวลมิตรเพื่อชนินทร์ค่ะ


กรณีศึกษานายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล : จากเรื่องราวของความพยายามในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคนกะเหรี่ยงชายแดน สู่ข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10152673383013834

-----------------------------------

ที่มาของครอบครัวของชนินทร์

-----------------------------------

นายชนินทร์เล่าว่า เขามีชื่อกะเหรี่ยงว่า “จ่อซุหะ” และครอบครัวของเขาไม่มีนามสกุล

นอกจากนั้น ชนินทร์เล่าว่า นายจ่าซวย ซึ่งเป็นบิดาของเขาเล่าให้ฟังว่า บิดาของเขาสืบเชื้อสายมาจากกะเหรี่ยงดั้งเดิมของประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะ “นายกะกู” ปู่ของเขาซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ ๑๐๐ ปีมาแล้ว เป็นคนที่เกิด ณ บ้านทุ่งถ้ำ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ประเทศไทย จึงมีสถานะเป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิมของแผ่นดินไทย แต่ต่อมา ปู่ได้เดินทางไปค้าขายที่ชายแดนฝั่งประเทศเมียนมาร์ เพราะสมัยนั้น เล่ากันว่าประเทศเมียนมาร์มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศไทย ปู่ได้แต่งงานที่นั่น และมีภริยา ๓ คน ซึ่งนายจ่าซวย บิดาของนายชนินทร์เป็นบุตรที่เกิดจากภริยาคนที่ ๑ ของปู่

ส่วนนางหมุ่ยแฮ มารดาของนายชนินทร์นั้น ชนินทร์ก็เล่าว่า นางหมุ่ยแฮเป็นคนกะเหรี่ยงจากบ้านซูเมยทะ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทยจึงเป็นคนในชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมในประเทศไทย และต่อมา ครอบครัวของมารดาก็ย้ายไปอยู่บ้านเซะหม่อกู้ จังหวัดผาอัน ประเทศพม่า เพราะตากับยายอธิบายว่า ทางโน้นเศรษฐกิจจะดีกว่า ต่อมา ตาและยายก็เสียชีวิตลงด้วยเวลาใกล้เคียงกัน ต่อมา มารดาและบิดาของชนินทร์ ก็ได้สมรสกัน ในขณะที่มารดามีอายุ ๑๔ ปี ส่วนเรื่องประวัติการมีญาติที่อยู่ในประเทศไทยที่บ้านซูเมยทะ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางหมุ่ยแฮก็ไม่มีโอกาสติดต่อกลับไปหาญาติๆ หรือจำความอะไรได้เลย จึงไม่อาจแสวงหาพยานบุคคลที่อาจรับรองความเป็นคนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ซึ่งมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย

นางหมุ่ยแฮ มารดาของชนินทร์เล่าว่าช่วงประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๒๐ เริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐกะเหรี่ยงต่อต้านรัฐบาลพม่า ทำให้เกิดสงครามการสู้รบเกิดขึ้น ครอบครัวจึงอพยพย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ฝั่งทางด้านทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเมย ประเทศไทย ที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ ระยะทางห่างกับบ้านแม่หละยาง หมู่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ประมาณ ๙ กิโลเมตร ก่อนนั้นป๊อกบ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าหลัง และรอบๆละแวกนั้น มีบ้านเรือนอยู่กระจาดกระจายเป็นป๊อกๆ ตามไร่ตามสวน ป๊อกบ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ ในขณะนั้นมีสำนักปฏิบัติธรรม หรือฤาษีอาศรมอยู่ มีโบสถ์และเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์มาก เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ทำกิน ทำไร่ ทำนา ทำสวน ชาวบ้านที่อพยพมาจากประเทศพม่า และชาวบ้าน บ้านแม่หละยางจึงเข้ามาอยู่รวมกันทำไร่ ทำนา ทำสวนและอาศัยอยู่ด้วยกันฉันท์พี่ฉันท์น้อง

----------------------

ที่มาของชนินทร์

--------------------

มารดาบอกว่า ชนินทร์เกิดช่วงเมื่อวันที่ ๑๓ เดือน เมษายน พ.ศ.๒๕๒๔ ที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ ตำบลแม่หละ อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก ทำคลอดโดยหมอตำแย ที่มีชื่อว่า “นางโม๊ะโล๊ะ หรือจอปว้าโม เป็นผู้ทำคลอด ซึ่งในปัจจุบัน เสียชีวิตลงแล้ว ชนินทร์มีมีพี่น้องร่วมสายเลือด ๔ คน โดยเขาเป็นบุตรคนที่ ๓

แม้ครอบครัวของชนินทร์จะประกอบอาชีพรับจ้างและทำไร่ทำสวนอยู่ที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ เพียง ๔ ปีกว่าๆ แต่อย่างไรก็ตาม มีพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือที่รู้เห็นการเกิดในประเทศของชนินทร์ และพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ และยอมรับที่จะรับรองการเกิดของเขามีอยู่ ๒ คน ก็คือ (๑) นางสีทอน กมลสุขดำรง[1] และ (๒) นางเนาะกา ข้างเคียงขุนเขา[2]

----------------------

การอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของครอบครัวของชนินทร์

--------------------

ปี พ.ศ.๒๕๒๖ ครอบครัวจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านแม่หละยาง หมู่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อาศัยปลูกเรือนอยู่ในพื้นที่ ที่ดินของลุงคอก้าปาข้างบ้านลุงตอซู ปัจจุบันเป็นคุ้มที่ ๔ อยู่ประมาณ ๒ ปีกว่าๆ

ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ครอบครัวจึงได้ย้ายอีกครั้ง มาอยู่ที่บ้านตะวอโพ หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ปัจจุบันเป็นคุ้มที่ ๑ และได้ซื้อที่ดินปลูกบ้านแปลงหนึ่ง อาศัยอยู่จนถึงปัจจุบันทุกวันนี้

ปี พ.ศ.๒๕๓๐ ชนินทร์ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนบ้านแม่สละเหนือ หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

----------------------

การทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของครอบครัวของชนินทร์

--------------------

และในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงครั้งแรก เมื่อวันที่ ๙ เดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งเอกสารนี้เรียกตัวเองว่า “แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่ที่สูง” ขณะนั้น ชนินทร์กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ โดยประมาณ ปรากฏตามทะเบียนประวัติซึ่งอำเภอท่าสองยางออกให้แก่ครอบครัวของนายชนินทร์นั้น ระบุว่า บิดาของชนินทร์มีชื่อว่า นายจ่าซวย ซึ่งเกิดในประเทศเมียนมาร์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ และระบุว่านายจ่าสวยมีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน และมีการบันทึกชื่อของชนินทร์ด้วยเช่นกัน

ด้วยสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของชนินทร์ ที่เกิดจากแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงนี้ เขาจึงได้รับการออกบัตรประจำตัวกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง” นอกจากนั้น เขายังได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๖ ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงนี้ระบุว่า เขาอาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๕๘/พ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่หละยาง ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก แต่ทะเบียนประวัตินี้กลับระบุว่า ชนินทร์เกิดในประเทศเมียนม่าร์ เขาควรจะได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อการนี้ เขาเพิ่งมาร้องขอทำเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และอำเภอท่าสองยางก็เพิ่งดำเนินการออกสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าวให้แก่เขา

--------------------------

การศึกษาและการประกอบอาชีพของชนินทร์

-------------------------

ปัจจุบัน ชนินทร์จบการศึกษาในระดับอนุปริญญาสาธารณสุขศาสตร์ สาขาสาธารณสุขชุมชน และเขาประกอบอาชีพโดยการรับจ้างเป็นลูกจ้างเหมาบริการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขอำเภอท่าสองยาง เขาทำงานนี้มาเป็นเวลา ๘ ปีแล้ว

--------------------------

ปัญหาความสับสนทางเอกสารรับรองตัวบุคคลของชนินทร์

-------------------------

ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ ๓๐ กว่าปีแล้ว เอกสารข้อมูลหลักฐานการศึกษาและเอกสารแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของชนินทร์ ไม่เคยตรงกัน จึงกลายเป็นปัญหาของชนินทร์จนถึงปัจจุบันทุกวันนี้ คือ ในแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ระบุข้อมูลว่า

(๑.) ปีเกิด - - ๒๕๒๒ อายุเพิ่มขึ้นผิดจากข้อเท็จจริง ๒ ปี สันนิษฐานว่า อาจเป็นไปได้ที่มีคนเคยบอกว่า ในขณะนั้น หากอายุไม่ถึง ๑๒ ปี เจ้าหน้าที่จะไม่ออกบัตรประจำตัวให้ ด้วยการที่สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เพราะครอบครัวของชนินทร์ พูด และฟังภาษาไทยไม่ได้ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้ระบุข้อมูลลงในประวัติทะเบียนบุคคลบนพื้นที่สูงแบบอาจถูกบ้างผิดบ้าง

(๒.) สถานที่เกิด ระบุว่าเกิดในพม่า สันนิษฐานว่า เจ้าหน้าที่ อาจดูที่ พ.ศ.เกิด ขัดแย้งกับปีที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย คือไปดูในแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบนพื้นที่สูง ระบุว่า หัวหน้าครอบครัวเข้ามาในประเทศไทยทางด้าน ทิศตะวันตก เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ มาอยู่ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก รวม ๘ ปี ข้อเท็จจริง คือ ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นปีที่ครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านแม่หละยาง หมู่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก คือ ก่อนหน้านั้น เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๐ ครอบครัวได้อพยพเข้ามาอยู่ทางด้านที่ตะวันตกแล้ว ที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ประเทศไทย

--------------------------

ความพยายามของชนินทร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเองและครอบครัว

-------------------------

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ชนินทร์จึงไปเรียกร้องและขอความอนุเคราะห์กับทางอำเภอท่าสองยางมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขอความเป็นธรรม ขอแก้ไขสถานที่เกิดในแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เลขที่รหัสประจำบ้าน ๖๓๐๕-๙๐๒๘๘๒-๖ บ้านเลขที่ ๕๘/พ หมู่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ขอหนังสือรับรองการเกิด พร้อมเอาพยานบุคคลมารับรองข้อเท็จจริง และขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ชนินทร์ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นคนไทยทั่วไป ได้พัฒนาองค์ความรู้ ทุ่มเทกายและใจนี้แก่สังคม และประเทศชาติจนกว่าชีวิตจะหาไม่ อีกทั้งตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินไทย

แต่ชนินทร์ก็แทบจะหมดความพยายาม เพราะทุกครั้งที่ชนินทร์ติดต่อข้อมูลไปที่อำเภอชนินทร์ก็ได้เพียงคำตอบว่า ทำไม่ได้ และให้ชนินทร์รอ รอจนชนินทร์ไม่รู้ว่า ชนินทร์จะยังมีโอกาสได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยอีกหรือไม่ ?

ชนินทร์ให้บทสรุปสุดท้ายของการบันทึกข้อมูลของเขาเองว่า หากดูจากประวัติข้อมูลที่มาและเชื้อสายของบิดา มารดาของชนินทร์แล้ว ชนินทร์เองก็มาจากเชื้อสายคนไทยดั้งเดิมอยู่ เพียงแต่ไม่มีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจนหรือสามารถหามาได้ เพราะเหตุการณ์ผ่านไปจนนานแสนนาน หลายช่วงชีวิตอายุคน จึงไม่สามารถเรียกร้องหรือขอทวนคืนสิทธิการมีสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตได้อีกแล้ว

--------------------------

ความพยายามอีกครั้งหนึ่งของ “มวลมิตรของชนินทร์” เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชนินทร์และครอบครัว

-------------------------

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยางได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจาก รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เพื่อขอให้ช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชนินทร์และครอบครัว และขอให้ช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของชนินทร์ ซึ่งเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุขของอำเภอท่าสองยาง

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงเสนอแนวคิดและขั้นตอนในการจัดการการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชนินทร์และครอบครัวดังนี้

ในประการแรก งานพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวครั้งนี้น่าจะทำในรูปของรายงานวิชาการเพื่อที่จะเข้าใจปัญหาของชาวไทยภูเขาที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อันจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในปัญหาของชนินทร์ และบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์จึงมอบหมายให้อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยทางวิชาการประจำตัว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และกำลังเตรียมเสนอวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเรื่อง “อดีตคนหนีภัยความตายในประเทศไทย : ศึกษาการจัดการโดยรัฐไทย” เข้าทำหน้าที่ประสานงานและรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเห็นทางกฎหมายต่อ นพ.ธวัชชัย ตามคำขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย

ในประการที่สอง การพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชาวกะเหรี่ยงก็ย่อมจะต้องมี “ภูมิปัญญา” ของนักคิดและผู้รู้ในกะเหรี่ยงศาสตร์มาร่วมในกระบวนการพิสูจน์ ดังนั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ยังขอความช่วยเหลือในการทำความเข้าใจเรื่องราวของชนินทร์ไปยังนักคิดและผู้รู้ชาวกะเหรี่ยงอีกหลายท่าน กล่าวคือ (๑) อาจารย์สุมิตร วอพะพอ แห่ง Plan International ซึ่งมีประสบการณ์มายาวนานในการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของชาวไทยภูเขา (๒) อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงที่มีความเข้าใจอย่างลุ่มลึกในความเป็นมาของคนกะเหรี่ยงทั้งในประเทศไทยและในโลกทั้งใบ (๓) คุณแม่ทัศนีย์ คีรีปราณีต ซึ่งเป็นนักพัฒนาชุมชนกะเหรี่ยงที่ทำงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ท่าสองยางมายาวนาน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราส่งข่าวขอความช่วยเหลือไปยังนักคิดและผู้รู้ในกะเหรี่ยงศาสตร์ออกไปในวันนี้ ก็คงมีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนกะเหรี่ยงอีกมากมายประสงค์ที่จะเข้าร่วมในกระบวนทางวิชาการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัว

ในประการที่สาม การพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวครั้งนี้ย่อมจะนำไปสู่เวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของชนินทร์และยาว และหากฝ่ายปกครองในจังหวัดตากและอำเภอท่าสองยางเข้าร่วมในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและการหารือสาธารณะเพื่อกำหนดแนวคิดและวิธีการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ชนินทร์และครอบครัว ก็จะเกิด “ภูมิปัญญาในการจัดการประชากรกะเหรี่ยงชายแดนในจังหวัดตาก” ซึ่งจะเป็นต้นทุนทางปัญญาในการสร้างสันติสุขชายแดนอาเซียน ดังนั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ ได้เสนอแนะให้ นพ.ธวัชชัย ทำหนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และนายอำเภอท่าสองยางที่จะเข้าร่วมในการลงพื้นที่และในการหารือเพื่อจัดการปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่นายชนินทร์ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อีกด้วย

ในประการที่สี่ ประสบการณ์ในการดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวครั้งนี้น่าจะนำไปสู่ (๑) “ต้นแบบในการทำงานของคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลชายแดน ณ จังหวัดตาก” (๒) “ต้นแบบของการทำงานเพื่อขอข้อหารือทางกฎหมาย” และ (๓) “ต้นแบบของการทำงานเพื่อจัดเวทีสาธารณะเพื่อปฏิรูปกฎหมายและนโยบายในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลให้แก่คนชายแดน ณ จังหวัดตาก” ดังนั้น รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ จึงความอนุเคราะห์จาก นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประสานงานทั่วไปของ โครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดน ณ จังหวัดตากเพื่อสนับสนุน “ล่ามที่เป็นกลาง” และ “นักกฎหมายประจำคลินิกกฎหมายของโรงพยาบาล” ในการทำงานในการรวบรวมข้อเท็จจริงในรายละเอียดบนพื้นที่ ก่อนที่จะมีการประชุมหารือทางกฎหมายเพื่อระดมความเห็นทางกฎหมายในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของชนินทร์ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ การทำงานครั้งนี้ก็คงจะเป็นการสร้างประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่าง ๔ โรงพยาบาล และภาคสนับสนุนนอกพื้นที่ภายใต้โครงการดังกล่าว

ในประการที่ห้า การพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัวนั้นควรจะต้องมีการลงพื้นที่ของคณะผู้ทำรายงาน อันได้แก่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และอาจารย์พวงรัตน์ เพื่อรับรู้ข้อเท็จจริง ณ สถานที่เกิดและสถานที่อยู่ของชนินทร์ ตลอดจนการสอบถามข้อเท็จจริงจากมารดาและพี่น้องของชนินทร์ อีกทั้งบุคคลอื่นที่รู้เห็นการเกิดของชนินทร์ จึงขอเสนอให้ นพ.ธวัชชัยจัดให้มีการลงพื้นที่ดังกล่าวในวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ ข้อเท็จจริงที่ได้มาในคราวนี้น่าจะไปประกอบกับ (๑) ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างโดยชนินทร์เอง ได้มีการเริ่มต้นทำงานกันไปบ้างแล้ว (๒) ข้อเท็จจริงที่สอบโดยบางกอกคลินิก แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ในระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และ (๓) ข้อเท็จจริงที่จะสอบโดยคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลแม่ระมาดและโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยการบัญชาการของ นพ.จิรพงศ์ ก่อนวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗

ในประการที่หกและเป็นประการสุดท้าย เพื่อที่จะทำให้ “รายงานเพื่อเสนอความเห็นทางกฎหมายเพื่อจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล และครอบครัว” ที่เขียนโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และอาจารย์พวงรัตน์ เป็นไปอย่างมีน้ำหนักและสะท้อนภูมิปัญญาในการจัดการประชากรกะเหรี่ยงชายแดนของประเทศไทย จึงควรมีการจัดการประชุมหารือทางวิชาการเพื่อสรุปการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของชนินทร์และครอบครัว ตลอดจนการกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของบุคคลดังกล่าว การประชุมทางวิชาการนี้น่าจะประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) คณะนักกฎหมายที่ร่วมพิสูจน์ข้อเท็จจริง (๒) ผู้รู้และนักคิดชาวกะเหรี่ยง ตลอดจนนักวิชาการด้านกะเหรี่ยงศาสตร์ (๓) ภาคราชการที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครองในจังหวัดตากและอำเภอท่าสองยาง (๔) ผู้บริหารหน่วยงานด้านสาธารณสุขในอำเภอท่าสองยาง และ (๕) เจ้าของปัญหาเอง อันได้แก่ชนินทร์และครอบครัว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์จึงเสนอให้ นพ.ธวัชชัยจัดการประชุมทางวิชาการดังกล่าว ณ ห้องประชุมของโรงพยาบาลท่าสองยาง ในวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. และมีการถ่ายทอดอินเทอร์เน็ตออกไปให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วม ทั้งนี้ โดยขอความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีการถ่ายทอดนี้จากคุณวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา

ด้วยความพยายามของมวลมิตรของชนินทร์ทั้งหมดนี้ ก็คงทำให้เกิดความคืบหน้าอีกก้าวหนึ่งให้แก่ชีวิตของชนินทร์และครอบครัว จึงอยากขอความเห็นจากมวลมิตรที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่หารือกันไม่เป็นทางการมาสักระยะหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจเสนอความเห็นเป็นอย่างอื่น หรือเห็นด้วยตามสะดวก ทั้งนี้ อยากให้เราทั้งหลายมาเสนอความพยายามอีกครั้งหนึ่งของชนินทร์ในการจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของเขาและครอบครัว


[1] นางสีทอน กมลสุขดำรง ยอมรับเป็นพยานบุคคลในลำดับที่หนึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก สีทอนที่มีอายุแก่กว่าชนินทร์หลายปี เธอผู้นี้เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ เธอถูกบันทึกในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย เธอจึงมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๓ ชนินทร์เล่าว่า นางสีทอนเห็นนายชนินทร์ตั้งแต่เขาอยู่ในครรภ์ของมารดา และเห็นต่อมา เมื่อเขาคลอดออกจากครรภ์ของมารดา สีทอนมีบุตรชายที่เกิดใน พ.ศ.เดียวกันกับชนินทร์ แต่ต่างเดือนกัน ในปัจจุบัน สีทอนอาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๕๙ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่หละยาง ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เธอมีอาชีพทำไร่ทำสวน

[2] นางเนาะกา ข้างเคียงขุนเขา ยอมรับเป็นพยานบุคคลในลำดับที่สอง เธอมีอายุแก่กว่าชนินทร์มาก นางเนาะกาเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ชนินทร์เล่าว่า นางเนาะกาเป็นเพื่อนบ้านที่บ้านป่าไร่โน๊ะตี่ตู่บอ หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เช่นกัน และเห็นชนินทร์ตั้งแต่เขาอยู่ในครรภ์ของมารดา และเห็นต่อมา เมื่อเขาคลอดออกจากครรภ์ของมารดา เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะว่า มีบ้านอยู่ใกล้กัน นางเนาะกาประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวนอยู่ในละแวกใกล้กันกับครอบครัวของชนินทร์ นางเนาะกาเคยประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในช่วงก่อน พ.ศ.๒๕๓๔ เช่นกัน เธอจึงได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลบนพื้นที่สูง ณ บ้านแม่หละยาง หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เช่นกัน แต่นางเนาะกาเพิ่งได้รับการลงรายการสัญชาติไทยเมื่อไม่นานมานี้ เธอถูกบันทึกในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย และมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘ เธออาศัยอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๕๙/พ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่หละยาง ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

คุณหมอหนึ่ง ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง คนสัญชาติไทย และคุณชนินทร์ ไม่มีนามสกุล บุคลากรด้านสาธารณสุขไร้สัญชาติของอำเภอท่าสองยาง .... มิตรภาพทางวิชาชีพสาธารณสุขที่น่าประทับใจที่สุดของปี พ.ศ.๒๕๕๗ ในชีวิตของ อ.แหวว

หมายเลขบันทึก: 575406เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2014 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2014 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท