ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องมีนักโภชนาการประจำตำบล


ปัจจุบันเด็กไทยต้องประสบกับภาวะวิกฤตสุขภาพ อ้วน ผอม เตี้ย และเริ่มมีแนวโน้มการตรวจพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๕ ปี เพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวานชนิดที่ ๒ ความดันโลหิตสูง และหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยยังอยู่ในขั้นต่ำของค่ามาตรฐานสากลคือ ๙๘ จุด ในขณะที่เด็กสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐๔ จุด

ถาม-ตอบ

ทำไมต้องมีนักโภชนาการประจำตำบล

ปัจจุบันเด็กไทยต้องประสบกับภาวะวิกฤตสุขภาพ อ้วน ผอม เตี้ย และเริ่มมีแนวโน้มการตรวจพบโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในเด็กที่อายุต่ำกว่า ๕ ปี เพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวานชนิดที่ ๒ ความดันโลหิตสูง และหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยยังอยู่ในขั้นต่ำของค่ามาตรฐานสากลคือ ๙๘ จุด ในขณะที่เด็กสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๐๔ จุด

หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือเด็กไทยมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมโภชนาการที่พึงประสงค์ แม้ขณะอยู่ในสถานศึกษาซึ่งคาดหวังว่าน่าจะได้รับการคุ้มครองสุขภาพด้านโภชนาการที่ดีก็ยังประสบกับปัญหาด้านคุณภาพอาหาร ผลการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับ สพฐ. เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ พบว่า ร้อยละ ๘๐ ของโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังจัดบริการอาหารไม่ได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย แม้รัฐบาลจะขึ้นค่าอาหารกลางวันนักเรียนจากวันละ ๑๓ บาท/คน เป็น ๒๐ บาท/คน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๖ แล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ อปท. ขาดการบริหารจัดการเชิงระบบ ครู ผู้ดูแลเด็ก ที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหน้าที่หลักคือสอนหนังสือ ประกอบกับการจัดอาหารสำหรับเด็กที่มีปัญหาภาวะทุพโภชนาการ หรือการพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยนั้น จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้และทักษะด้านอาหารและโภชนาการในเชิงลึก จึงจะจัดการได้สำเร็จ

บทเรียนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ของกรมอนามัย ร่วมกับ สสส. และสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๖ ค้นพบว่าโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีนักโภชนาการหรือมีอัตราจ้างผู้ที่จบด้านอาหารและโภชนาการอยู่ประจำ จะมีการจัดการด้านอาหารและโภชนาการได้คุณภาพตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยมากกว่าโรงเรียนที่ไม่มีบุคลากรด้านนี้ และเมื่อเทียบเคียงผลการดำเนินงานกับนานาชาติที่เจริญแล้วและมีผลสำเร็จด้านการพัฒนาคน เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอังกฤษ พบว่าประเทศเหล่านี้ล้วนมีนักโภชนาการประจำโรงเรียนทั้งสิ้น

จึงเกิดคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยต้องมีนักโภชนาการประจำตำบล

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย มาไขข้อข้องใจว่าทำไมต้องมีนักโภชนาการประจำตำบล

คำถาม : จุดมุ่งหมายหลักของการมีนักโภชนาการประจำตำบล เพื่ออะไร

เพื่อให้มีนักการจัดการด้านอาหารและโภชนาการประจำตำบลหรือท้องถิ่น เพื่อให้เด็กในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านโภชนาการอย่างเท่าเทียม เช่น ได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเหมาะสม สะอาด ปลอดภัย ได้รับการเฝ้าระวังและติดตามการเจริญเติบโต เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการส่งเสริมภาวะโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยทันต่อเวลาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย

คำถาม : บทบาท และหน้าที่ของนักโภชนาการประจำตำบลมีอะไรบ้าง

๑) ควบคุมคุณภาพอาหารกลางวันและอาหารมื้ออื่นๆที่โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน จัดบริการให้เด็กได้มาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย

๒) ควบคุมคุณภาพอาหารว่าง ขนม นม และเครื่องดื่มที่จัดบริการหรือขายในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และชุมชน ได้มาตรฐาน

๓) ส่งเสริมโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และชุมชน ทำการเกษตรปลอดภัย ปศุสัตว์และประมง เพื่ออาหารกลางวันของเด็ก

๔) พัฒนาศักยภาพบุคลากรในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก อสม. แกนนำชุมชน และผู้ปกครอง ให้มีศักยภาพในการจัดการคุณภาพอาหารและสามารถติดตามประเมินผลด้านอาหารและโภชนาการได้ด้วยตนเอง

๕) ร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน อปท. และบุคลากรทางการแพทย์จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการอาหารและโภชนาการของท้องถิ่น ระยะ ๑ ปี และ ๓ ปี

๖) ร่วมกับครูที่รับผิดชอบงานโภชนาการ และผู้ดูแลเด็ก จัดทำแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการด้านอาหารและโภชนาการทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการของเด็ก โดยผู้ปกครอง แกนนำชุมชน มีส่วนร่วม

๗) วางระบบการเฝ้าระวังและติดตามด้านอาหารและโภชนาการของเด็ก ครอบครัว และชุมชน ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ทั้งในระดับตำบลหรือท้องถิ่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และครอบครัว เพื่อพัฒนางานโภชนาการร่วมกันอย่างเป็นสหวิชาชีพ

๘) สนับสนุนการดำเนินงานคลินิก DPAC โดยร่วมให้คำปรึกษาแก่เด็กที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ผอม และเตี้ย

๙) ประสานงานเพื่อขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกตำบล

๑๐) ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการในระดับองค์กร ชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อผลักสู่นโยบายระดับชาติ

๑๑) ร่วมประเมินนโยบายด้านสุขภาพ ( local wellness policy) กับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น และ

นำผลการประเมินมาสื่อสาร และประยุกต์ใช้ในการจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก ครอบครัว ประชาชนในชุมชน และนักกำหนดนโยบายในระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ

คำถาม : กรมอนามัยได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีนักโภชนาการประจำตำบลไว้อย่างไรบ้าง

กรมอนามัย โดยสำนักโภชนาการ ได้กำหนดแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้มีนักโภชนาการประจำตำบล ดังนี้

๑) ศึกษา รวบรวม และสังเคราะห์ข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการจัดให้มีนักโภชนาการประจำตำบล

๒) สื่อสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างความตระหนัก ให้เห็นความจำเป็น และหาแนวร่วมในการผลักดันให้มีกรอบอัตรากำลังและการบรรจุนักโภชนาการประจำตำบล

๓) จัดเวทีนโยบายสาธารณะทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อระดมแนวทางการขับเคลื่อนให้มีตำแหน่งนักโภชนาการประจำตำบลอย่างเป็นรูปธรรม โดยประสานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการ กำหนดอัตรากำลัง และงบประมาณรองรับ

๔) ร่วมกับกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นจุดประกายขายความคิดในการประชุม อบรม ของผู้บริหาร อปท. เพื่อสร้างความตระหนัก และเชิญชวนให้ อปท.ร่วมเป็นพื้นที่นำร่องในการบรรจุนักโภชนาการประจำตำบล โดยใช้งบของท้องถิ่น

๕) จัดอบรมนักโภชนาการประจำตำบลให้มีศักยภาพในการทำงาน

๖) ควบคุม กำกับ ติดตาม และประเมินผล เพื่อใช้ข้อมูลในการพัฒนางาน พัฒนาคน และขยายผลการดำเนินงานในอนาคต

คำถาม : คุณสมบัติของนักโภชนาการประจำตำบล มีอะไรบ้าง

๑.จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านอาหารและโภชนาการ หรือสาขาบ้านและชุมชน

๒.รักการทำงานในชุมชน มีจิตใจเสียสละ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

๓.สามารถจัดทำแผนยุทธศาสตร์/แผนพัฒนางาน/โครงการด้านอาหารและโภชนาการได้

๔.มีความรู้และทักษะที่ดีในการจัดการอาหารและโภชนาการตามมาตรฐานโภชนาการ

สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัยให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

คำถาม : ขณะนี้ยังไม่มีท้องถิ่นไหนที่มีนักโภชนาการอาชีพประจำอยู่ ทางกรมอนามัยจะมีวิธีใดในการส่งเสริมให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญและจัดจ้างนักโภชนาการประจำตำบลด้วยของท้องถิ่นเอง

๑) กรมอนามัย ร่วมกับ สสส. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กทม. และ สพฐ. ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนให้ท้องถิ่นมีนักโภชนาการประจำตำบล ผ่านโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย โดยดำเนินการใน ๑๒ จังหวัดนำร่อง ในปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร สุรินทร์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สงขลา และภูเก็ต โดยทุกจังหวัดนำร่องจะมีกระบวนการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้เกิดนโยบาย ๑ ตำบล ๑ ครัวกลาง โดยมีนักโภชนาการประจำตำบลควบคุมคุณภาพอาหาร โดยการจัดอบรมให้คามรู้และพัฒนาทักษะผู้บริหาร ครู ผู้ดูแลเด็ก แกนนำชุมชน และผู้ปกครอง ด้านการจัดการอาหารในรูปแบบครัวกลางตามาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย รวมทั้งแนวทางการผลักดันให้มีนักโภชนาการประจำตำบล ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นนโยบายดังกล่าว เช่น วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ จัดที่จังหวัดลำปาง วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘ จัดที่จังหวัดภูเก็ต ฯลฯ

๒) ค้นหา อปท. โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีนักโภชนาการ หรือมีอัตราจ้างผู้ที่จบด้านอาหารและโภชนาการประจำโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมาจัดทำเป็นสกู๊ปข่าว สารคดี สื่อสารสู่สาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการขยายผลให้กับ อปท. โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอื่นๆได้เห็นความสำคัญและนำไปปฏิบัติ

๓) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานตำแหน่งนักโภชนาการประจำตำบล เพื่อเสนอต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

๔) จัดทำหลักสูตรอบรมด้านการพัฒนาคุณภาพอาหารตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหาร และอาหารปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางให้กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ในกรณีที่ยังไม่สามารถบรรจุนักโภชนาการประจำตำบลได้ทันในปีงบประมาณ ๒๕๕๘

๕) ให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ อปท. โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สพป.เขต สสจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากร เพื่อทำหน้าที่เป็นนักโภชนาการประจำตำบล

๖) ขอความร่วมมือนักโภชนาการประจำโรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการอาหารและโภชนาการของ อปท. และนำเสนอตัวอย่างหรือแนวทางการจัดการที่ดีด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อกระตุ้นให้ อปท. เห็นความสำคัญ และความจำเป็นในการมีนักโภชนาการประจำตำบลของตนเอง

ที่มา : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย

หมายเลขบันทึก: 586243เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท