โครงการป้องกันและลดจำนวนการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครนายกถวายแด่พ่อหลวงของแผ่นดิน (ระยะที่ 2) ตามสโลแกน "สถานพินิจ ให้ชีวิตใหม่ ได้วิชาชีพ"


จากการเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเด็กและครอบครัวอบอุ่น ผลการดำเนินงานพบว่า เด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดทางอาญา มีปัญหาและสาเหตุดังต่อไปนี้ คือ

1. บิดา-มารดา หย่าร้าง และไปทำงานที่อื่น ปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนอยู่ตามลำพังกับ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งอายุมาก และไม่สามารถติดตามพฤติกรรมของเด็กหรือเยาวชนได้ ทำให้ก้าวเข้าไปสู่วังวนของปัญหายาเสพติด

2. บิดา-มารดา หย่าร้าง และมีครอบครัวใหม่ มารดา ซึ่งเป็นฝ่ายเลี้ยงดู เกิดความรู้สึกผิดที่ตนเองมีสามีใหม่ จึงพยายามชดเชยด้วยการเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชนแบบตามใจ เมื่อไม่ไปโรงเรียน ก็ปล่อยเลยตามเลย ไม่บังคับ ทำให้เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน

3. บิดา-มารดา หย่าร้าง แต่มารดา ซึ่งเป็นฝ่ายเลี้ยงดูไม่ได้แต่งงานใหม่เป็น"คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว"ซึ่งส่วนใหญ่มีลูกเพียงคนเดียว จึงพยายามทำหน้าที่เป็นทั้งบิดาและมารดา โดยการเลี้ยงดูแบบรักและตามใจสุดโต่ง เมื่อเด็กหรือเยาวชนเข้าสู่วัยรุ่นและเริ่มเรียนในระดับมัธยม จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพของโรงเรียนที่มีกฎ ระเบียบ และข้อบังคับได้ ทำให้ต้องเลิกเรียนไปในที่สุด

4. บิดา-มารดา อยู่ด้วยกัน แต่มีปัญหาทางครอบครัว คือ มีอาชีพรับจ้าง ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งฐานะยากจน และไม่มีความรู้ จึงไม่สามารถอบรม สั่งสอน และมีทัศนคติที่ไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา เมื่อเด็กหรือเยาวชนไม่ไปเรียนหนังสือ ก็เห็นว่าดี จะได้ช่วยกันออกมาทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

5. บิดา-มารดา อยู่ร่วมกันและมีฐานะดี มีความคาดหวังสูง เลี้ยงเด็กแบบกดดัน ต้องการให้เด็กเป็นไปตามแบบที่ต้องการ แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นละเริ่มเรียนในโรงเรียนระดับมัธยม เด็กเริ่มออกจากการควบคุม ดูแลของผู้ปกครอง บิดา-มารดา และไปติดเพื่อน ในขณะที่ความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี ยังไม่มากพอที่จะแยกแยะสิ่งใดดีหรือไม่ดีได้ จึงทำให้เด็กกระทำผิดอาญาในหลายรูปแบบ

6. ปูมหลังในวัยเด็กของบิดาหรือมารดาผู้ที่เลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชน ยากจนหรือมีความขาดแคลน อยากเรียนหนังสือ แต่ไม่มีโอกาส จึงพยายามเลี้ยงดูเด็กหรือเยาวชน แบบตามใจเพื่อไม่ให้มีสภาพเหมือนตนเองในวัยเด็ก แต่ไม่มีความรู้ จึงส่งเสริมให้เรียนด้วยการซื้อโทรศัพท์มือถือ รถมอเตอร์ไซด์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เพื่อจูงใจให้เด็กไปเรียนหนังสือ แต่เด็กหรือเยาวชนที่ถูกตามใจและไม่เห็นความจำเป็นของการศึกษา เพราะเห็นว่า เมื่อตนเองต้องการสิ่งใด ก็ได้ตามต้องการทุกอย่าง จึงไม่อยากไปเรียนหนังสือ และออกจากโรงเรียนไปในที่สุด

7. เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ และออกจากโรงเรียนกลางคันในระดับมัธยมต้น (ม.1-ม.3) เนื่องจากปัญหาจากข้อ 1-6 และบิดา-มารดา ไม่ได้กวดขันการเรียนการสอนมาตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา เมื่อเด็กไปเรียนในระดับมัธยม จึงเขียนหนังสือไม่ได้ และอ่านหนังสือไม่ออก เกิดเป็นปมด้อย ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน และต้องออกจากโรงเรียนในระบบไป

8. เมื่อเด็กกระทำผิดทางอาญา เช่น เสพยาเสพติด ผู้ปกครอง บิดา-มารดา ไม่มีใครทราบมาก่อนเลย จะทราบเมื่อเด็กถูกดำเนินคดีแล้ว

9. ชุมชนที่อยู่อาศัยของเด็กหรือเยาวชน มีสภาพที่บิดา-มารดา ผู้ปกครอง ไปทำงานแบบเช้าไป-เย็นกลับ และไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เด็กหรือเยาวชนไปโรงเรียนหรือไม่ เพราะเมื่อเตรียมทุกอย่างให้ หรือแม้แต่ไปส่งเด็กที่โรงเรียนแล้วทุกวัน และคิดว่าเด็กหรือเยาวชนไปโรงเรียนหรืออยู่ที่โรงเรียน เด็กหรือเยาวชนกลับแอบหลบหนีไปอยู่ตามสถานที่อื่นเช่น ร้านเกมส์ เป็นต้น จะรู้ต่อเมื่อโรงเรียนแจ้งว่าเด็กหรือเยาวชนหมดสิทธิสอบ ก็สายเกินไป เพราะแม้ว่าโรงเรียนมีจดหมายมาหาผู้ปกครองก็มักไม่ถึงมือ ทำให้ชุมชนนั้น เต็มไปด้วยเด็กหรือเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จับกลุ่ม มั่วสุมและพยายามชักชวนกันเพื่อไม่ให้ไปเรียนหนังสือ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

10. แนวโน้มของเด็กและเยาวชนจะเริ่มสูบบุหรี่อายุน้อยลง ปัจจุบัน อายุ 9 ขวบ เริ่มทดลองสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยาเสพติดอื่นต่อไปในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 586187เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท