พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

รัฐไทยใช้ข้อกฎหมายนโยบายใดเพื่อการจัดการสิทธิน้องชัย หลานชายและบุตรชายของอดีตคนหนีความตาย


รัฐไทยใช้ข้อกฎหมายนโยบายใดเพื่อการจัดการสิทธิน้องชัย หลานชายและบุตรชายของอดีตคนหนีความตาย

เขียนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2557

: สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบว่ารัฐไทยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๐ อนุมัติแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงฯ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๔๕ ในการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลชุมชนบนพื้นที่สูงเพื่อขจัดความไร้รัฐให้กับน้องชัย ขณะเดียวกันก็จดทะเบียนการเกิดและจัดทำสูติบัตรที่แสดงจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับมารดาและบิดาที่เป็นอดีตคนหนีภัยความตาย

: สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ หลังการรับรองสถานะบุคคลของน้องชัยในสถานะชนกลุ่มน้อยประเภทกลุ่มชุมชนบนพื้นที่สูง รัฐไทยก็ออกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งมีสาระสำคัญให้บุคคลที่จัดทำทะเบียนประวัติมาพิสูจน์ตัวว่าเป็นคนดั้งเดิม หรืออพยพเข้ามาใหม่ และยังมีมติคณะรัฐมนตรีในลักษณะดังกล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๔ มติคณะรัฐมตรีวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ที่ขยายเวลาพิสูจน์ตนเพื่อพัฒนาสถานะบุคคล แต่เมื่อบิดามารดาของน้องชัยไม่ได้มีข้อเท็จจริงเป็นคนดั้งเดิมติดแผ่นดินไทย และความเป็นคนดั้งเดิมจากคุณตายงยุทธก็ไม่ผ่านการรับรู้ของรัฐไทยมายังตัวน้องชัย เขาจึงไม่ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลตามนโยบายดังกล่าว

นอกจากนั้นขณะที่น้องชัยเกิด นางไมว่างมีสถานะเป็นคนต่างด้าวมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย แล้ว ซึ่งน้องชัยควรได้รับรองสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตั้งแต่ตอนนั้น แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยไม่ได้รับรองสถานะความเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรให้แก่น้องชัยตั้งแต่เกิด และความรู้ไม่รู้ข้อกฎหมายของครอบครัวน้องชัย ดังนั้นการรับรู้ที่จะรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของน้องชัยจึงไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๓ แห่งพระราชสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐไทยก็ได้คืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดแก่น้องชัย ในฐานะบุตรของมารดาที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ แต่จนถึงปัจจุบันกระบวนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของน้องชัยก็ยังไม่เกิดขึ้น

: สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการเข้าเมือง จะเห็นได้ว่ารัฐไทยนั้นคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคุณยายป้า และแม่ไมว่างมาโดยตลอด ในแง่สถานะบุคคลตามกฎหมายการเข้าเมือง รัฐไทยโดยกระทรวงมหาดไทยก็บังคับการตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๗ เพื่อให้สิทธิอาศัยถาวรกับคุณยาย และคุณแม่ของน้องชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ แต่ในขณะที่น้องชัยซึ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ กลับถูกกำหนดว่ามี "สถานะเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง" โดยผลของ มาตรา ๗ ทวิวรรคสามแห่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกล่าวหาน้องชัยว่ากระทำความผิดในลักษณะอาญาทั้งที่ไม่ได้มีการกระทำ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของน้องชัย และส่งผลร้ายต่อความมั่นคงในชีวิตของน้องชัยที่เสี่ยงต่อการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและถูกจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ อีกด้วย

ปัญหาการจัดการสิทธิที่น้องชัยต้องเผชิญ

: การจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน

นับตั้งแต่น้องชัยเกิด ก็อาจจะยื่นคำขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งให้ คนที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติ ได้สัญชาติไทยเป็นการพิเศษเฉพาะรายก็ได้ตาม มาตรา ๗ ทวิวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ แต่เมื่อบิดามารดาและน้องชัยไม่ทราบว่าต้องอาศัยกฎหมายใดเพื่อขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติ ประกอบกับอำเภอเวียงแก่นเองก็ไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ว่าน้องควรดำเนินการอย่างไร จึงทำให้น้องไม่ได้ร้องขอใช้สิทธิดังกล่าว

ต่อมาแม้น้องชัยได้รับการคืนสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่งพระราชสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ แต่ปัญหาในการขจัดความไร้สัญชาติของน้องชัยก็คือปัญหาเดิม คือ ไม่เกิดการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพราะเจ้าของปัญหาแม้ขวนขวายต่อการจัดการสิทธิของตนเองตั้งแต่หารือส่วนราชการอำเภอเวียนแก่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหนังสือว่าควรดำเนินการขจัดความไร้สัญชาติอย่างไร ผู้รักษาการตามกฎหมายที่มีหน้าที่ขจัดความไร้สัญชาติให้กับน้องชัย ควรให้คำแนะนำทางกฎหมายได้ แต่ก็ไม่ทราบข้อกฎหมาย และไม่ได้ทำงานเชิงรุกเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยให้น้องชัย ทำให้น้องชัยตกอยู่ในความไร้สัญชาติมาจนถึงปัจจุบัน

: การจัดการสิทธิในการเดินทางเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัว

พึงสังเกตว่าอดีตคนหนีภัยความตายที่เกิดในประเทศไทยอย่างคุณแม่ไมว่างนั้นไม่ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อไปก่อตั้งครอบครัว และสิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลอันเป็นที่ยอมรับในการเดินทางระหว่างประเทศซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศของรัฐไทยเพราะขณะนั้นคุณแม่ไมว่างมีสถานะเป็นคนต่างด้าวไร้สัญชาติที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ในขณะที่น้องชัยซึ่งมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติที่มีเพียงสิทธิอาศัยชั่วคราว กลับถูกรัฐไทยโดยกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธสิทธิที่จะอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศและกลับเข้าประเทศไทย ตลอดจนการมีเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว ดังนั้นน้องชัยจึงไม่เคยมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาและน้องๆ อีก ๘ คนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

: สิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามคุณภาพการศึกษา

การตกอยู่ในความไร้สัญชาติ ส่งผลให้น้องชัยถูกจำกัดสิทธิที่จะทำงานตามวุฒิการศึกษาที่จบมาแต่กลับต้องไปทำงานกรรมกร ๒๗ อาชีพแทน

บทสรุปและข้อเสนอแนะจากกรณีศึกษาน้องชัย

: การปฏิรูปแนวคิดและบทบัญญัติว่าด้วยการทำงานของนักศึกษาไร้สัญชาติให้สามารถทำงานได้ตามวุฒิการศึกษา

: การปฏิรูปการบังคับใช้มาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อคุ้มครองสิทธิในสัญชาติไทยของน้องชัย

: การปฏิรูปการบังคับใช้มาตรา ๗ ทวิวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๕ และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดสถานะการอยู่อาศัยของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและไม่ได้สัญชาติไทย

: การปฎิรูปบทบัญญัติมาตรา ๗ ทวิวรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๕ และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑ ด้วยการยกเลิกบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

หมายเลขบันทึก: 585497เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท