ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๔๐. การจัดการอาสาสมัคร



ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับรู้จากหลายแหล่งหลายช่องทางเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจาก อาสาสมัคร ที่มีอาสาสมัครมากเกินไป ทำให้จัดการยาก รวมทั้งอาสาสมัครมีทักษะ และความรับผิดชอบ แตกต่างกันมาก ทำให้จัดการยาก ผมจึงขอเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการอาสาสมัคร ที่ผมไปเรียนรู้ มาจากต่างประเทศ ตามที่ได้บันทึกไว้ในบันทึก ชุดนี้ ว่าสงสัยว่าสังคมไทยเราจะจัดการเรื่องอาสาสมัครผิด

คือเราคิดว่าอาสาสมัครเป็นได้เมื่อตัวผู้อาสาสมัครเข้าไปทำงานโดยไม่รับเงิน ใครสมัครเข้ามาก็ต้อง รับหมด หรือถือว่าไปทำงานนั้นได้เลย แต่ที่ผมไปเห็นในต่างประเทศไม่ใช่ เขาไม่ถือว่าการสมัครจะได้เป็น อาสาสมัครโดยอัตโนมัติ ต้องมีการคัดเลือกก่อน เพราะเป้าหมายหลักคืองาน ต้องให้งานสำเร็จลุล่วง ไม่ใช่อยู่ที่ได้ทำงานอาสาสมัคร

อาสาสมัครในมุมของเจ้าของงาน เป็นเครื่องมือให้บรรลุผลงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่จากมุมของผู้อาสา เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง คือต้องการเป็นอาสาสมัคร เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน (แต่ลึกๆ แล้วต้องการผลตอบแทน ที่ไม่ใช่เงิน) ดังนั้น เจ้าของงานต้องคัดเลือกอาสาสมัครที่เหมาะสม และต้องมีข้อตกลงกัน ว่าอาสามัครที่ได้รับการคัดเลือกต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง ถ้ารับผิดชอบตามเงื่อนไขนั้น ไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาทำงาน เพราะจะทำให้งานเสียหาย หรือยุ่งยาก มากกว่าก่อผลดี

นี่คือประเด็นที่คนในสังคมไทยไม่ตระหนัก

สังคมไทยเป็นสังคม process-based มากกว่า result-based เราเน้นความสัมพันธ์ระหว่างคน มากกว่าผลงาน เราจึงไว้หน้ากัน ว่าใครสมัครมาทำงานโดยไม่หวังค่าจ้างก็ต้องรับหมด ถือว่าเขามีใจช่วย ก็ต้องไม่ปิดกั้น

สมัยผมเป็นเด็ก อายุสัก ๑๐ ขวบ อยู่ที่บ้านนอก บิดาจะสร้างโรงสี (ข้าว) เล็กๆ หลังคามุงจาก ใช้วิธีบอกขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันก่อสร้างอาคาร และมุงหลังคา มีคนมาช่วยเป็นร้อย ใครทำอะไรได้ก็ช่วยงานนั้น บางคนก็มาช่วยทำอหารเลี้ยง เพราะเป็นประเพณีว่า ไม่มีค่าจ้างแต่เลี้ยงอาหาร ตอนนั้นผมเป็นเด็กเกินไปที่จะสังเกตว่ามีใครบ้างที่มาช่วยงานแล้วไม่มาดีกว่า เพราะเป็นตัวป่วน ทำให้เกิดความยั่งยาก งานเดินได้ไม่ดี แต่เดาว่ามีแน่ๆ

แต่สมัยนั้นงานแบบนั้นเป็นงานที่ไม่ซับซ้อน อาศัยพ่อผมคอยบอก คอยแก้ไข งานก็ลุล่วงด้วยดี คนมีมา "ช่วยกิน" มากกว่า "ช่วยงาน" ก็มีไม่มากนัก พอจะทนๆ กันไป

สมัยนี้ งานส่วนใหญ่มีความซับซ้อน ต้องการทักษะจำเพาะ และที่สำคัญ ต้องมีการทำงาน อย่างรับผิดชอบ นัดแล้วต้องมา กรณีเช่นนี้ อาสาสมัครที่สมัครเข้ามาบางคนอาจไม่มีคุณสมบัติตรง ตามความต้องการ

เพื่อไม่ให้งานเสียหาย จึงต้องมีการคัดเลือกอาสาสมัคร ต้องระบุในประกาศรับอาสาสมัครให้ชัดเจนว่า การสมัครนั้น เป็นการยอมรับเงื่อนไขอะไรบ้าง ต้องมีการคัดเลือก และหากได้รับคัดเลือก ต้องรับผิดชอบ อะไรบ้าง

ระบบอาสาสมัครที่ดี ต้องมีการจัดการ ต้องมีเงื่อนไข มีข้อตกลง ให้อาสาสมัครต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้อาสมัครทำตามอำเภอใจ

ในต่างประเทศ มีหลักสูตรปริญญาโท การจัดการอาสาสมัคร คล้ายๆ หลักสูตรการจัดการธุรกิจ แสดงว่างานอาสาสมัครก็ต้องมีการจัดการ มีศาสตร์หรือหลักวิชาว่าด้วยการจัดการอาสาสมัครที่จำเพาะ



วิจารณ์ พานิช

๒๑ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 585043เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Result is the end point where success and failure emerges. But the journey in cooperation of people is where networks and relations are created and bound. There are pros and cons for both result and process.

Obviously, we want to learn more about processes that end in successful results - that actually benefit target recipients in the long term.

(Why Wats are important in communities? Wats produce little economic results but wats are where people can express spirit of community as a member of community. I would have more trust in people who come and join the community in ordinary affair of the community -- than politicicans who come into the community at election time promising a lot of economic results. Let's us vote for leaders in our community rather than politicians in big parties. ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท