โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 9) งานศพอีกแล้ว!


วันนี้ดิฉันเข้าใจแล้วว่า เมื่อครั้งที่เข้ามากราบนมัสการพระครูสุตบูรพาสถิตเพื่อปรึกษางานวิจัยนั้น เหตุใดท่านถึงแนะนำให้เริ่มสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อน .. แหล่งรวมภูมิปัญญา หรือ ‘ขุมมหาสมบัติ’ ของชุมชนปะอาวเชียวค่ะ

"งานศพอีกแล้ว ช่วงนี้มีงานศพบ่อยจัง!"

เสียงอุทานดังออกมาจากกลุ่มคนที่ดิฉันสนทนาด้วย เพราะช่วง 24–26 ม.ค.58 เพียง 3 วันตำบลปะอาวมีงานศพมากถึง 3 งาน ที่ผ่านมาเคยมีกรณีศพแรกต้องรีบฌาปนกิจเพราะมีคิวรออยู่ เรื่องนี้หัวเราะไม่ออกหรอกค่ะ ไม่ใช่เรื่องจะมาล้อกันเล่น

ชุมชนปะอาวก็เช่นชุมชนอื่นในภาคอีสาน คนอีสานจะพักอาศัยในชุมชนเมื่อขณะเยาว์วัยเท่านั้น เมื่อโตขึ้น ศึกษาเล่าเรียนถึงระดับมัธยม จะถูกส่งไปไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดในช่วงปิดเทอม ส่วนใหญ่จะไปพักและทำงานอยู่กับญาติพี่น้อง โดยเรียกว่าไป 'หาประสบการณ์ชีวิต' หากเป็นเด็กผู้ชายก็มีแนวโน้มว่าจะออกไปหาประสบการณ์ชีวิตเร็วกว่านั้น และมีบางคนที่ไม่กลับมาเรียนต่ออีก

ที่ปะอาวก็เช่นกัน ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนจนระดับมัธยมต้น เพราะโรงเรียนบ้านปะอาวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน 3 โรงเรียนจัดการศึกษาได้เพียงระดับนี้ ไม่มีกฎห้ามเด็กๆ ไปเรียนในตัวเมืองนะคะ แต่เป็นด้วยสาเหตุหลายอย่าง ทำให้มีเด็กเรียนจบระดับปริญญาตรีน้อยมาก และเกือบทั้งหมดละทิ้งถิ่นเกิดไปทำมาหากินที่อื่น ช่วงที่ดิฉันมาทำงานวิจัยนั้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่หนึ่งของที่นี่(ไม่ใช่หมู่ที่ 1 นะคะ) ยังกำลังเรียน กศน.อยู่เลย 'ที่นี่ บ้านปะอาว วุฒิการศึกษาไม่มีผลกับความสามารถของผู้นำ' ดิฉันสรุปเองจากประสบการณ์ค่ะ ผู้นำที่มีความตระหนักเรื่องความสำคัญของการศึกษา กลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาตรีเมื่อมีครอบครัวแล้วก็หลายคน

เมื่อคนปะอาวเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ส่วนใหญ่จะไปทำงานนอกพื้นที่ มีทั้งอพยพออกไปเลย และไปเฉพาะช่วงว่างจากการทำนา ดิฉันเคยวิเคราะห์ไว้ว่า การละทิ้งถิ่นเกิดไปทำมาหากินต่างถิ่นของคนปะอาวมีข้อดีอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือ การเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวเบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ให้สามารถดำรงชีพได้โดยไม่ลำบาก แม้ครอบครัวจะยากจน ด้านเศรษฐกิจของชุมชน จึงมีรายรับส่วนหนึ่งส่งกลับมาจากแรงงานนอกชุมชน ประการที่สองคือ การสร้างเครือข่ายของชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนคนปะอาวแทรกอยู่ในชุมชนใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง บางครอบครัวสามารถสร้างฐานะจนร่ำรวย เป็นเจ้าของกิจการที่มั่นคง รับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านในชุมชนไปทำงานด้วยมากมาย

ปัจจุบันมีรถสองแถววิ่ง 'ส่งของ' ระหว่างชุมชนปะอาวกับชุมชนปะอาวทุกชุมชนในกรุงเทพฯ เดินทางสัปดาห์ละ 2 เที่ยว คนปะอาวจะหาอาหารธรรมชาติที่หายากจากป่าชุมชน เช่น เห็ด แมลง แล้วถนอมอาหารไว้ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วส่งสิ่งของที่เป็นตัวแทนความรักความห่วงใย เงิน และจดหมายไปกับรถคันดังกล่าว บางครั้งก็มีคนโดยสารไป-กลับด้วยเช่นกัน เราจึงเห็นภาพชินตาเป็นรถสองแถวที่บรรทุกข้าวสารอาหารแห้งเต็มคันรถจอดที่ลานอเนกประสงค์ข้างศาลปู่ตา มีชาวบ้านยืนพูดคุยกับเจ้าของรถจนกว่ารถจะออกเดินทางแม้จะไม่มีผู้โดยสารไปด้วยก็ตาม สะท้อนถึงความห่วงใยที่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างถิ่น

ทำนองเดียวกัน ญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นก็จะจัดส่งสิ่งของกลับมาปะอาว ดังนั้น พวกเขาจึงไม่รู้สึกห่างไกลกันเลย นอกจากเครือข่ายเครือญาติสายตรงของคนปะอาวที่อยู่ในชุมชนกับผู้ที่ไปอยู่ต่างถิ่นแล้ว คนปะอาวยังมีเครือข่ายบ้านพี่เมืองน้อง และเครือข่ายวัด-ญาติธรรมอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีคุณค่ามาก ดิฉันจะยกไปเล่าเรื่องเครือข่ายเหล่านี้โดยเฉพาะนะคะ ชาวปะอาวใช้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านี้อย่างสูงสุดจนคาดไม่ถึงเชียวค่ะ ทำให้ผู้คนมีความผูกพันเหนียวแน่นต่อกัน .. ดิฉันเพิ่งรู้ตัวเดี๋ยวนี้ว่า จิตใจของดิฉันก็เข้าไปเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในใยแมงมุมนี้เข้าแล้วค่ะ

คนปะอาวส่วนใหญ่ออกไปทำมาหากินต่างถิ่นตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน ส่วนหนึ่งจะกลับมาชุมชนเมื่อเข้าสู่วัยชรา โดยทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดจะกลับมา 'ตายที่บ้าน' จึงมีปรากฏการณ์การจัดงานศพแบบต่อเนื่องเป็นระยะ คนปะอาวมีความตระหนักเรื่องที่ชุมชนต้องการผู้นำวัยฉกรรจ์ คนจำนวนหนึ่งจึงกลับมาบ้านในช่วงใกล้เลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งของส่วนกลางและการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมการเลือกตั้งซึ่งรวมถึงการเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งของตนหรือญาติพี่น้องในตระกูลของตนเองด้วย โดยทั่วไปผู้ที่ 'สอบตก' ก็จะกลับไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้ผู้ที่ 'สอบผ่าน' ทำหน้าที่ปกครองชุมชนไปตามวาระ เรียกว่าสมบัติผลัดกันชม ประมาณนั้น

เนื่องจากชุมชนบ้านปะอาว ประกอบด้วยตระกูลใหญ่ๆ ไม่กี่ตระกูล ภาพที่เราเห็นจึงเป็นเครือข่ายผู้นำที่ผลัดกันขึ้นมานำเป็นสายตระกูล ปรากฏการณ์ทางด้านการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชนคนปะอาวก็คือ การต่อสู้อย่างเข้มข้นก่อนการเลือกตั้งแล้วจบลงอย่างสงบ สงบจริงๆ จนคนนอกอย่างดิฉันต้องแปลกใจ เพราะไม่มีทั้งความรุนแรง ไม่มีการฟ้องร้องถึงโรงถึงศาล ทุกกรณีสามารถไกล่เกลี่ยได้หมด ดิฉันมีความลับจะบอกค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนปะอาว 'เป็นพี่น้องกันหมด' พี่น้องที่นี่ไม่ฆ่ากัน แต่มีไว้ดูแลช่วยเหลือกันเท่านั้น เหล่านักการเมืองจึงมักฉวยโอกาสเข้ามา 'ผูกเสี่ยว' เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ขอยกเรื่องการเมืองในชุมชนไปเล่าในโอกาสอื่นนะคะ

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันยอมรับและให้ความเคารพอย่างมาก คือ อดีตผู้นำชุมชนบ้านปะอาวทุกท่าน ดิฉันไม่อาจสัมผัสบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วได้โดยตรง มีเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงคุณงามความดีที่ท่านเหล่านั้นเป็นนักพัฒนาเท่านั้น แต่ บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันล้วนมีประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และ 'กำลัง' ถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้ภาคภูมิใจผ่านกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน วันนี้ดิฉันเข้าใจแล้วว่า เมื่อครั้งที่เข้ามากราบนมัสการพระครูสุตบูรพาสถิตเพื่อปรึกษางานวิจัยนั้น เหตุใดท่านถึงแนะนำให้เริ่มสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มผู้สูงอายุก่อน .. แหล่งรวมภูมิปัญญา หรือ 'ขุมมหาสมบัติ' ของชุมชนปะอาวเชียวค่ะ

หมายเหตุ : เนื่องจากเนื้อหาตอนที่ 9 นี้ยาวมาก การตัดแบ่ง 2 ตอนจะไม่ต่อเนื่อง ดิฉันขอเผยแพร่บทความนี้ 2 วันเผื่อท่านที่ไม่สะดวกอ่านให้จบในคราวเดียวค่ะ ( 2–3 ก.พ.58)

หมายเลขบันทึก: 584938เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 07:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจของสุขภาวะทางจิตวิญญาณครับผม ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท