​หลักประกันการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข


หลักประกันการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข

ปัญหาความขัดแย้ง

หากได้ติดตามข่าวสารที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ และในเว็บไซต์ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม จะพบกระแสการรณรงค์เรื่องหนึ่งที่เรียกร้องต่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่อการเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญต่อประชาชนทั่วไปที่ได้รับหรืออาจจะได้รับผลกระทบต่อไปในอนาคตต้องให้ความสนใจ

ประเด็นเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วว่าปรากฏมีผู้เสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการรักษาของผู้ให้บริการสาธารณสุขที่เรียกว่าหมอและหรือพยาบาล

โดยปกติผู้เสียหายเองก็ไม่ค่อยเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับบริการผิดพลาด และไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือในกรณีที่ไปฟ้องร้องต่อศาล การพิสูจน์ความถูกผิดนั้นเป็นไปได้ยาก

ผู้เสียหายเองโดยแท้จริงแล้วก็น่าจะมิได้มีความประสงค์ที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ให้บริการสาธารณสุขแต่ประการใด หากแต่เพียงต้องการเรียกร้องให้สังคมได้เห็นถึงความผิดพลาดของผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งแม้ระมัดระวังแล้วก็เกิดขึ้นได้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายโดยไม่สมควร จึงสมควรที่จะได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที

และนอกจากผู้รับบริการจะฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ให้บริการสาธารณสุขแล้ว ผู้เสียหายยังอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกลับจากผู้ให้บริการสาธารณสุขเสียเองได้ โดยนอกจากจะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกันและผู้รับบริการสาธารณสุขอาจแพ้คดีแล้ว ยังทำให้หมอและหรือพยาบาลผู้ให้บริการสาธารณสุขเสียขวัญและกำลังใจในการที่จะให้บริการแก่ผู้ป่วยต่อ ๆ ไปอีกด้วย ซึ่งไม่เกิดผลดีในด้านความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมระหว่างผู้ป่วยกับหมอ

และแม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเกิดความผิดพลาดและความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในสื่อต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้วถือได้ว่าเป็นเวทีสาธารณะที่สะท้อนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มความรุนแรงของปัญหาและอาจทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันทวีเพิ่มมากขึ้น

กฎหมายที่มีอยู่

แม้จะมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จะได้กำหนดให้มี "เงินช่วยเหลือเบื้องต้น" ให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดไม่ได้หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ผลของกฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดการช่วยเหลือและเยียวยาความทุกข์เบื้องต้นแก่ผู้ป่วย ทำให้สามารถลดการฟ้องร้องคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้จำนวนหนึ่งก็ตาม แต่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายมากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร และยังมีการฟ้องร้องเพื่อขอ "ค่าชดเชยความเสียหาย" และมาตรา ๔๑ มีข้อจำกัดคือใช้เฉพาะกลุ่มสำหรับผู้ใช้สิทธิจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น ไม่รวมระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และบริการของโรงพยาบาลเอกชน

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลแต่จำกัดเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ และต้องเป็นกรณีที่มีผู้กระทำผิดเท่านั้น ขณะที่ความเสียหายจากการรักษาพยาบาลจำนวนหนึ่งไม่สามารถหาผู้กระทำผิดหรือป้องกันได้ และขั้นตอนการดำเนินการยังใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน รวมทั้งผู้รับบริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากโรงพยาบาลเอกชนหากต้องการการเยียวยาความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประการหนึ่ง ได้แก่ สิทธิที่จะได้การพิจารณาและชดเชยความเสียหาย หรือพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ก็ตาม ก็จะต้องใช้ช่องทางเพียงการฟ้องร้องคดีเรียกค่าชดเชยความเสียหายต่อศาล ซึ่งจะไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงทีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ประการใด

ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกคนเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่เป็นธรรมในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการทางสาธารณสุขซึ่งจะช่วยชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องพิสูจน์ความถูกผิดของฝ่ายใด จะส่งผลลดคดีความในการฟ้องร้องและความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยในระยะยาวและยกระดับมาตรฐานรักษาพยาบาล รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายอันเนื่องมาจากการรับบริการ และเสนอความเห็นเรื่องดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาไปแล้ว

และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป โปรดคอยติดตาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.lrct.go.th/th/?wpfb_dl=693


หมายเลขบันทึก: 584935เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 06:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2015 06:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท