หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนที่ ๒)


หลวงตาแชร์ : ชื่อนี้มาจากไหน

ผมอดสงสัยมานานแล้วตั้งแต่รู้จักหลวงตาใหม่ ๆ ว่าชื่อ "หลวงตาแชร์" มาจากไหน ซึ่งผมก็เคยได้รับคำตอบมาครั้งหนึ่งจากปากหลวงตาเอง แต่วันนั้นมีเอกสารที่ได้รับจากหลวงตาชิ้นหนึ่ง เป็นเอกสารที่ถ่ายเอกสารมา หัวมุมเขียนว่า คอลัมน์ "หนึ่งในร้อย" ได้บอกเล่าที่มาของชื่อไว้อย่างชัดเจน

คนเขียนเขาบอกไว้ว่า ครั้งแรกที่ได้ยินใครต่อใครเรียกหลวงตาแชร์ ก็ให้นึกไปได้หลายทางว่าพระอะไรชื่อแปลกดี หรือจะเป็นพระฝรั่ง แต่พอเห็นหน้าก็พระไทยดี ๆ นี่เอง แถมยังมีบุคลิกเด่นที่ดวงตามุ่งมั่น บ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจังอย่างถึงที่สุด

"ช่วงแรก ๆ ที่หลวงตาบวช ก็ไม่ค่อยอยู่วัดธุดงค์ไปเรื่อย ๆ โยมแม่ก็ว่า หลวงตาชอบแชไปโน่นนี่ ก็เรียกกันเป็นหลวงตาแช พเนจร ต่อมาก็เห็นว่าที่เราไปไหนต่อไหน ก็เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมุมมองแนวคิดใหม่ ๆ หลวงตาก็เลยเติม "ร์" กลายเป็นหลวงตาแชร์ในวันนี้"

นี่คือที่มาของชื่อ "หลวงตาแชร์" หรือ "พระครูอมรชัยอมรคุณ" พระที่ได้รับการยอมรับสูงในวงการพัฒนาเอกชน ดังจะเห็นได้จากการได้รับนิมนต์ไปร่วมงานประชุมสัมมนา และร่วมเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษาในกลุ่มองค์กร เครือข่ายต่าง ๆ มากมาย ผ่านการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

อ่านแล้วนึกขำ แค่ "ร์" ตัวเดียว เปลี่ยนอะไรไปได้ตั้งเยอะเลย

กำเนิด "อาศรมธรรมทายาท"

"อาศรมธรรมทายาท" เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๒๖ โดยได้รับบริจาคที่ดินจาก "พันโทเพิ่มและคุณนายมาลัย ทับเพชร" เดิมบริเวณแถวนั้นเป็นไร่มันสำปะหลัง มีเนื้อที่ ๖ ไร่ สภาพทั่วไปเป็นผืนดินแห้งแล้ง ดินร่วนปนทราย ปลูกพืชหรือต้นไม้ไม่ได้ผล บริเวณโดยรอบเป็นเชิงเขาลาดเอียงลงสู่อ่างน้ำซับประดู่

เมื่อเริ่มก่อตั้งมีพระภิกษุจำวัด ๒ – ๓ รูป สภาพโดยทั่วไปยังรกร้างและไม่มีอาคารสถานที่สะดวกสบาย หลวงตาจึงชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันลงมือปลูกต้นไม้ ช่วยกันหิ้วน้ำจากอ่างเก็บน้ำมารดน้ำต้นไม้ด้วยความยากลำบาก กว่าจะเติบโตเป็นต้นไม้สูงยืนต้นเป็นรมเงาให้ความชุ่มชื่นร่วมรื่นอย่างเช่นทุกวันนี้

หลวงตาแชร์เป็นพระสงฆ์นักพัฒนา จึงได้รับกิจนิมนต์เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาชุมชน จึงได้รับการสนับสนุนงบประมารจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรในการพัฒนาวัด กลายเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมและอบรมคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็กนักเรียน เยาวชน ข้าราชการ และชาวบ้านเป็นธรรมทายาท ทำให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่และพัฒนางานคุณธรรม ธรรมทายาท ชาวบ้านในตำบลและใกล้เคียงเดินทางมาเข้าวัดประกอบกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา และปฏิบัติธรรมมากขึ้น

ได้มีการขยายพื้นที่ของวัดในปี ๒๕๕๓ มีการสร้างอาคารสถานที่ให้เหมาะสมกับการจัดศาสนพิธี และพัฒนาเป็น"ศูนย์เรียนรู้" และได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปี ๒๕๕๑ ดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง โดยการนำศาสนธรรม การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาวิถีชีวิตและชุมชนแบบยั่งยืน

หลวงตาใช้ชีวิตนักบวชระเหเร่ร่อน ไปที่โน่นที่นั่นได้ ๑๐ ปี จนโยมแม่เห็นว่า ท่านน่าจะมีที่ส่วนตัวบ้างในการทำงานตามที่ต้องการ ก็เลยยกที่ไร่มันเก่าให้หลวงตาจำนวนประมาณ ๖ ไร่ เพื่อให้เป็นขนาดใหญ่พอที่จะสร้างวัดได้ เมื่อปี ๒๕๒๒

ช่วงที่บวชก็ธุดงค์ไปเรื่อย เข้าถ้ำก็แสวงหาที่ปฏิบัติธรรมไปด้วย ก็ไปทั้งสวนโมกข์และวัดชลประทานฯ ก็ไปอบรมพระธรรมทายาท เมื่อปี ๒๕๒๕ เป็นรุ่นที่ ๒ พออบรมเสร็จก็เห็นว่า ชื่อ "ธรรมทายาท" น่าจะเป็นมงคลสำหรับเรา ก็เลยนำมาตั้งสำนัก "อาศรมธรรมทายาท" ขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการเป็นพระธรรมทายาทที่วัดชลประทาน

ก็เลยเอาแนวทางของ "หลวงพ่อพุทธทาส" และ "หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ" มาใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น อบรมกลุ่มผู้สูงอายุไปทำโรงเรียนพุทธบุตรที่เรือนจำอำเภอสีคิ้ว

"หลวงตาอยู่เบื้องหลังโครงการพระธรรมทายาทของวัดชลประทานฯ มาตลอด และได้เป็นเลขาโครงการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา จนยุติโครงการเมื่อปี ๒๕๔๓ หลวงตาก็ขอลาออก เพื่อมาทำงานในพื้นที่ หลวงตาจากพื้นที่นี้ไปตั้งร่วม ๒๐ ปี พอกลับมาก็เริ่มต้นใหม่ ต่อมาได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมื่อปี ๒๕๔๕ ดูแล ๑๑ วัด ในเขตตำบลสีคิ้ว ก็เริ่มงานพัฒนาในพื้นที่

ที่อาศรมของเรา เดิมเป็นไร่มัน เราก็อยากพัฒนาให้ไร่มันเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อมหาชน เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็ปลูกป่าซ่อมเสริมและอนุรักษ์ต้นไม้เดิมเอาไว้ และรวมกลุ่มชาวบ้านขึ้นม

นโยบายของหลวงตาก็มีความคิดที่อยากจะสร้างป่าด้วยน้ำมือของเราเอง ไม่ใช่ไปอยู่ในเขตภูเขาแล้วก็ยึดเอาภูเขานั้นว่าเป็นป่าของฉัน หลวงตาเคยไปธุดงค์กับกลุ่มพระป่า ก็เคยถามท่านว่า ที่วัดอยู่ตรงไหน เขาก็ชี้นิ้วกราดไปหมดเลยว่าทั้งหมดนี้คือที่ของวัด ถามว่าท่านปลูกต้นไม้สักกี่ต้น ท่านก็ไม่ได้ปลูก การตีขลุมอย่างนี้ หลวงตาว่ามันผิด เขาจะอนุรักษ์ป่าไว้ก็เรื่องของเขา

แต่มันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเราว่า ทำไมเราไม่สร้างป่าด้วยตัวเราเอง มันเป็นความภูมิใจมากกว่า อย่างที่นี้กว่า ๑๓ ปี ถึงจะได้ต้นไม้ใหญ่พอที่จะทำลานหินโค้งแบบสวนโมกข์ได้ เราต้องลงทุนดึงน้ำจากข้างล่างขึ้นมาเลี้ยงต้นไม้

หลักคิดของเราก็คือ อยากจะทำให้มรดกของพ่อชิ้นนี้เกิดประโยชน์ เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศาสนพิธีบางอย่างเราก็ตัดออก เพื่อให้ได้เห็นแก่นแท้ของชีวิต เข้ามาที่นี่ ต้องฝึกความอดทน และสร้างพลังภายในไว้ การทำความดีนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่เสมอไป วัดเราจะต้องเป็นวัดที่ปลอดอบายมุขแต่ไม่ถึงกับห้ามคนกินเหล้าสูบบุหรี่เข้ามาในวัด"

คำสัมภาษณ์นี้ปรากฏอยู่บนนิตยสารเมื่อหลายปีก่อน บ่งบอกให้เห็นฐานคิดของหลวงตาแชร์ในการพัฒนา"อาศรมธรรมทายาท" ให้พัฒนาไปในทิศทางใดได้เป็นอย่างดี

รู้จักเครือข่ายพระสังฆะพัฒนาโคราช

ในอดีตที่ผ่านมา วัดและพระสงฆ์มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก วัดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการประกาศศาสนาจนเป็นที่ยอมรับและศรัทธา และเป็นที่เคารพของคนในชุมชน

เมื่อความเจริญในรูปแบบต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน บทบาทของวัดและพระสงฆ์เริ่มลดลง ทำให้วัดและพระสงฆ์มีการมุ่งเน้นการพัฒนาแต่ "ทางโลก" ทำให้ละเลยมิติ "ทางธรรม" เป็นเหตุให้สถาบันศาสนาคงเหลือแต่บทบาทในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น

ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็เหมือนกันที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ทางพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา จึงมีการรวมตัวกันเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน ในชื่อที่ว่า "เครือข่ายพระสังฆะพัฒนาโคราช" ที่มีวิธีคิด และ วิธีการทำงาน ที่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่าพระสงฆ์ทำอะไรได้บ้างต่อการพัฒนาชุมชน

การก่อเกิดของเครือข่ายพระสังฆะพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งโดยพระสงฆ์นักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์และเคยร่วมทำงานพัฒนามาด้วยกัน อีกทั้งมีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยการนำของ "หลวงตาแชร์" ในขณะที่ยังเป็น "พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ"

หลังจากมีการรวมกลุ่มกันได้ในครั้งแรก ๑๐ วัด ก็ได้ทำงานหลายโครงการเพื่อชุมชน เริ่มต้นได้เริ่มทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน งานอบรมคุณธรรมจริยธรรม งานฝึกอาชีพด้านการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ในชุมชน จนทำเกิดความเชื่อมั่นของพระสงฆ์ในพื้นที่และคนในชุมชน

แนวคิด "พัฒนาคนก่อนพัฒนางาน" คือแนวคิดต้นแบบของการทำงานเครือข่ายพระสังฆะพัฒนา โดยพยายามให้พระสงฆ์ในเครือข่ายได้ทำงานด้วยความสุข และมีสัมมาสมาธิให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความสามัคคีกันในหมู่ของพระสงฆ์เพื่อผลักดันงานให้ไปสู่ความสำเร็จ ซี่งพระสงฆ์นั้นมีความเชื่อความศรัทธาเป็นทุน มีบุญเป็นกำไร มีปัญหาเป็นตัวแก้ไข และมีเงินเป็นผลพลอยได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อความยั่งยืนและความเข้มแข็งในชุมชน

เมื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงานพัฒนาที่เครือข่ายพระสังฆะพัฒนาได้ใช้ทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน จนกระทั่งลงมือปฎิบัติงานในพื้นที่ และรวมไปถึงการประเมินผลการทำงานในแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง โดยทางเครือข่ายฯ ได้สร้างเครื่องมือสำหรับการมองชุมชนและร่วมทำงานโดยใช้ "บันได 7 ขั้นเพื่อการพัฒนา" ดังนี้

ขั้นที่ ๑ ค้นหาทุนทางสังคม เรียนรู้ศึกษางานชุมชน
ขั้นที่ ๒ ถอดองค์ความรู้และถอดบทเรียนที่ได้ศึกษามา
ขั้นที่ ๓ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปลุกจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนตนเอง
ขั้นที่ ๔ พยายามพัฒนาปรับปรุงและสร้างความภูมิใจในชุมชนโดยการเสริมแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพื่อเกิดพลัง และความสุขในการมองชุมชน
ขั้นที่ ๕ พยายามหาทางออกและแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นว่าการทำงานได้ผลในระดับหนึ่งควรเป็นแบบอย่างต่อการเรียนรู้ในชุมชนอื่นๆ
ขั้นที่ ๖ ขยายผลสู่ชุมชนอื่น เพื่อเป็นแบบอย่าง
ขั้นที่ ๗ นำสู่ความรู้เหล่านั้น ไปสู่เวทีสาธารณะ และ สร้างวิทยากรในชุมชน

ถึงแม้สภาพปัญหาในชุมชนมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกันหลายๆ ฝ่ายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยามความเชื่อ การที่จะแก้ปัญหานั้นคงเกิดขึ้นไมได้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้ามองถึงการเชื่องโยงทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน นำมาประยุกต์และพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหานั้น พระสงฆ์เองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้น แต่การทำงานของพระสงฆ์ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ถือได้ว่าส่งผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ในการเป็นจุดเริ่มต้นและกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมหรืองานในชุมชน ซึ่งหากถอดบทเรียนจากความสำเร็จในอดีต จะพบว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ "ความเชื่อ ความศรัทธา" ที่ประชาชนมีต่อพระ และ "จิตสาธารณะ" ที่สมาชิกในชุมชน มีร่วมกัน ทั้งนี้ "เครือข่าย" ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและนำไปใช้ในการเชื่อมโยงจากเครือข่ายพระสงฆ์สู่ชาวบ้านในชุมชนด้วยเช่นกัน.

หมายเลขบันทึก: 583740เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2015 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2015 09:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท