เรียนรู้ศักยภาพของสมอง กับการเรียนรู้ของเด็ก


คุณครูไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องมีความรู้มากมายเกี่ยวกับการทำงานของสมอง แต่คุณครูเป็นผู้นำการจัดกระบวนการเรียนรู้มีหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพในชั้นเรียน

สวัสดีปีเก่า เตรียมต้อนรับปีใหม่นะค่ะ

วันนี้เลยขอโอกาสที่ได้หยุดพักกับช่วงชีวิตที่ผ่านมาเขียนบันทึกเล็กๆน้อยๆ ก่อนเริ่มต้นปีใหม่ และยังคงเป็นบันทึกต่อเนื่องจากการเรียนรู้ใหม่ที่ได้เพิ่มเติมต่อยอดจากความรู้เดิมเกี่ยวกับการสอนหรือทำอย่างไรจึงจะเป็นครูที่ดี ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีและวิวัฒนาการก้าวหน้า การทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะการวิจัยทางสมอง หากแต่การวิจัยทางสมองนั้น เป็นการวิจัยที่มีหลากหลายมิติ ทั้งในด้านของการทำงานของสมอง องค์ประกอบของสมอง หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสมองอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์มากมายได้ทำการเผยแพร่ความลับของสมองในหลากหลายมิติ ซึ่งปัจจุบันนี้ความลับของสมองถูกนำมาใช้เพื่อการทำงาน การเรียน และการพัฒนาศักยภาพในแต่ละช่วงวัย กระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู อาจารย์ ในทุกระดับชั้น ทุกสายวิชาชีพก็มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ความลับของสมองนี้ด้วยเช่นกัน โดย David A. Sousa จากหนังสือHow the Brain Learns กล่าวว่า แม้ครูไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ที่รู้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับสมอง แต่คุณครู หรือผู้นำการจัดกระบวนการเรียนรู้มีหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมองเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพ เพราะครูคือผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน นอกจากนั้น คุณครูหรือผู้นำการจัดกระบวนการเรียนยังเป็นผู้พัฒนาศักยภาพองสมองของเด็กหรือผู้เรียนในทุกๆ วัน โดยหนังสือเล่มนี้อ่านง่าย โดย 2 บทแรก อธิบายความรู้เกี่ยวกับสมองเบื้องต้นให้เข้าใจได้ง่าย และนำเสนอแนวคิด information process model ที่กล่าวถึงการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นอย่างไร สมองเหมือนหรือแตกต่างจากคอมพิวเตอร์อย่างไร ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การรับรส และการสัมผัส กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้เพราะอะไร กระบวนการสำคัญที่ทำให้เด็กจำได้ ผ่านการลงรหัสเป็นความจำระยะยาวนั้นมีกระบวนการอย่างไร หากคุณครู อาจารย์ หรือผู้นำการจัดกระบวนการเรียนในระดับต่างๆ ได้มีโอกาสอ่านเพิ่มเติมในประเด็นของสมองกับการเรียนรู้จะทำให้เข้าใจการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กหรือผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งจากกระบวนการดังกล่าวทำให้คิดว่า การสอนด้วยการบรรยายเพียงอย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอ และการซักถามระหว่างการเรียนที่คิดว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ อาจทำให้เกิดความกลัว และกลายเป็นสิ่งที่ขัดขวางการเรียนรู้ก็เป็นได้

หน้าที่ครูหรือผู้นำการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ หากเมื่อเป็นครู อาจารย์แล้วมุ่งเน้นเพียงการทำวิจัยเพื่อให้ได้ผลงาน โดยเพิกเฉยบทบาทที่แท้จริงว่าตนเองเป็นใคร มีหน้าที่พัฒนาคน พัฒนาชาติอย่างไร ก็อาจทำให้การวิจัยนั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบของการเป็นครู อาจารย์ที่ดีด้วย แต่หากใครสามารถเป็นครู อาจารย์ที่ดีกว่านั้น คือการเป็นผู้นำการจัดกระบวนการเรียนรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งทำผลงานวิจัยได้ควบคู่กันไป ย่อมมีแต่ผู้คนชื่นชมยกย่อง เป็นที่รักของลูกศิษย์ หรือผู้เรียนรู้

แม้ไม่ใช่วันครู แต่ก็คิดว่าการศึกษาไทย และบทบาทหน้าที่ครูมีความสำคัญทุกวัน หากมีโอกาสจะมาเขียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อมูลต่างๆ นะค่ะ

แนะนำ link เบื้องต้น ทำความรู้จักกับสมองเพื่อการเรียนรู้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=cgLYkV689s4

The Learning Brain

หมายเลขบันทึก: 583153เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2014 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2014 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท