หลวงโยนะการพิจิตร.. พ่อค้าไม้ชาวพม่าผู้อุปถัมภ์พระเจดีย์ สร้างพระและอุปถัมภ์วัด(ตามรอย 5 วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร)


ในตอนที่ 4 เป็นประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าในด้านการสร้างหรือบูรณะวัดและองค์ประกอบของวัดของหลวงโยนะการพิจิตร หรือพญาตะก่าหรือหม่องปันโย ในตอนที่ 5 นี้เป็นการตามรอยต่อจากตอนที่ 4 เป็นเรื่องราวการทำนุบำรุงวัดพระสิงห์

คำบอกเล่าที่มาจาก พระครูวรกิจวิวัฒน์ อดีตเจ้าคณะเขตคลองเตย-วัฒนา อดีตรองเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง อดีตเจ้าอาวาสวัดภาษี ที่ได้เล่าให้แก่ผู้เขียน(นางศรีสุดา) ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมากในเรื่องศรัทธาของหลวง โยฯ ต่อการทำนุบำรุงวัดต่าง ๆ ท่านพระครูนี้เป็นเหลนคนหนึ่งของหลวงโยนะการพิจิตรสายนายองขิ่นบุตรชายจากภรรยาคนแรก

ท่านเล่าว่าหลวงโยฯสร้างและบูรณะวัดมากมายหลายแห่ง ท่านเดินทางมาจากอำเภอแม่แจ่มเชียงใหม่ตอนที่ยังเป็นสามเณรและมาจำพรรษาที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านจำได้ว่าที่วิหารลายคำของ วัดพระสิงห์ เคยเห็นชื่อหลวงโยฯที่ผนังด้านหน้าของวิหารลายคำ จารึกว่า โยนะการพิจิตรผู้สร้าง แต่ปัจจุบันนี้คำจารึกนั้นไม่มีแล้ว คงถูกลบทิ้งไปเมื่อมีการบูรณะวิหารภายหลัง

หลวงโย ฯคงจะสร้างส่วนประกอบของวัดอีกหลายอย่างรวมทั้งเจดีย์แบบพม่า หอไตร มีรูปอยู่ในหนังสือเรื่องวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548 หน้า 96 เป็นรูปเก่าแก่แสดงเจดีย์พม่าตั้งอยู่ด้านหน้าหอไตรซึ่งเจดีย์ทั้งองค์ถูกทุบทิ้งไป แต่ยังมีรูปวัดพระสิงห์เดิมที่เก่ากว่าที่แสดงว่ามีแต่พระเจดีย์ ไม่มีหอไตร แสดงว่าหอไตรสร้างขึ้นภายหลังเจดีย์ และในที่สุดพระเจดีย์ก็หายไปเหลือเพียงหอไตรซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมอันเนื่องมาจากการบูรณะภายหลัง

อนึ่งในหนังสือที่อ้างถึงเล่มนี้จัดทำขึ้นภายหลังคือเมื่อปี พ.ศ. 2548 ในส่วนที่กล่าวถึงประวัติของวัด ถ้าจะกล่าวถึงหลวงโยนะการพิจิตร ซึ่งเป็นผู้สร้าง/ร่วมสร้าง บูรณะ ไว้ด้วย ก็จะทำให้ประวัติมีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวความเป็นมาของเชียงใหม่และล้านนาในอดีต

พระวิหารลายคำเป็นวิหารขนาดเล็ก ศิลปะล้านนา ตามตำนานมูลสาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่าพระญาผายู กษัตริย์ราชวงศ์เม็งรายองค์ที่ 5 เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 1887 ในขณะนั้นมีชื่อว่าวัดลีชียงพระ โดยถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระญาคำฟู พระราชบิดา ประมาณปี พ.ศ. 1953 สมัยพระญาแสนเมืองมาครองเมืองเชียงใหม่ท้าวมหาพรหมได้นำพระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชรมาถวาย พระญาแสนเมืองมาได้นำมาประดิษฐานในพระวิหารของวัดลีเชียงพระ แต่นั้นมาวัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดพระสิงห์ หรือวัดสิงห์ราม

ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานในวิหารลายคำเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และทุกสงกรานต์จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระตามประเพณีโบราณ


วิหารลายคำวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่(ภาพจาก google)

โขงประตูหน้าวิหารลายคำ(ภาพจาก google)


ในสมัยที่เชียงใหม่และล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นแก่พม่าระหว่าง พ.ศ. 2101-2317 สันนิษฐานว่าวัดพระสิงห์มีสภาพเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับวัดสำคัญอีกหลายวัด และได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในยุคของพระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 1 ซึ่งครองนครช่วง ปี พ.ศ. 2324-2358

ในหนังสือเรื่องพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548 ได้เขียนถึงการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดพระสิงห์ ฯ ว่ามีหลายครั้งการบูรณะซ่อมแซมวิหารลายคำก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้ากาวิละและเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.๒๓๙๗ – ๒๔๑๔) เมื่อปี พ.ศ.2406 ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2429 เจ้าหลวงอินทวิทยานนท์ได้โปรดให้ซ่อมและทำบุญฉลองวิหารนี้ พระวิหารลายคำและส่วนอื่น ๆขาดการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2461เมื่อวัดพระสิงห์กลายเป็นวัดร้างอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับวัดสำคัญอื่น ๆในเมืองเชียงใหม่เช่นวัดเจดีย์หลวง วัดสวนดอก และวัดเจ็ดยอด วิหารลายคำ ได้รับการซ่อมอีกครั้งในปีพ.ศ. 2497 และ กรมศิลปากรได้ซ่อมวิหารและจิตรกรรมฝาผนังในโอกาสสมโภชเชียงใหม่ 700 ปีเมื่อ พ.ศ. 2539

การบูรณะวัดพระสิงห์อีกครั้งที่หลวงโย ฯ มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ พ.ศ. 2467 โดยเจ้าแก้วนวรัฐ และครูบาศรีวิชัยเป็นประธาน ซึ่งมีสานุศิษย์และศรัทธาประชาชนมาร่วมจำนวนมาก หลวงโยนะการพิจิตรก็ได้เป็นศรัทธาหลักคนหนึ่งในการบูรณะวิหารครั้งนี้ ภาพถ่ายข้างล่างเป็นหลักฐานสำคัญของการบูรณะครั้งนี้

ครูบาศรีวิชัย รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ขณะนั้น เป็นประธานการบูรณะวัดพระสิงห์เมื่อปี พ.ศ. 2467 ถ่ายภาพร่วมกันหน้าวิหารหลวงวัดพระสิงห์กับ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ในชุดขาวบนพระแท่นข้างล่างด้านซ้ายมือ หลวงโยนะการพิจิตรนั่งกับเพื้นเบื้องหน่้าครูบาศรีวิชัยและเจ้าหลวง ในเครื่องแต่งกายแบบพม่าเสื้อสีน้ำตาลแก่ สามเณรที่ยืนข้างครูบา ฯ และชายที่ถือร่มเจ้าแก้วนวรัฐคือครูบาดวงดี วัดท่าจำปีซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียงมากองค์หนึ่งของล้านนา(เพิ่งมรณภาพไม่นาน) เจ้านายฝ่ายเหนือและบริวารนั่งแถวหลังเจ้าแก้วนวรัฐ แถวหน้าด้านขวามือชาย 4 คนที่แต่งกายแบบพม่าเสื้อสีขาวเป็นบุตรชายของหลวงโยนะการพิจิตร ด้านหลังครูบาศรีวิชัยเป็น พระและเณร และมีสานุศิษย์และศรัทธาวัดจำนวนมากนั่งอยู่ด้านซ้ายและขวา ตำแหน่งที่นั่งแสดงความสำคัญของบุคคลที่มีบทบาทในการบูรณะวัดครั้งนี้ อนึ่ง วิหารหลังนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว

ในหนังสือที่อ้างถึงก่อนหน้า กล่าวถึงประวัติวัดพระสิงห์ว่าได้มีการบูรณะครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2467 เช่นเดียวกัน**** โดยมีเจ้าแก้วนวรัตน์ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี นิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานการบูรณะและสร้างวิหารหลวง โดยที่พระราชชายาได้ขอให้กรมพระนริศรานุวัติวงศ์ปรับแบบให้มีลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมล้านนา การสร้างครั้งนี้มีเงินบริจาคจากศรัทธาประชาชนจำนวนมาก แต่ไม่ได้กล่าวถึงว่าหลวงโย ฯได้มีส่วนร่วมหรือไ่ม่เพียงใด****

ข้อมูล/สัมภาษณ์และภาพ คุณศรีสุดา ธรรมพงษา หลานของหลวงโยนะการพิจิตร

เรียบเรียง ผศ.ดร.กัลยา ธรรมพงษา

เอกสารอ้างอิง พระครูวิทิตศาสนาทร และพระครูใบฎีกาหล้า อมรเมโธ. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ หนังสือจัดพิมพ์ เป็นที่ระลึกเนื่องในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัน เสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548. เชียงใหม่ ด่านวัฒนาการพิมพ์. 2548

หมายเลขบันทึก: 582669เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2014 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วัดอยู่ใกล้โรงแรมศรีล้านนาใช่มั๊ยคะ

น่าเสียดายที่ไม่ได้เข้าชม วิหารลายคำที่เห็นจากภาพนี่งามมากนะคะ ถ้ามีโอกาสมาเชียงใหม่จะไม่พลาดอีก

ขอบคุณบันทึกค่ะ

ถ้ามีโอกาสไปเชียงใหม่

จะแวะไปวัดนี้ครับอาจารย์

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท