ทัศนะบางประการต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น


ทัศนะบางประการต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ทัศนะบางประการต่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ***

(๑) วันนี้ส่วนท้องถิ่นพร้อมแล้วหรือยังที่จะรองรับการกระจายอำนาจ

# หากดูเงื่อนไขความจำเป็นด้านการพัฒนาที่ต้องเริ่มมาจากรากหญ้า และศักยภาพของทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีของท้องถิ่นแล้วถือว่า ท้องถิ่นมีความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจแล้ว

หากมองความสมบูรณ์ของเงื่อนไขอื่น อาจมีการปรับพื้นฐานเงื่อนไขอื่นเพื่อการกระจายอำนาจที่สมดุลเหมาะสมบ้างตามแนวทางการปฏิรูปที่กำลังดำเนินการอยู่ เฉพาะมิติด้านความเหลื่อมล้ำ และ การทุจริตคอร์รัปชั่น

มีสมมติฐานในเรื่องนี้อยู่ ๒ ประการคือ (๑) ต้องยอมรับการกระจายอำนาจว่า เป็นวิถีทางหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย และ (๒)ต้องยอมรับการจัดการตนเองของท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจ

(๒) ปัญหาที่การกระจายอำนาจไปยังส่วนท้องถิ่นคืออะไร

# ปัญหาการกระจายอำนาจที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการกระจายอำนาจ กลับมีการรวมศูนย์อำนาจโดยราชการส่วนกลางให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเติบโตขยายขอบข่ายหน่วยงาน และภารกิจหน้าที่ ของหน่วยราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคที่สวนทางกลับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อาทิ การตั้งส่วนราชการส่วนกลางในลักษณะ "ภูมิภาคแอบแฝง" ของส่วนกลาง เช่น ราชการระดับสำนัก หรือ เขตตามภูมิภาค หรือจังหวัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นราชการสังกัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตร หรือ องค์กรอิสระต่าง ๆ อาทิ สตง. ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นราชการส่วนกลาง มิใช่ราชการส่วนภูมิภาค

(๓) ทุกคนมักจะถามว่าวันนี้มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนที่ต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

# เหตุผลความจำเป็นของการกระจายอำนาจ มีมุมมองในหลาย ๆ มิติ ดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว ในบริบทของผู้รับการกระจายอำนาจ ก็คือ "ท้องถิ่น" ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และหลักการจัดการตนเองโดยตนเองของท้องถิ่น เพราะปัญหาต่าง ๆ อยู่ที่ท้องถิ่น มิใช่ส่วนกลางการดำเนินการต่าง ๆ ด้วยประการใด ๆ ก็ตามเพื่อให้ท้องถิ่นมีภารกิจอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของตนเองได้ จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นยิ่ง

(๔) ปัญหาเรื่องใดบ้างที่ทำให้เป็นสาเหตุต้องมีการกระจายอำนาจ งบประมาณ/ การบริหารงาน/ ความเสมอภาคที่ได้รับ

# ปัญหาหลักก็คือ ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ของท้องถิ่น ที่ต้องมีการจัดสรรกระจายอำนาจให้เป็นธรรมแก่ท้องถิ่นในทุกมิติ ไม่ว่าด้านการเงิน การคลัง การงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และภารกิจอำนาจหน้าที่ ที่สำคัญก็คือ การสร้างขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ด้วยระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่มีคุณธรรม มีประสิทธิภาพ ที่ถือว่า "ข้าราชการส่วนท้องถิ่นฝ่ายประจำ เป็นบุคลากรหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายทั้งของท้องถิ่นและของรัฐบาล ให้เดินหน้าไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาประเทศในทุกมิติ"

(๕) อยากให้ชี้กันชัด ๆ ถึงปัญหาที่ทำให้ต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

# ที่ชัดเจนก็คือ ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราต้อง มอบอำนาจให้แก่ท้องถิ่น เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและการบริการสาธารณะของท้องถิ่นให้ตรงจุด เป็นการนำเอา "อำนาจไปให้ท้องถิ่น" เพื่ออยู่ใกล้ ๆ กับปัญหาของท้องถิ่นซึ่งมีอยู่ในระดับท้องถิ่น มิใช้เอาอำนาจมาไว้ที่ส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาคซึ่งห่างไกลจากท้องถิ่น

(๖) เรื่องการถ่ายโอนบุคลากรจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นมีปัญหาถือไม่

# มีปัญหา ด้วยระบบราชการที่ไม่ค่อยเอื้ออำนาย อาทิ กฎหมายบุคคลท้องถิ่น และอื่น ๆ เช่น ศักดิ์ศรี สวัสดิการ ความมั่นคง รวมถึงสวัสดิภาพ ต่าง ๆ ที่แตกต่างจากข้าราชการพลเรือนประเภทอื่นในรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะภาพพจน์ของท้องถิ่นในเรื่อง การทุจริตคอร์รัปชั่น และ ความมีมาตรฐานในการบริหารงานที่น่าเชื่อชื่อของท้องถิ่น ที่ทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงลบ ต้องหาหนทางขจัดให้หมดสิ้นไปด้วย เหล่านี้ ทำให้มีผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ มีผลต่อข้าราชการอื่นที่จะถ่ายโอนมาสู่ท้องถิ่น

(๗) แนวทางการปฏิรูปการกระจายอำนาจที่คิดไว้ ควรเริ่มต้นจากตรงไหน อย่างไร

# ในความเห็นส่วนตัว ควรเริ่มมาจากรากหญ้า จากข้างล่าง จากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มิใช่ส่วนกลางเบื้อบนหยิบยื่นให้โดยเฉพาะ "การจัดการตนเอง" ของท้องถิ่น อันถือเป็นการกระจายอำนาจตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย

(๘) แผนการที่ควรกระจายอำนาจ ควรเริ่มทีเดียวพร้อมกัน หรือค่อยเป็นค่อยไป

# ตาม กฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจเดิมที่ยังใช้บังคับอยู่ ก็กำหนดให้มีการกระจายอำนาจไปตามขั้นตอน เช่น ภารกิจที่ซ้ำซ้อน ต้องถ่ายโอนไปเป็นอันดับแรก ๆแต่ปัญหาก็คือ กาลเวลาล่วงเลยมานานหลายปี จนพ้นห้วงระยะเวลาบังคับการถ่ายโอนตามกฎหมายดังกล่าว ก็ปรากฏว่ายังไม่สามารถถ่ายโดนภารกิจบางอย่างให้แก่ท้องถิ่นได้ ทั้งที่น่าจะถ่ายโอนได้ เช่น ภารกิจด้านการศึกษาปฐมวัย หรือภารกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานเล็ก ๆ ในระดับพื้นที่ เช่น การจัดหาน้ำสะอาดด้วยประปาหมู่บ้าน หรือประปาบาดาล และที่สำคัญเมื่อถ่ายโอนภารกิจงานให้แล้ว ควรถ่ายโอนบุคลากรและงบประมาณให้สมดุลกับภารกิจที่ถ่ายโอนไปด้วย เป็นต้น

(๙) มองว่าศักยภาพที่แท้จริงของจังหวัดเล็ก ๆ พร้อมแล้วหรือยัง

# หากมองมิติ ความเล็กกะทัดรัด ถือว่ามีความเหมาะสมในการถ่ายโอนภารกิจให้จัดการตนเอง เป็นอย่างยิ่ง แต่อาจขาดปัจจัยด้านการงบประมาณ และทรัพยากรในพื้นที่ที่จำกัดบ้าง แต่การจัดสรรของรัฐบาล และ การบริหารจัดการของท้องถิ่นด้วยตนเอง อาจแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้

หมายเหตุ

*** แนวทางการสัมภาษณ์ ทีวีสปริงนิวส์ เมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ , ๑๕.๐๐ น. สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 582506เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2015 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท