ชุมชนน่าอยู่ สร้างแหล่งอาหารสำรองยามน้ำท่วม ลำกลองยาวเชื่อมสัมพันธ์เยาวชนกับผู้สูงอายุ


“เกือบทุกปีเราเจอปัญหาน้ำท่วมตลอด ก็เลยปรึกษากัน ลงเอยที่การสร้างแพเอาไปลอยไว้ในหนองปลาดุก ข้างบนนั้นก็ปลูกผัก พวกถั่วฝักยาว บวบ มะเขือ ผักกินใบต่างๆ ส่วนข้างล่างก็เลี้ยงปลา พวกปลาทับทิม ปลาดุก เพราะน้ำจะขึ้นจะลงก็ยังมีผัก มีปลาไว้กิน ให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล เมื่อได้ผักได้ปลาก็เอามาแบ่งปันกัน”

อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ส่งผลกระทบทั่วประเทศไทย ชาวบ้านบ้านบุ่ง ต.ท่าไม้ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก็ได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยกว่าใคร แม้ในชุมชนจะมีบ้านเรือนเพียง 137 หลังคาเรือน มีประชากรเฉียด 500 คน เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำยม แม้ในฤดูน้ำหลากก็มักจะจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

ในหน้าน้ำปีไหนมีน้ำมากบ้านบุ่งเหมือนจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การเดินทางออกไปหาอาหารลำบาก ค่าเรือออกมาหาซื้ออาหารที่ตลาดตัวอำเภอชุมแสง เที่ยวเดียวก็ตก 300 บาท ซึ่งถือว่าแพงสำหรับชาวบ้านที่นั่นเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นชาวชุมชนจึงรวมตัวพูดคุยเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับอุทุกภัยซึ่งสามารถเกิดได้ทุกปี

น.ส.ชอ้อน อนุพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านบุ่งเปิดเผยว่าเกือบทุกปีชุมชนต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย การคมนาคมออกไปซื้อหาอาหารไม่สะดวก ประกอบกับหมู่บ้านอยู่ติดกับหนองปลาดุก หนองน้ำขนาดใหญ่ 17 ไร่ ซึ่งใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรของหมู่บ้านเป็นหลัก เมื่อได้หารือร่วมทำประชาคมกับชาวบ้านจึงเห็นว่าน่าจะสร้างแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านไว้ เพื่อรองรับหากมีภัยพิบัติก็จะสามารถมีอาหารไว้รับประทาน และคิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากหนองปลาดุก สร้างแพสำหรับปลูกพืชไว้กินส่วนใต้แพทำกระชังสำหรับเลี้ยงปลา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง

"เกือบทุกปีเราเจอปัญหาน้ำท่วมตลอด ก็เลยปรึกษากัน ลงเอยที่การสร้างแพเอาไปลอยไว้ในหนองปลาดุก ข้างบนนั้นก็ปลูกผัก พวกถั่วฝักยาว บวบ มะเขือ ผักกินใบต่างๆ ส่วนข้างล่างก็เลี้ยงปลา พวกปลาทับทิม ปลาดุก เพราะน้ำจะขึ้นจะลงก็ยังมีผัก มีปลาไว้กิน ให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล เมื่อได้ผักได้ปลาก็เอามาแบ่งปันกัน"

ผู้ใหญ่บ้านหญิงหมู่ 3 เล่าอีกว่าโดยปกติแล้วชาวบ้านใช้น้ำจากหนองน้ำในการทำการเกษตร รดพืชผัก และเป็นแหล่งหาอาหาร สามารถเก็บหอย หาปลา เก็บผักบุ้งหรือดอกโสนที่ขึ้นอยู่รอบๆหนองน้ำไปประกอบอาหารได้ โดยชาวบ้านช่วยกันดูแล ไม่ให้เกิดสภาพน้ำเน่าเสีย หรือหากมีวัชพืชพวกผักตบชวาขึ้นมาก็จะช่วยกันกำจัด เพื่อให้หนองน้ำมีความเหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ ทั้งนี้ทุนในการดำเนินการและองค์ความรู้ต่างๆได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามโครงการชุมชนและท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งยังมีกิจกรรมอื่นที่ดำเนินควบคู่กันไปและยังดำเนินการอยู่จนปัจจุบันนี้คือ กิจกรรมคณะกลองยาวเยาวชนเชื่อความสำพันธ์ระหว่างเยาวชนกับผู้สูงอายุ

"กิจกรรมกลองยาวเยาวชนของเรา มีเด็กๆเข้าร่วมเกือบ 20 คน ผู้สูงอายุ 30 กว่าคน ทุกๆเย็นก็จะมีเยาวชนมารวมตัวที่ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ที่รู้เรื่องการตีกลองยาวก็จะมาสอนเด็กๆ สู้สูงวัยหลายคนก็เข้ามาร่วมกิจกรรมรำกลองยาวด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ได้ดี เวลามีงานบุญงานกุศลเด็กเหล่านี้ก็จะไปตีกลองยาว สร้างความครึกครื้นให้กับงาน"

ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุ่งย้ำว่ากิจกรรมรำกลองยาวนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้สูงวัยแล้ว ยังช่วยปลูกฝังให้เยาวชนมีสัมมาคาวระ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่วนผู้สูงวัยก็ได้มาพบปะพูดคุยกันสร้างประชาคมในหมู่บ้าน และทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพจิตดีขึ้น

หมายเลขบันทึก: 582287เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2014 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2014 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท