Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แลกเปลี่ยนกับคุณอภิชาต นักศึกษาในหลักสูตร ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา ชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน


ตอบคุณอภิชาต พงษ์สวัสดิ์[1] เรื่องปัญหาการได้สัญชาติไทยของผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน

- กรณีศึกษา : ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร[2]

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗

-----------------------------------------------------

  • ๑.ประวัติส่วนตัวของอาจารย์เป็นอย่างไร ?

-----------------------------------------------------

โปรดดูจาก http://th.wikipedia.org/wiki/พันธุ์ทิพย์_กาญจนะจิตรา_สายสุนทร

-----------------------------------------------------

  • ๒.ประเด็นที่อาจารย์สนใจเกี่ยวกับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ?

-----------------------------------------------------

"ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ก็คือ มนุษย์ซึ่งไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก พวกเขาจึงประสบปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ซึ่งให้การส่งเสริมและคุ้มครองความเป็นมนุษย์ จึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงหรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

เมื่อผู้ตอบทำหน้าที่เป็นครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ผู้ตอบจึงต้องคิดค้นข้อกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อจัดการให้คนไร้รัฐเหล่านี้ มีสถานะเป็นคนมีรัฐให้ได้ในที่สุด

-----------------------------------------------------

  • ๓.ความเป็นมาของการทำงานด้านสัญชาติ

-----------------------------------------------------

เมื่อเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ก็จะต้องมีความรู้ในกฎหมายสัญชาติ เพราะสัญชาติเป็นข้อกฎหมายที่รัฐใช้ในการจัดสรรเอกชน และเมื่อเป็นครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะต้องแสวงหาความเชี่ยวชาญในการกำหนดสิทธิในสัญชาติของบุคคล

นอกจากนั้น เมื่อต้องทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติ ก็จะต้องใช้กฎหมายสัญชาติในการจัดการสิทธิให้แก่บุคคลในสถานการณ์นี้

ดังนั้น หากว่า ถามว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านสัญชาติ ? ก็ต้องตอบว่า หากเป็นเรื่องของจุดเริ่มต้นของงานวิชาการเกี่ยวกับสัญชาติ คำตอบ ก็คือ ความเป็นครูสอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ จุดเริ่มต้น แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของจุดเริ่มต้นของงานช่วยเหลือประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติ คำตอบ ก็คือ การเริ่มต้นเขียนฎีกาวิเคราะห์เรื่องสัญชาติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ จนทำให้มีคนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลจำนวนมากมายเข้ามาขอหารือถึงความเปฌนไปได้ในการจัดการปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่

-----------------------------------------------------

  • ๔.อาจารย์มีแนวคิดอย่างไรต่อการมีสัญชาติของมนุษย์

-----------------------------------------------------

ก็คงตอบตามข้อ ๑๕ แห่ง ปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ที่ว่า สิทธิในสัญชาติเป็นสิทธิมนุษยชน จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติที่มนุษย์มีได้เอง รัฐมีหน้าที่รับรองสิทธิดังกล่าวในทะเบียนบุคคลของรัฐ ซึ่งในประเทศไทย เราเรียกทะเบียนดังกล่าวว่า "ทะเบียนราษฎร" ซึ่งการจัดการของรัฐไทยนั้นก็เป็นไปตามกฎหมายของรัฐสภาว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

-----------------------------------------------------

  • ๕.มีหลักการอะไรบ้าง หรือ ปรัชญาอะไร ที่ว่าด้วยเรื่องของสัญชาติ ?

-----------------------------------------------------

คำถามกว้างมาก ถ้าพยายามจะตอบ ก็อยากตอบว่า โดยหลักการ หรือโดยปรัชญาพื้นฐาน สัญชาติก็คือ เครื่องชี้ถึงสัมพันธภาพที่เข้มข้นระหว่างรัฐและบุคคล ในสถาบันรัฐสมัยใหม่ ประชากรที่มีความสำคัญต่อรัฐมากที่สุด ก็คือ คนสัญชาติของรัฐนั่นเอง รัฐจึงมีหน้าที่ที่จะดูแลคนสัญชาติของตนอย่างดีที่สุด

-----------------------------------------------------

  • ๖.ประเทศไทยนำแนวคิดไหนมาให้สัญชาติ อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายประวัติศาสตร์กฎหมายสัญชาติของไทย ?

-----------------------------------------------------

ประเทศไทยก็เหมือนนานาอารยประเทศ ซึ่งใช้ทั้งหลักดินแดนและหลักบุคคลในการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทย หากสนใจประวัติศาสตร์กฎหมายสัญชาติที่ผู้ตอบเคยเขียน ขอแนะนำให้อ่านเอกสาร ๒ อันดังต่อไปนี้

  • พัฒนาการของแนวคิดเรื่องสัญชาติ และความพยายามที่จะขจัด ปัญหาความไร้รัฐ ในประเทศไทย (Nationality developments in Thailand and efforts engaged by the Thai Government to reduce statelessness), บทความเพื่อ UNHCR, เขียนเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐,

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=329&d_id=328

http://www.archanwell.org/office/download.php?id=483&file=451.pdf&fol=1

แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยนางสาวบงกช นภาอัมพร และนายพงษ์เทพ ยังสมชีพ (นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ในปัจจุบัน), in : Refugee Survey Quarterly, Vol.25, Issue 3, pp.40-53.

http://www.archanwell.org/office/download.php?file=634.pdf&fol=1

-----------------------------------------------------

  • ๗.ปัจจุบันประเทศไทยปฏิบัติได้สอดคล้องกับแนวคิดเหล่านี้ ได้มากน้อยเพียงใด ?

-----------------------------------------------------

หากพิจารณาประวัติศาสตร์กฎหมายสัญชาติไทย เราจะพบว่า ประเทศไทยน่าจะปฏิบัติการเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยได้เป็นอย่างดี จะเห็นว่า คนที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติ หรือปัญหาความหลายสัญชาตินั้น มีอยู่ไม่มากนั้น

-----------------------------------------------------

  • ๘.มีกฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติ หรือหน่วยงานใดที่ออกมาเพื่อขจัดปัญหาผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนบ้าง ?

-----------------------------------------------------

หากกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนแล้ว ก็น่าจะมีได้ใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

ในประการแรก กฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็คือ กฎหมายของรัฐว่าด้วยการทะเบียนราษฎรว่าด้วยการจดทะเบียนคนเกิด เมื่อมนุษย์ได้รับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบขั้นตอน มนุษย์ก็จะไม่ไร้รัฐหรือไม่ไร้สถานะทางทะเบียน โดยสรุป การจดทะเบียนคนเกิดก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคลที่เรียกสั้นๆ ว่า "คนมีรัฐ" หรือ "คนที่มีสถานะทางทะเบียน" หรือ "คนที่มีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร"

ในประการที่สอง กฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็คือ กฎหมายของรัฐว่าด้วยการทะเบียนราษฎรว่าด้วยการจดทะเบียนคนอยู่ เมื่อมนุษย์ตกหล่นจากทะเบียนคนเกิดของรัฐ มนุษย์ก็ควรจะได้รับการจดทะเบียนคนอยู่ และด้วยการปรากฏตัวบนทะเบียนราศษฎรประเภทนี้ มนุษย์ก็จะไม่ไร้รัฐหรือไม่ไร้สถานะทางทะเบียน หรือเมื่อมนุษย์ประสบปัญหาการตกหล่นจากทะเบียนคนเกิดแล้ว การจดทะเบียนคนอยู่ก็จะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นคนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคลที่เรียกสั้นๆ ว่า "คนมีรัฐ" หรือ "คนที่มีสถานะทางทะเบียน" หรือ "คนที่มีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร" เช่นกัน

ในประการที่สาม กฎหมายเพื่อจัดการผลกระทบด้านลบของปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ซึ่งมีอยู่มากมาย อาทิ กฎหมายว่าด้วยการศึกษา เป็นต้น

-----------------------------------------------------

  • ๙.ปัญหาที่ประเทศไทยยังปฏิบัติตามหลักการหรือแนวคิดสากลไม่ได้เพราะอะไร ?

-----------------------------------------------------

คงต้องย้อนถามกลับว่า หลักการหรือหลักสากลสำหรับคุณอภิชาตคืออะไร ? ถ้าหมายถึงการทำให้มนุษย์ได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไป ก็จะต้องตอบว่า ประเทศไทยน่าจะสามารถปฏิบัติตามหลักการหรือแนวคิดสากลได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนที่ทำไม่ได้นั้น จะเป็นส่วนน้อย และสาเหตุที่ทำไม่ได้ ก็น่าจะมีหลายสาเหตุ อาทิ (๑) ปัญหาความไม่รู้กฎหมายของทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าของปัญหา (๒) ปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง (๓) ปัญหาอคติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------------------------

  • ๑๐.กฎหมายที่มีอยู่แล้ว อาจารย์คิดว่ามีประสิทธิภาพ แค่ไหน ? กฎหมายที่มีอยู่แล้ว อาจารย์คิดว่ามีประสิทธิภาพ แค่ไหน ? และในเชิงปฏิบัติที่ออกมา เป็น ประสิทธิผล มีแค่ไหน ? กฎหมายกับการปฏิบัติจริงมีความต่างกันแค่ไหน ? อย่างไร ? ในฐานะประสบการณ์ของอาจารย์

-----------------------------------------------------

เนื้อหาของกฎหมายไทยเพื่อจัดการคนไร้รัฐไร้สัญชาติน่าจะทันสมัยระดับหนึ่ง และครบถ้วนระดับหนึ่ง อาจมีความขาดไปในบางเรื่อง อาทิ กฎหมายว่าด้วยการจัดการปัญหาคนไร้รากเหง้า

ปัญหาประสิทธิภาพในคำถามข้างต้น ก็น่าจะหมายถึง ปัญหาประสิทธิภาพของผู้รักษาการตามกฎหมายมากกว่า ซึ่งทางแก้ไขที่ดีที่สุด ก็คือ การเสริมความรู้กฎหมายให้แก่เจ้าของปัญหา

-----------------------------------------------------

  • ๑๑.อาจารย์คิดว่า การปฏิบัติส่วนไหน (ส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ผู้ประสบปัญหา) มีปัญหาหรือไม่ มีปัญหาอย่างไร แล้วปัญหาเหล่านั้นแก้ไขได้อย่างไร เคยมีการพยายามแก้ไขปัญหาแล้วหรือยัง อย่างไร อาจารย์ลองยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดจาก ข้อกฎหมาย หรือ การปฏิบัติ หรือ ทัศนคติเจ้าหน้าที่ หรืออย่างอื่น แล้วปัญหาพวกนี้คิดว่าจะแก้ไขอย่างไรดี (ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเป็นปัญหาและได้ใช้วิธีการแก้ไขสำเร็จแล้ว)

-----------------------------------------------------

ปัญหาที่ผู้ถามต้องการหมายถึงนั้น ก็น่าจะเป็นปัญหาการขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และปัญหาการกำหนดสิทธิในสัญชาติ ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นก็เป็นหน้าที่ของรัฐเจ้าของตัวบุคคล

สำหรับประเทศไทย การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ โดย พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ผลก็คือ มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร

เราจะเห็นได้ว่า ในบุคคลที่ประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรมักเป็นคนที่อพยพ หรือมีบรรพบุรุษเป็นคนอพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นส่วนใหญ่ และส่วนน้อย เป็นคนดั้งเดิมของประเทศไทยที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

หากเราจะศึกษาประวัติศาสตร์การจัดการประชากรของประเทศไทย ประเทศดังกล่าวก็มีนโยบายเสมอมาเพื่อจัดการปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ดังจะเห็นว่า การออกระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ อันนำไปสู่การทำ ท.ร.๓๘ ก และการออกบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ก็คือ มาตรการล่าสุดเพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่คนที่ยังพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยให้มนุษย์ที่ไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person)

ปัญหาของเรื่องจึงมิใช่ปัญหาของความไม่มีกฎหมาย ปัญหาของเรื่องจึงอยู่ที่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะมาจากความไม่รู้กฎหมายของทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของปัญหา ตลอดถึงปัญหาการทุจริตที่ปรากฏมากมายเกี่ยวกับการซื้อเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลตามกฎหมายไทย จึงมีปัญหาอีกชุดหนึ่งตามมา เราจะสังเกตว่า เริ่มมีคนทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยมากขึ้นในประเด็กหลังนี้

ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสถานะบุคคลเป็นเรื่องที่ใหญ่และซับซ้อน คงต้องการพื้นที่และเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนกันมากกว่านี้

-----------------------------------------------------

  • ๑๒.ที่ช่องเม็ก อาจารย์ ทราบปัญหาหรือไม่ อย่างไร

-----------------------------------------------------

"ช่องเม็ก" อาจจะมีนัยยะ ๒ ลักษณะสำหรับผู้ตอบ กล่าวคือ (๑) นัยยะของชายแดนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวัตถุการศึกษาของผู้ตอบในเรื่องของตลาดเสรี และ (๒) นัยยะของพื้นที่อาศัยอยู่ของคนชายแดนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรืออาจจะเป็นคนมีหลายรัฐหลายสัญชาติ

คำถามนี้ของผู้ถามเป็นคำถามปลายเปิดมาก ซึ่งผู้ตอบคงไม่มีเวลามากพอที่จะตอบได้ทั้งหมด จึงอยากเสนอให้อ่านงานเขียนของผู้ตอบดังต่อไปนี้ ซึ่งก็มิใช่งานที่พูดถึงช่องเม็กโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นเรื่องของพื้นที่ชายแดนอิสาน ซึ่งน่าจะมีกลิ่นอายไม่แตกต่างมากนักจากพื้นที่ช่องเม็ก

  • คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติแห่งอิสาน : ความท้าทายอีกครั้งต่อนักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล, บทความเพื่อวารสารกฎหมายของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เริ่มเขียนวันเสาร์ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐, เขียนเสร็จวันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=413&d_id=412&page=1

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=413&d_id=412

http://www.archanwell.org/office/download.php?id=543&file=506.pdf&fol=1

http://gotoknow.org/blog/people-management/412166

  • รวมงานเขียนเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติในอิสานของประเทศไทย, เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓

http://gotoknow.org/blog/people-management/412082

-----------------------------------------------------

  • ๑๓.เมื่อก่อนผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนเข้าเรียนไม่ได้ ภายหลังเราผลักดันจนเข้าเรียนได้ อาจารย์ช่วยเล่าวิธีการแก้ปัญหานี้ จนสำเร็จ

-----------------------------------------------------

กฎหมายไทยยอมรับหลัก Education for all เสมอมา แต่นโยบายความมั่นคงในช่วง ๒๕๑๕ – ๒๕๓๕ บางอันถูกออกมาปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาของมนุษย์ ความสำเร็จของการรับรองสิทธิทางการศึกษาของมนุษย์ ก็คือ การยืนยันถึงความมีอยู่ของกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องนี้

ความชัดเจนของหลักกฎหมายนี้ปรากฏใน ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘

-----------------------------------------------------

  • ๑๔.งานอื่นๆ ของผู้ตอบที่เกี่ยวกับคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร,

-----------------------------------------------------

  • รวมงานเขียนของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรว่าด้วยคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง หรือบุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร, เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗

https://www.gotoknow.org/posts/578243

-----------------------------------------------------

  • ๑๕.สามคำถามของผู้ตอบต่อผู้ถาม

-----------------------------------------------------

ผู้ตอบมีคำถามสำหรับผู้ถาม ก็คือ ผู้ถามตั้งใจจะศึกษาถึง (๑) บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กล่าวคือ คนไร้รัฐโดยสิ้นเชิง หรือ (๒) คนถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ (๓) ทั้งสองเรื่อง

อีกคำถามหนึ่ง ก็คือ ผู้ถามตั้งใจจะศึกษาถึง (๑) หลักกฎหมายสัญชาติ หรือ (๒) หลักกฎหมายการทะเบียนราษฎร หรือทั้งสอง

คำถามสุดท้าย ก็คือ ผู้ถามตั้งใจที่จะศึกษาถึง (๑) ความมีอยู่ของกฎหมายเพื่อจัดการสิทธิของคนดังกล่าว หรือ (๒) ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคนดังกล่าว หรือ (๓) ทั้งสองเรื่อง

สามคำถามนี้คงทำให้ผู้ถามได้มีการทบทวนทางความคิดให้ชัดเจนมากขึ้น

-----------------------------------------------------


[1] นักศึกษาในหลักสูตร ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา ชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ความดูแลของ รศ.ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ และปัจจุบัน คุณอภิชาตเป็นพนักงานของรัฐ ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ก่อนหน้านี้ คุณอภิชาตจบการศึกษาด้านกฎหมาย และ ประกาศนียบัตรบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนาม ณ ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ร่วมกับ มูลนิธิพิทักษ์สตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาบัณฑิตอาสาสมัครแล้ว ยังมีความสนใจที่จะช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนอยู่ จึงสนใจที่จะฝึกการทำวิจัยในหัวข้อดังกล่าว ในรายวิชาวิจัย หลักสูตร ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา ชนบทศึกษาและการพัฒนา

[2] รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หมายเลขบันทึก: 581744เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2014 01:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2014 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

1.หนูสามารถขอยื่นคำขอเป็นสัญชาติไทยได้ไหมค้ะ ? เหตุผลที่ว่า หนูเรียนพยาบาล มีความตั้งใจที่จะทดแทนบุญคุณประเทศ ที่โห้โอกาสหนูได้เรียน ได้พักอาศัย 2.ถ้าหากไม่สามารถเปลี่ยนสัญชาติได้ หนูจะมีปัญหาเกี่ยวกับการสอบใบประกอบวิชาชีพพยาบาลไหมค่ะ

ถือบัตรอะไรคะ ตอนนี้

เกิดที่ไหน ? เมื่อไหร่คะ ?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท