ด็อกเตอร์ การ์เด้น ตอน หน่ออ๋อ หวาน สุดขอบฟ้า


หน่ออ๋อ หวาน สุดขอบฟ้า

ในสวนของเรามีไผ่หน้าตาแปลกๆหลงมาเฉิดฉายอยู่ 5 ก่อ เวลาที่ฉันขึ้นมาเยี่ยมพ่อกับแม่ที่บ้านที่ลำพูน แม่มักจะตัดหน่อไม้มาทำแกงจืดให้ลูกๆได้กิน พร้อมอวดสรรพคุณที่ทั้งหวาน แบบไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง กลิ่นหอมเหมือนยอดมะพร้าวและมันก็อร่อยสมคำที่แม่เยินยอจริงๆ

ด้วยความที่อยากรู้ว่า หน่อไม้นี้มาจากไผ่สายพันธุ์อะไร จึงได้ถามแม่ผู้จุดประกายเป็นคนแรก...แต่แม่ก็ไม่รู้จัก

แม่เล่าให้ฟังว่า มีคนหิ้วไผ่มาขายให้ 5 ต้นพร้อมบริการปลูกให้ฟรีไม่คิดค่าแรง แม่ถึงได้ก่อไผ่ไว้อวดชาวบ้านด้วยความชื่นมื่น

ฉันตัดสินใจขอหน่อไม้จากแม่มา 1 หน่อ ใส่กระเป๋าเป้สะพายหลัง เดินเข้าไปถามเกษตรจังหวัดลำพูนว่า นี่คือ ไผ่อะไร ?

เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดลำพูนประมาณ 5-6 คนทำทีมาสนใจหน่อไม้ของฉันและตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

" อ๋อ...หน่อไผ่หวาน "........หลังจากนั้น.........

ไม่มีสัญญาณตอบรับ การส่งเสริมการทำมาหากิน จากเกษตรจังหวัดลำพูน....ขอบคุณที่ให้บริการและกินเงินเดือนจากภาษีอากรของคนในชาติเดียวกันไปวันๆ

ฉันเดินทางต่อ.....เข้าไปที่สวนของอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขามีสวนไผ่และเปิดร้านอาหารในจังหวัดลำพูน คนดูแลสวนไผ่ของส.ส.เห็นหน่อไม้ในกระเป๋าเป้ ก็บอกฉันว่า.. อ๋อ!!! มันเป็นหน่อไผ่หวาน

" ทำไมพี่ถึงมั่นใจว่ามันจะเป็น ไผ่หวานล่ะ มันไม่มีชื่ออื่นเลยเหรอพี่ " ฉันสงสัย

" ก็กินแล้วมันหวาน ไง !!! ที่ลำพูนเนี่ยเค้าเรียกไผ่หวาน แค่นี้แหละ มันไม่มีชื่ออื่น "

ตรรกะง่ายๆ ฟังแล้วดูดีมีเหตุผลแบบชาวสวน จังหวัดลำพูนแต้ๆ แต่ชาวกรุงเทพฯ....เริ่มงง!!

ฉันถือหน่อไม้เข้าตลาดทั่วทั้งเชียงใหม่ –ลำพูน มีหน่อไม้หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แต่พอถามว่า นี่คือหน่อของไผ่พันธุ์อะไร

คำตอบที่ได้เหมือนกันทุกตลาด ทุกแม่ค้า ทั้งลำพูนและเชียงใหม่ คือ.... " อ๋อ อั่นนี้เปิ้นฮ้องว่า หน่อไผ่หวาน ...โอ๊ะ หวานแต้ๆนะเจ้า " มันหวานกันทั้งจังหวัด หวานกันจนเถียงมันไม่ออก

ชีวิตสาละวนอยู่กับไอ้ไผ่หวานบ้านี่มาเป็นอาทิตย์ จนไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่น ตั้งใจว่า ถ้าข้าไม่รู้จักโคตรพ่อโคตรแม่ไผ่....ข้าจะไม่มีวันยอมแพ้อย่างเด็ดขาด

การสืบหาสายพันธุ์ไผ่ในสวน ยิ่งกว่ารายการตีสิบตามหาแม่ให้ดาราซะอีก ฉันสืบไปจนถึงคนที่นำไผ่มาขายให้กับแม่ เป็นทอดๆ ถามหาต้นตอไปจนถึงจังหวัดเชียงราย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิม

อ๋อ...ไผ่หวานล่ะก๊า เค้าเรียกกันไผ่หวาน ที่มาที่ไปนั้น บ่มีใครรู้ รู้แต่ว่า มันผุดขึ้นมาจากดิน

อืมมมมมมมม หน่อที่นี่เป็นหน่อไม้ที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน ขอบคุณมากเลย เลยสับสนขึ้นไปอีกว่า แล้วหน่อไม้ที่อื่น มันออกหน่อทางไหน ?

ครั้นตั้งสติสัมปชัญญะได้ เลยนั่งปรึกษาเจ้าพ่อ google ดีกว่า เจ้าพ่อก็ดันไม่รู้ว่า เป็นไผ่พันธุ์อะไรอีก เมื่อตั้งต้นไม่ถูกก็ไปต่อกันไม่เป็น ความรู้เรื่องไผ่ในสมองก็มีแค่ไผ่เพียง 5 สายพันธุ์ คือ ไผ่ในแกงจืด ไผ่ในแกงเผ็ด ไผ่ในซุปหน่อไม้ ไผ่ในแกงไตปลา ไผ่ที่กินกับน้ำพริก แล้วในโลกนี้ยังมีไผ่เหลืออีกกี่พันธุ์ มีความเป็นมาและชาติตระกูลอย่างไร

นั่งเสริชหารูปกันจนตาจะปลิ้นคาหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ยังไม่รู้ว่า ไผ่หวานในคอมฯมันจะหวานเหมือนในสวนมั๊ย?

ฉันตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง พกหน่อไม้อันเดิมใส่กระเป๋าเป้แล้วเดินทางต่อ คราวนี้ขึ้นดอยไปทุ่งหัวช้าง ไปแวะถามองค์การบริหารส่วนตำบล 2 แห่ง ผ่านทะลุไปถึงอำเภอ เสริมงาม เพื่อตามหากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไผ่หวานของจังหวัดลำพูน

ที่นั่นปลูกไผ่หวานที่เรียกว่า กิมซุง หน้าตารูปพรรณสัณฐานหน่อก็ไม่เหมือนไอ้หน่ออ๋อหวาน นี่เลยสักนิด....ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่า มันเป็นไผ่พันธุ์อะไร รู้แค่ว่าไผ่หวาน.....

มันหวานมา 3 จังหวัดแล้ว!!! หวานจะทะลุจังหวัดลำปางอยู่แล้ว....หวานเลี้ยวซ้ายออกทางอำเภอลี้....หวานขึ้นดอยไปตัดอำเภอเถิน....มันคงไม่หวานไปจนถึงกำแพงเพชรล่ะมั้ง??? ฉันเริ่มขุ่นเคืองใจไอ้หน่อไผ่นิรนาม

ก่อนที่ฉันจะหมดกำลังกาย อยากเขวี้ยงหน่อไม้ทิ้งไว้ที่สามแยกแล้วแต่งเพลง " สิ้นหวังที่เสริมงาม" ทันใดนั้น ป้าคนหนึ่งเดินมาก้มมองหน้าฉันและถามว่า " หาหน่ออะไรอยู่เหรอ ???"

ฉันวิเคราะห์ด้วยสายตาพร้อมอาการเซ็งสุดขีดว่า ป้าแกคงจะพูดว่า "อ๋อ...หน่อหวาน " อีกตามเคยซะละมั้ง

แต่ผิดคาด ป้าหยิบหน่อไม้ของฉันขึ้นมาดูและบอกว่า " มันคล้ายๆไผ่ตงเหมือนกันนะ ป้าเคยเห็น "

แสงสว่างมาตรงทางแยกอำเภอเสริมงามนี่แหละ ฤามันอาจจะเป็นไผ่ตงหวาน !!!!!!!! ก็เป็นได้

ขอบพระคุณ คุณป้านางฟ้าที่อำเภอเสริมงาม พร้อมก้มกราบสวยๆไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง

ฉันกลับมาปรึกษาหารือกะเจ้าพ่อ google ต่อ พร้อมอมยิ้มเล็กน้อย....กระดิกนิ้วเคาะเมาส์ทั้งคืน.....ตงหวาน...ตงหวาน...ตงหวาน...

ฉันตามหาไผ่ตงหวาน จนมาถึงสวนไผ่ตงลืมแล้งที่จังหวัด ราชบุรี ซึ่งหน้าตาไผ่ตงลืมแล้งกลับไม่เหมือนไผ่ที่เรากำลังตามหา ไผ่ตงลืมแล้งเหมือนไผ่กิมซุง ซึ่งบางคนก็บอกว่า มันคือไผ่ชนิดเดียวกัน เป็นไผ่ร้อยชื่อ

ฉันเริ่มชินกับการผิดหวังซ้ำซากที่เดาสุ่มเรื่อง พันธุ์ไผ่ คาดเดาเท่าไหร่ก็ไม่ถูกสักที จนในที่สุดเลยตัดสินใจอุดหนุนซื้อพันธุ์ต้นกล้า " ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง " มา 5 ต้นในราคาต้นละ 300 บาท พร้อมตะไคร้อีก 1,500 บาท ด้วยความเกรงใจเจ้าของสวนที่อุตส่าห์ขับรถไปซื้อหมูสามชั้นพร้อมตัดหน่อตงลืมแล้งมาทำแกงจืดต้อนรับคาราวานนักล่าหน่อ

หลังร่ำ ลาซึ่งกันและกัน ฉันนั่งคิดมาตลอดทาง

ข้าซื้อตะไคร้มาทำไมวะเนี่ย ซื้อมาซะเต็มลำรถ แล้วจะกินกันยังไงหมดวะตั้ง 100 กิโล !!!!!

นั่งหาทางออกให้ตะไคร้คนขี้เกรงใจ ว่าจะทำอย่างไรดี หรือเอาไปโยนทิ้งดี

แล้วถ้ามีใครมาเห็น เค้าจะไปแจ้งองค์กรกรีนพีซว่า ข้าทารุณกรรมพืชผักสวนครัวหรือเปล่าวะ โดนประณามออกสื่อก็ซวยถึงวงศ์ตระกูลอีก

ฉันนั่งกลุ้มใจนิ่งๆทนฟังทั้งพี่ทั้งน้องบ่นเรื่องตะไคร้ไปเพลินๆจนกระทั่งเรามาพักซื้อน้ำดื่มที่ปั๊มปตท. ใจคอกะจะโยนตะไคร้ทิ้งเอาไว้ในโพรงหญ้าแถวหลังปั๊ม จะได้นั่งฟังเพลงแทนเสียงบ่นจนกลับถึงกรุงเทพฯ

ทันใดนั้นเอง ฉันเหลือบไปเห็นทิวไผ่สวย ทอดยาวสุดสายตา

มันเป็นสวนไผ่ที่สวยที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมาเลย

จะช้าอยู่ใย..... ผลักเรื่องตะไคร้เจ้ากรรมนายเวรเอาไว้หลังรถก่อน ยอมทนพี่น้องบ่นต่อไปสักพัก เดี๋ยวค่อยกลับมาเคลียร์กัน พลันออกตามหาเจ้าของสวนไผ่สวนนั้นทันที

พวกเราได้พบกับเขาในวันรุ่งขึ้น เราขับรถไปกลับราชบุรี-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ – ราชบุรี อยู่ 2 วัน เพื่อมาขอพบเจ้าของสวนไผ่สวนนั้นให้ได้

เขาเป็นเจ้าของไร่อ้อยกว่า 1000 ไร่ ร่วมกับญาติพี่น้อง มีรายได้จากการทำไร่อ้อย 100 กว่าล้านต่อปี กำไรเฉลี่ยที่เขาได้รับเพียงคนเดียวตกประมาณ 10 กว่าล้านบาท เขามีฟาร์มหมูและไก่ส่งขายบีทาโก มีรถทุกประเภทไว้ใช้งานในไร่อ้อย และเขาบอกกับเราว่า

" ปลูกไผ่ไว้เป็นค่ากับข้าวรายวันให้ลูกน้อง คนงานไร่อ้อยมันเยอะ....เลยปลูกไผ่ไว้ 20 ไร่ สลับตัด 2 ฟากถนน ค่ากับข้าวลูกน้องประมาณวันละ 10,000 กว่าบาท "

โอ้แม่จ้าววววววววว ฟังแล้วจะเป็นลมคนรวย !!

การพบเจ้าของไร่อ้อยครั้งนั้น ทำให้ฉันแทบจะเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในเรื่องการเกษตรจากฝ่าเท้าเป็น กกหู กันเลยทีเดียวเชียว ถึงแม้จะยังไม่รู้ว่า ไผ่ที่ฉันกำลังตามหามันคือไผ่พันธุ์อะไรก็ตาม แต่คุ้มค่าเหลือเกินที่ได้ออกเดินทางมาจนพบกับผู้ชายคนนี้

ฉันนับถือเขามากมาย เขาเหมือนครูผู้สอนเรื่องการทำเกษตรที่หาไม่ได้ง่ายๆอีกแล้วในชีวิต

ฉันเรียกคุณครูว่า เสี่ยอ้อย ท่านแนะนำและสั่งสอนกระทั่งการปลูก จนถึงการขาย ปลูกอะไร ขายใคร ขายอย่างไร ขายแบบไหนให้ได้กำไรดี บอกกระทั่งสูตรลับของปุ๋ยที่ท่านใช้ มอบให้ฉันเป็นวิทยาทาน

ก่อนจะลากลับ ท่านพูดทิ้งท้ายด้วยสำเนียงเหน่อๆแบบคน ราด-รี ว่า

" พวกเอ็งปลูกไผ่แหละดีแล้ว ขี้เกียจ ขี้เกียจยังไง...ปลูกไผ่ก็รอด!!

พวกเอ็งอย่าไปปลูกแตงกวากับมะเขือเปราะล่ะ พวกนี้ดูแลยุ่งยาก ใช้ยาเยอะ จุกจิก แมงมันจะมา

กวนเยอะ ปลูกแล้วเดี๋ยวพวกเอ็งจะเจ๊ง

เริ่มต้นทำสวนใหม่ๆ ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรทางด้านนี้ พวกเอ็งไปปลูกไผ่เถอะ....เชื่อข้า!!

ถ้าปลูกไผ่แล้วไม่รอดนี่...เอาตีนมาเหยียบ...ที่หน้าข้า...ได้เลย "

ฉันยกมือไหว้ร่ำลาคุณครูกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมที่กรุงเทพฯ พอขึ้นรถได้ ฉันหันไปถามน้องชายว่า

เฮ้ย หนุ่ม !! เอ็งคิดว่า เสี่ยเค้าจะถูกเหยียบหน้ามั๊ยวะ?

เห็นภาพจากสวนไผ่ของคาราวานนักล่าหน่อ อ๋อ หวาน ในวันนี้แล้ว คุณครูเสี่ยอ้อยคงโล่ง อก โล่ง ใจ ไปเยอะ!!!

บทเรียนบทนี้ สอนให้รู้ว่า....... คุณอย่าไปเรียนการปลูกมะละกอให้ได้ผล กับคนที่ขายหนังสือมะละกอ ฉันใดก็ฉันนั้น คุณอย่าไปถามเกษตรจังหวัด เพราะเกษตรจังหวัด ไม่ใช่เกษตรกร



หมายเลขบันทึก: 581444เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2014 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2014 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตามมามาดู

ปลูกไว้หลายกอเหมือนกัน

แต่ตอนปลูกผัก

https://www.gotoknow.org/posts/402767

ทำน้ำหยดดีกว่าครับ

อย่าฉีดยาเลยอันตรายมาก


ที่เห็นนั่น...ไม่ใช่ยาฉีดพ่นแบบเคมีนะคะ เรากำลังผลิตสารกำจัดแมลงแบบอินทรีย์กันอยู่ค่ะ ที่สวนของเราไม่ใช้สารเคมีทุกประเภทค่ะ ปลอดสารพิษทั้งหมดค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ดีจังเลยครับไม่ใช้ยาฆ่าแมลง

ที่บ้านใช้สมุนไพรครับ

เอาไผ่และผักที่ไร่มาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts/473444

https://www.gotoknow.org/posts/401726

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท