บ้านพงสวายฟื้นฟูจักสาน สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น


นายฉัตรชัย สุภาศรี ประธานชุมชนพงสวาย หมู่ 4 ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ชุมชนที่มีอยู่ 227 หลังคาเรือน มีผู้อาศัย 678 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และทำการเกษตร แต่เดิมในชุมชนมีอาชีพเสริมคือการจักสานไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม แต่ต่อมาเริ่มสูญหายไปเนื่องจากขาดการสืบต่อจากคนรุ่นเก่า เหลือผู้ที่สามารถจักสานได้ในผู้สูงอายุไม่กี่คน จึงได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ "สืบสานภูมิปัญญา พงสวายน่าอยู่" ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาจักสานให้สืบทอดในชุมชน นำไม้ไผ่ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ประโยชน์และไม่ให้ภูมิปัญญาสูญหาย

ประธานชุมชนพงสวาย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่าแต่เดิมในชุมชนมีอาชีพเสริมคือการจักสานเกือบทุกบ้าน เมื่อมีเวลาว่างจากการทำอาชีพอื่น ประกอบกับมีวัตถุดิบคือไผ่สีสุกหาได้ง่าย เมื่อสังคมเปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ให้ความสนใจสืบต่อเพราะใช้เวลานานในการทำกว่าจะนำไปขายได้ จึงหันไปทำอาชีพรับจ้าง หรือใช้แรงงานในโรงงาน จึงร่วมกับคณะกรรมการชุมชนอีก 10 คน ดำเนินโครงการขึ้น เริ่มจากการรับสมัครผู้สนใจในชุมชนให้มาเข้าร่วม เชิญวิทยากรผู้ที่มีฝีมือด้านจักสานมาให้การอบรม โดยแยกความเชี่ยวชาญเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่ม กระบุง ตะกร้า กระจาด และฝาชี มีผู้ในความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 80 คน ทั้งผู้สูงวัย วัยทำงานและเยาวชนจำนวนหนึ่ง หลังจากผ่านการอบรมไปแล้วบางรายสามารถทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อีกด้วย

"หลังจากมีการอบรมไปแล้ว บางคนมีฝีมือทำออกขายส่งตลาด สร้างรายได้เสริม อย่างตะกร้าใบหนึ่งส่งตลาดก็ 300-400 บาท ก็มี ถ้าฝีมือดี ทำได้ละเอียดแข็งแรงก็จะได้ราคาดี เป็นงานหัตถกรรมฝีมือจริงๆ เพราะการจักตอก การเหลาไม้ล้วนแต่ทำด้วยมือทั้งนั้น" ประธานชุมชนพงสวาย กล่าว

นายฉัตรชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันไม้ไผ่สีสุกในท้องที่สำหรับจักสานมีจำนวนน้อยโตไม่ทันสำหรับการใช้งาน ต้องซื้อจากแหล่งอื่นและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็หวังว่าโครงการนี้จะสามารถทำให้คนในชุมชน คนรุ่นใหม่เกิดทักษะและสืบต่องานจักสานไม้ไผ่ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 581225เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2014 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท